โควิดทุบเศรษฐกิจ 'อีอีซี' 'ชลบุรี' หนักสุดลบ12.1%
สกพอ.ประเมินเศรษฐกิจอีอีซีปี 63 ติดลบ 8.7% ผลกระทบจากโควิด-19 คาดปีหน้ากลับมาขยายตัว 5.1%
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงเศรษฐกิจของ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่พึ่งทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยวและบริการ
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า สกพอ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินเศรษฐกิจอีอีซีในปี 2563 โดยประเมินว่าจีดีพีประเทศจะติดลบ 7.5% ในขณะที่จีดีพีของอีอีซีจะติดลบ 8.7%
หากดูรายละเอียดรายจังหวัดพบว่า จีพีพีของฉะเชิงเทราติดลบ 3.6% ระยองติดลบ 7.3% ชลบุรีติดลบ 12.1% ซึ่งเศรษฐกิจชลบุรีพึ่งการท่องเที่ยวสูงจึงได้กระทบมาก
ส่วนปี 2563 มีการประเมินว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว โดยจีดีพีประเทศจะกลับมาขยายตัว 6.3% ในขณะที่จีดีพีของอีอีซีขยายตัว 5.1% และถ้าดูรายละเอียดรายจังหวัด พบว่า เศรษฐกิจชลบุรีจะกลับมาเป็นบวก 8.6% ระยองบวก 3.3% และฉะเชิงเทราบวก 1.6%
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวและบริการคิดเป็นสัดส่วน 17% ของจีดีพีในอีอีซี โดยในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวมาที่อีอีซี 20 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยคิดเป็นสัดส่วน 65% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35% โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบทั้งหมด 94% จะมาท่องเที่ยวที่ชลบุรี
ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวในอีอีซีช่วงที่ผ่านมามูลค่าปีละ 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย 30% ของรายได้ทั้งหมด และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 70% และรายได้จากนักท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด 97% อยู่ในชลบุรี
โชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สกพอ.กล่าวว่า จากการผลักดันอีอีซีตั้งแต่ต้นมาถึงเดือน มิ.ย.2562 สร้างอัตราการขยายตัวการลงทุนภาคเอกชนเป็นบวก 3 ปีติดต่อกัน โดยภาพรวมของจีดีพีในอีอีซีขยายตัวราว 8.7%
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องยอมรับว่าเป็นผลกระทบกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็น 17% ของจีดีพีในไทย ซึ่งจากประมาณการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดว่าผู้โดยสารจะกลับมาเดินทางภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเท่าปี 2562 ภายในปี 2566 ส่วนการเดินทางทั่วโลกจะกลับมาปี 2567 ทำให้เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีโอกาสจะกลับมาเร็วสุด
รวมทั้งไทยเป็นประเทศแห่งโอกาสเพราะควบคุมการระบาดของโรคโควิด -19 ได้ดี ดังนั้นหากมองโอกาสทางการเดินทางที่จะสนับสนุนมาสู่เศรษฐกิจและการลงทุนในอนาคต ประเทศไทยต้องเร่งเตรียมตัวลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเป็นส่วนที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนา รวมทั้งต้องพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวภาคธุรกิจ
ปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจอีอีซีได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ปี 2562 และปี 2563 ถูกซ้ำเติมจากโควิด-19 จึงไม่แปลกที่จีดีพีในอีอีซีจะถดถอย ซึ่งตัวที่ขับเคลื่อนสำคัญของอีอีซีได้รับผลกระทบ คือ การส่งออกและภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการส่งออกที่ลดลงมาก เช่น การส่งออกรถยนต์ลดลงกว่า 30% รวมทั้งชิ้นส่วนรถยนต์ ปิโตรเคมี ส่วนการท่องเที่ยวหายหมด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน
สาเหตุใหญ่มาจากโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจโลก กระทบการท่องเที่ยว ทำให้เดินทางไปยังประเทศต่างๆไม่ได้ เกิดการล็อดาวน์ ปิดประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป ส่วนการส่งออกได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ลดลงในต่างประเทศทำให้การส่งออกขยายตัวติดลบหลายเดือน ซึ่งยอมรับโควิด-19 ส่งผลกระทบในอีอีซีแรงมาก
จากการประเมินสภาพเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2563 ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว แค่อย่าให้แย่ลงกว่านี้ถือว่าดีที่สุดแล้ว แม้ดัชนีภาคอุตสาหกรรมจะดีขึ้น แต่เอสเอ็มอีปิดกิจการมากขึ้นในไตรมาส 4 ดังนั้นจะเห็นแรงงานตกงานมากขึ้น โดยดูจากการขอเงินประกันสังคม ในส่วนของแรงงานในเขตอีอีซีก็คาดว่าน่าจะมีจำนวนมากคาดตัวเลขคร่าวๆน่าจะ 4-5%
ขณะที่ภาคการลงทุนในอีอีซี มองว่ารัฐบาลต้องทั้ง 2 ส่วน คือ 1.อุตสาหกรรม (S-Curve) เช่น ปิโตรเคมี ยานยนต์ 2.อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) เพื่อมาช่วยให้ส่งออกเพิ่มอย่างไร ซึ่งตัวช่วยดีสุด คือ การเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-อียู ไทย-ยูเค และซีพีทีพีพี เพราะหากไทยไม่เดินหน้าจะทำให้นักลงทุนหันไปเวียดนาม
สำหรับ New S-Curve ที่ครอบคลุม 5 อุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ซึ่งไทยมีบุคลากรไม่เพียงพอ และการสร้างบุคลากรด้านอาชีวะให้เชี่ยวชาญและมีคุณภาพเพียงตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมใหม่ในอีอีซีต้องใช้ระยะเวลานาน ดังนั้นหากจะผลักดันจริงจังต้องเปิดรับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศหลายหมื่นคนมาร่วมผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ เหมือนช่วงที่สหรัฐสร้างชาติด้วยการเปิดรับบุคคลากเข้าประเทศจำนวนมาก
ด้านการท่องเที่ยวในอีอีซีได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวหรือกลุ่มธุรกิจต่างชาติ แม้จำนวนไม่ได้มากเหมือนที่ผ่านมาแต่ดีกว่าไม่มีเลย โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานในอุตสาหกรรม เช่น ญี่ปุ่น ที่ต้องหมุนเวียนกลับประเทศและส่งคนใหม่มา หรือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่ทำงานในโรงาน ซึ่งต้องยอมเปิดให้เข้ามา หรืออย่างกรณีการลงทุนใหม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น เข้ามาติดตั้งเครื่องจักรในโรงาน บริหารงาน และหากเข้ามาไม่ได้ก็มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน
สำหรับเศรษฐกิจอีอีซีปี 2564 คาดว่า ผลกระทบจะยาวถึงครึ่งปี 2564 และครึ่งปีหลังปีหน้าจะเริ่มดีขึ้น เพราะหากมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวจะมากขึ้นเพราะคนต้องการไปท่องเที่ยว ทำให้เชื่อว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวจะดีขึ้นเป็นรูปตัว V
ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเพื่อประคองเศรษฐกิจอีอีซี คือ การเปิดรับต่างชาติ โดยคงต้องหารือถึงเพดานการติดเชื้อโควิด-19 ที่ไทยจะรับได้เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มคนทำงานในภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ก็เพื่อยืดเวลาให้กับผู้ประกอบการให้อยู่รอดได้ในปีหน้า