รอดหรือร่วง? : สรุปภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 เป็นอย่างไรบ้าง
คนว่างงานลดลง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยลดลง คดีอาญาลดลง คือสถานการณ์สำคัญของสังคมไทยในไตรมาส 3 ประจำปี 2563
เข้าสู่ช่วงเวลาสิ้นปีอย่างเป็นทางการ แม้เทศกาลแห่งความสุขของปีใหม่ใกล้เข้ามา แต่บรรยากาศการเมืองไทยยังคงร้อนแรงไม่มีตก โดยเฉพาะสถานการณ์การชุมนุม และการลงมติต่อญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่นอกเหนือเรื่องการเมือง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปเจาะความเคลื่อนไหวที่สำคัญของสังคมไทยในไตรมาส 3 ปี 2563 จากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าเมืองไทยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
- อัตราการว่างงานลดลง 1.9%
อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง และชั่วโมงการทํางานยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือนในด้านต่างๆ อีกทั้งแรงงานจบใหม่ แรงงานอายุน้อย และมีการศึกษาสูง ยังมีปัญหาการว่างงานเป็นจํานวนมาก
อัตราการ "ว่างงาน" ในไตรมาส 3 พบว่ามีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.90 ใกล้เคียงกับร้อยละ 1.95 จากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรง แรงงานอายุน้อยและการศึกษาสูง มีปัญหาการว่างงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น
การว่างงานในระบบยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ขณะที่การว่างงานในภาพรวมค่อนข้างทรงตัว ชี้ให้เห็นว่าแรงงานในระบบเมื่อตกงานจะเคลื่อนย้ายไปทํางานนอกระบบเพิ่มขึ้น เช่น ประกอบอาชีพอิสระ หรือทําเกษตรกรรม ซึ่งจะมีผลต่อผลิตภาพแรงงาน การว่างงานชั่วคราวปรับตัวลดลง
ขณะที่ข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบว่ามีสถานประกอบการขอใช้มาตรา 75 จํานวน 1,387 แห่ง ครอบคลุมแรงงาน 3.3 แสนคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีจํานวน 7.9 แสนคน
- หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 3.8%
สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2563 มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ชะลอลงจากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 83.8 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงมูลค่าหนี้ครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้น
สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงทางรายได้ และการไม่มีงานทําจากวิกฤติทางเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ขณะที่ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังมีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
โดยจากข้อมูลยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2563 มีมูลค่า 152,501 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.7 และมีสัดส่วนร้อยละ 3.12 ต่อสินเชื่อรวม ลดลงจากสัดส่วน ร้อยละ 3.23 ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ที่ทําให้ภาพรวมคุณภาพหนี้มีสถานการณ์ดีขึ้น
- ผู้ป่วยลดลง 68.1%
การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลงร้อยละ 68.1 เป็นการลดลงในเกือบทุกโรค โดยโรคเฝ้าระวังในช่วงฤดูฝน เช่น ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงร้อยละ 93.4 ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบลดลงร้อยละ 44.9 และผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 34.4 สาเหตุเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทําให้ประชาชนเฝ้าระวังและดูแลตัวเองมากขึ้น รวมทั้งการกักตัวเองอยู่บ้าน และการเว้นระยะห่างทางสังคม
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นติดตามและเฝ้าระวังสุขภาพและโรคที่มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไปจากการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว เช่นโรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ และภัยสุขภาพ เช่นการเสียชีวิตจากอากาศหนาว ปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมถึงโรคที่มีผู้ป่วยสูงขึ้น เช่นโรค RSV และวัณโรค
- บริโภคแอลกฮอล์ และบุหรี่ลดลง 5.5%
ไตรมาสสาม ปี 2563 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงร้อยละ 5.5 โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 7.5 และการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 2.5 การดําเนินงานควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์และบุหรี่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นมาตรการในระดับประเทศ ทั้งการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ การจํากัดการเข้าถึง การควบคุมการตลาด และมาตรการด้านภาษีและราคา
แต่ยังขาดการให้ความสําคัญกับการพัฒนากลไกการจัดการปัญหาระดับชุมชนท้องถิ่นที่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้โดยตรง เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับประชาชนและผู้บริโภค เข้าใจบริบททางด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ของพื้นที่ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม อาสาสมัครสาธารณสุข ประจําหมู่บ้าน และชุมชนท้องถิ่น ร่วมกันเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาของพื้นที่อย่างจริงจังจนเกิดเป็นข้อตกลงร่วมของคนในชุมชนซึ่งจะช่วยให้การดําเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- คดีอาญาลดลง 25.3%
คดีอาญารวมลดลงร้อยละ 25.3 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 โดยคดียาเสพติด ลดลงร้อยละ 27.4 คดีชีวิตร่างกาย และเพศลดลงร้อยละ 10.1 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงร้อยละ 13.6 แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังกลุ่มเด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรการพนันได้ง่าย โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ที่มีความรุนแรงกว่าการพนันชนิดอื่นถึงสามเท่า
ปัจจุบันมีหลายเว็บการพนันออนไลน์เปิดให้บริการเล่นการพนันต่างๆ ตลอดทั้งวัน โดยเข้าใช้งานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เล่นผ่านสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ กลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่เข้าสู่วงจรการพนันสูงที่สุดจากการพบเห็นโฆษณาที่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เชิญชวน
ในส่วนของสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยปี 2563 จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ปี 2020 ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับให้ประเทศไทยยังคงอยู่ในกลุ่ม “Tier 2” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยยังคงเพิ่มความพยายามอย่างสําคัญในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยรวมต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะที่สําคัญต่อการดําเนินงานของประเทศไทย
- อุบัติเหตุจราจรลดลง 2.7%
สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 2.7 และ 12.4 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากบุคคลสูงสุดคือขับรถตัดหน้ากระชั้นชิดร้อยละ 36 รองลงมาได้แก่ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกําหนดร้อยละ 35.6
สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ยังสูงเป็นลําดับแรก และกระแสความนิยมการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีกําลังขับสูง เช่น รถบิ๊กไบค์มีมากขึ้น ทั้งยังพบการเกิดอุบัติเหตุบนถนนบ่อยครั้ง เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เห็น ความสําคัญกับการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ประเภทบิ๊กไบค์ด้วยการสร้างมาตรฐานสําหรับ ความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่ รวมถึงการลดความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
การเคลื่อนไหวทางสังคมไทยที่สำคัญในไตรมาส 3 ปี 2563 นี้แม้จะมีอัตราลดลงในหลายๆ ด้าน แต่ก็ต้องเผื่อใจรอดูรายงานในไตรมาส 4 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงสรุปรวมทั้งปีว่า สังคมไทยบอบช้ำแค่ไหนในปีที่ผ่านมา
------------------------
อ้างอิง : nesdc.go.th