'ไออาร์พีซี' ลุยผลิตพลาสติกชีวภาพ นำร่องใช้ในร้าน 'KFC'
ทิศทางของโลกที่มุ่งสู่การผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อส่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการใช้วัตถุดิบทางธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ เพื่อลดการสะสมของขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติก ทำให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพมากขึ้น รวมถึงประเทศไทย
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี “ครบวงจรแห่งแรก” ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตเม็ดพลาสติก ในลักษณะของพลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร (Biobased) มากขึ้น เพื่อลดการใช้วัตถุดิบจากปิโตรเลียมที่นับว่าเป็นพลังงานฟอสซิลให้น้อยลง และยังสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้
นพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า IRPC ได้คิดค้นและผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิดใหม่ โดยบริษัทเป็นรายแรกที่ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด “โพลีสไตรีน” (PS) ผสมกับแป้งมันสำปะหลัง 20% ภายใต้แบรนด์ “PARARENE” เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้า
เบื้องต้น PARARENE มีกำลังการผลิตประมาณ 60 ตันต่อเดือน เพื่อจำหน่ายให้กับ บริษัท ไทยเวิลด์แวร์ โพลีโพรดักส์ จำกัด ในกลุ่มศรีเทพไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้ครั้งเดียว และย่อยสลายได้รายใหญ่ของไทย ซึ่งไทยเวิลด์แวร์เป็นบริษัทผู้ผลิตช้อน ส้อมพลาสติก ป้อนให้กับร้าน KFC นับเป็นการช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศอีกแนวทางหนึ่ง
“เม็ดพลาสติก PARARENE สามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ตามความต้องการของลูกค้า และจะการผลิตพลาสติกชนิดนี้ ถือเป็นไปตามกลยุทธ์ของ IRPC ที่จะเน้นการเจาะตลาดการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty grade) ซึ่งตั้งเป้าสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2567 จากปี62 อยู่ที่ 13% และปี63 อยู่ที่ 17% เพื่อสร้างสมดุลรายได้ รับมือกับความผันผวนทางธุรกิจในระยะยาว”
เมื่อเร็วๆนี้ IRPC ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียว (single-use) ร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เจ้าของแบรนด์ KFC, บริษัท ไทยเวิลด์แวร์ โพลีโพรดักส์ จำกัด, บริษัท โมเดิร์นเฟอร์นิเจอร์ จำกัด และมูลนิธิกระจกเงา โดยจัดทำโครงการ “Eco Solution” ที่เป็นโมเดลต้นแบบการจัดการขยะพลาสติก เพื่อจัดการผลิตภัณฑ์พลาสติกตลอดทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงผลิตภัณฑ์ปลายทางที่กลายเป็นขยะพลาสติกหลังการใช้งาน โดยการนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ ภายใต้กระบวนการทำงานแบบ “Close Loop” ไม่ปล่อยให้มีขยะพลาสติกออกไปนอกระบบ
ความร่วมมือดังกล่าว เริ่มต้นจากการจัดการขยะพลาสติกภายในร้าน KFC ด้วยการคัดแยกขยะจากจุด “Drop Point” ที่เป็นการตั้งกล่องรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วในร้าน KFC เช่น ช้อนส้อม ภาชนะพลาสติก โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกระจกเงานำไปคัดแยกและทำความสะอาด จากนั้น ขยะพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้จะถูกส่งกลับเข้าโรงงานรีไซเคิลของ IRPC ผ่านกระบวนบนและผลิตเปลี่ยนเป็น “เม็ดพลาสติกรีไซเคิล” แล้วส่งต่อเข้าสู่ขั้นตอนการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์
โดยบริษัท โมเดิร์นเฟอร์นิเจอร์ จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของประเทศ ผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น โต๊ะ และเก้าอี้ ที่จะนำไปบริจาคให้กับโรงเรียน รวมถึงผลิตเป็นถาดใส่อาหารเพื่อนำกลับไปใช้ในร้าน KFC ตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว
แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เจ้าของแบรนด์ KFC กล่าวว่า ที่ผ่านมาร้าน KFC เติบโตขึ้นต่อเนื่อง และมีสาขาในประเทศไทย 830 สาขาทั่วประเทศ มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นในปริมาณมากตามการตอบรับของผู้บริโภค และ KFC ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use) จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรดังกล่าว โดยเปิดพื้นที่ร้าน KFC เป็นโมเดลต้นแบบการนำขยะพลาสติกจากร้าน KFC มารีไซเคิลกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ที่ไม่เพียงแต่ช่วยดูแลด้านสิ่งแวดล้อมแต่ยังช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่คนไร้ที่พึ่งจากมูลนิธิกระจกเงา ในการเก็บและคัดแยกขยะพลาสติก
อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะให้แก่ผู้บริโภค ปัจจุบัน นำร่องทดลอง 8 สาขา จัดวางจุด Drop Piont ในร้านเพื่อการคัดแยกขยะพลาสติก และในอนาคตจะขยายสาขาเพิ่มเติม
“KFC เรามีเครื่องมือการตลาดเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก มีช่องทางแอพพลิเคชั่น ก็จะร่วมกับพันธมิตรนำข้อมูลมาสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคในการคัดแยกขยะในอนาคตต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ร้าน KFC ยังมีเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษโดยไม่ควรใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use) ภายในปี 2568
ประเสริฐ ไตรจักรภพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเวิลด์แวร์ โพลีโพรดักส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท พร้อมสนับสนุนรับซื้อเม็ดพลาสติก PARARENE เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการใช้พลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมี และยังสามารถนำไปจัดการได้หลังจากหมดอายุการใช้งานแล้ว แม้ว่า กระบวนการจัดการคัดแยกและรวมรวบขยะพลาสติกชีวภาพจะมีต้นทุนบริหารจัดการ แต่ในแง่ของการผลิตผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปจากพลาสติกชีวภาพยังมีต้นที่แข่งขันได้กับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เม็ดพลาสติกทั่วไป
อีกทั้ง ยังเป็นการนำเม็ดพลาสติกชีวภาพไปสู่กระบวนการนวัตกรรมอัพไซคลิ่ง (Upcycling) ที่ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีรูปแบบทันสมัย สวยงาม และสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งในอนาคตบริษัทจะมีการพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพในกระบวนการผลิตสินค้ามากขึ้นแน่นอน