เพิ่มมาตรการกระตุ้น พยุงเศรษฐกิจให้ฟื้น
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จำเป็นที่ต้องรักษาโมเมนตัม เพื่อสร้างแรงส่งให้กับเศรษฐกิจไทยในปี 2564 รวมถึงสร้างแรงผลักเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นที่ยังส่งเสริมได้ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน ที่ควรมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
การส่งออกไทยเดือน ต.ค.2563 ติดลบ 6.71% มูลค่า 19,376 ล้านดอลลาร์ โดยการติดลบมีแนวโน้มน้อยลงเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากประเทศต่างผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ในขณะที่หลายตลาดของไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบหลายเดือน และทำให้การส่งออกของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 192,372 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.26% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกทั้งปีส่งออกไทยติดลบ 7% ถือว่าดีกว่าประมาณการก่อนหน้านี้พอสมควร
ช่วงที่ผ่านมาหลายสำนักปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่หลังจากจีดีพีไตรมาส 3 มีตัวชี้วัดหลายรายการปรับตัวดีขึ้นจนทำให้เศรษฐกิจไทยพ้นจากจุดต่ำสุดแล้ว โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับประมาณการจากติดลบ 7.5% เป็นติดลบ 6% ในขณะที่กระทรวงการคลังปรับประมาณการเศรษฐกิจจากติดลบ 8.5% เป็นติดลบ 7.7% รวมถึงสำนักวิจัยของภาคเอกชนที่มีการปรับประมาณการตามไปด้วย เช่น ธนาคารกรุงศรี ปรับจากติดลบ 10.3% เป็นติดลบ 6.4%
แรงส่งที่ดีจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 จะขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภค ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคหลายมาตรการ ประกอบด้วย มาตรการคนละครึ่งที่ได้ผลตอบรับที่มี เพราะการอุดหนุนค่าสินค้า 50% ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมากขึ้น ในขณะที่ร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการสามารถเพิ่มยอดขายได้ ถึงแม้ว่าจะมีร้านค้าและประชาชนจำนวนหนึ่งทุจริต แต่ภาครัฐก็ต้องจัดการไม่ให้กระทบโครงการในภาพรวม
หากนับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย เมื่อเดือน ก.พ.2563 รัฐบาลได้ออกมาตรการในกลุ่มเยียวยาผลกระทบ เช่น การจ่ายเงินให้ผู้มีอาชีพอิสระ กลุ่มเปราะบางและเกษตรกร 3 เดือน รวมทั้งมีมาตรการเที่ยวด้วยกันเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่มีการปรับปรุงรายละเอียดต่อเนื่องหลังจากที่ในช่วงแรกมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิไม่มาก โดยเฉพาะการให้นิติบุคคลเข้ามาร่วมโครงการได้ รวมถึงการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อให้กลุ่มฐานรากมีเงินซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจึงจำเป็นที่ต้องรักษาโมเมนตัม เพื่อสร้างแรงส่งให้กับเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยต้องทำงานควบคู่กับการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มแข็งต่อไปแบบการ์ดไม่ตก รวมทั้งรัฐบาลควรสร้างแรงผลักดันเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นที่ยังส่งเสริมได้ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ควรมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งมาตรการด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าด้วย