ตรวจแถว 'ราคาข้าว' โตต่อหรือรอฟ้าฝน
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับเพิ่มกรอบวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 เพิ่มเติมอีก 28,711 ล้านบาท เพื่อนำไปชดเชยส่วนต่างเกษตรกรเก็บเกี่ยวหลังวันที่ 29 พ.ย.2563 (งวดที่ 5 เป็นต้นไป) อีก487,370 ครัวเรือน
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอปรับเพิ่มกรอบวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 เพิ่มเติมอีก 28,711 ล้านบาทเป็น 46,807ล้านบาท เพื่อนำไปชดเชยส่วนต่างเกษตรกรเก็บเกี่ยวหลังวันที่ 29 พ.ย.2563 (งวดที่ 5 เป็นต้นไป) อีก487,370 ครัวเรือน ผลผลิต 2,894,905 ตัน
มติครม.ที่ยกขึ้นมานี้ กำลังสะท้อนว่า“สถานการณ์ราคาข้าว” พืชที่มีจำนวนเกษตรกรในประเทศมากที่สุด และเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของโลก มีแนวโน้มทิศทางราคาไม่แน่นอนและเหวี่ยงในระดับที่พร้อมจะดิ่งลงต่ำ
วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงภาระกิจหลังการรับตำแหน่งว่า เรื่องราคาข้าวเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของการทำงานและเป็นเหมือนหน้าที่ลำดับแรกๆในขณะนี้เนื่องจากสถานการณ์ราคามีแนวโน้มผันผวน ดังนั้น เป้าหมายการทำงานเพื่อดูแลงานด้านราคาข้าว จึงไม่ใช่เพียงการทำให้ราคาข้าวปรับเพิ่มขึ้นแต่ต้องให้มีเสถียรภาพ พร้อมๆไปกับการดูแลกลไกแวดล้อมไม่ให้เป็นปัจจัยฉุดราคา
คาดว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้า มีโอกาสที่จะแตะตันละหมื่น แม้ว่าปริมาณผลผลิตรวม ปี 63/64 จะอยู่ที่ 30 ล้านตัน สูงขึ้นจากปีที่แล้วที่มีอยู่ 28 ล้านตัน แต่ยังไม่ถือว่าเข้าสู่ระดับปริมาณปกติ ที่ เฉลี่ย ปีละ 32 ล้านตันเมื่อก่อนหน้านี้
สำหรับผลผลิตสูงสุดของประเทศจะออกมาในช่วงพ.ย. -ธ.ค.นี้ ซึ่งจะมีมาตรการคู่ขนาดของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เน้นการชะลอไม่ให้ข้าวออกสู่ตลาดจำนวนมากๆพร้อมๆกัน ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือทั้งโรงสี และตัวชาวนาเองด้วย
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าวิธีการทำนาปัจจุบันจะเป็นรูปแบบการเก็บเกี่ยวสดคือเกี่ยวด้วยรถแล้วขายไปยังโรงสีเลยทำให้ข้าวมีความชื้นสูง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยแวดล้อมที่ชาวนาไม่มีพื้นที่ตากข้าว ก็ยิ่งทำให้ข้าวขายไม่ได้ราคาเพราะความชื้นสูง
“สาเหตุที่ราคาข้าวก่อนหน้านี้ตกลงมากปัจจัยส่วนหนึ่งมาจาก ข้าวชื้นเพราะมีฝนตกชุก ต้นข้าวล้ม และแช่น้ำ ประกอบกับเป็นช่วงปริมาณข้าวออกสู่ตลาดมาก แต่จากนี้ มาตรการต่างๆน่าจะทำให้ราคาข้าวดีขึ้น”
ทั้งนี้ ราคาข้าวเริ่มกระเตื้องขึ้นแล้ว จากมาตรการของรัฐ ทำให้คาดว่าน่าจะได้เห็นข้าวเปลือกเจ้าราคาที่ตันละ หมื่นบาทได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยแตะระดับไปบ้างแล้ว ส่วนข้าวหอมมะลิ น่าจะได้เห็น 1.5 หมื่นบาทได้เช่น แต่เพื่อให้ราคามีเสถียรภาพ จึงต้องทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้ปัจจัยแวดล้อมอื่น มาทำให้ราคาข้าวได้รับผลกระทบ
มาตรการหนึ่งคือ การประสานกับหน่วยงานที่กำกับดูแลตามแนวชายแดนให้ตรวจสอบไม่ให้เกิดการลักลอบนำเข้าข้าวจากเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศ เพราะต้นทุนการผลิตต่ำและปริมาณผลผลิตต่อไร่ของเพื่อนบ้านสูง ทำให้เกิดส่วนต่างผลตอบแทนที่จูงใจให้เกิดการลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยและอาจเป็นสาเหตุให้ราคาลดลง นอกจากนี้ ยังต้องเสริมด้วยมาตรการคุมเข้มการขนย้ายข้าว ซึ่งมีมาตรการดูแลอยู่แล้วคือการขออนุญาตก่อนขนย้ายข้ามเขต
มาตรการอีกด้านคือ การควบคุมพฤติกรรมไม่ให้มีการกดราคารับซื้อข้าวจากชาวนา ซึ่งดำเนินการ 2 แนวทางคือ การสืบหาข่าวในทางลับ และการรับเรื่องร้องเรียนจากชาวนา ล่าสุดพบพฤติกรรม ในลักษณะ กำหนดราคารับซื้อสูงแต่ใช้วิธีกดค่าความชื้นโดยไม่ใช้เครื่องวัดความชื้น ทำให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาต่ำ และยังพบพฤติกรรมการโกงน้ำหนักด้วยเทคนิคต่างๆแม้ก่อนหน้านี้จะได้ปูพรมตรวจมาตรฐานทั้งเครื่องวัดความชื้นและเครื่องชั่งแล้วก็ตาม
“ส่วนใหญ่พฤติกรรมไม่เป็นธรรมจะเป็นพวกท่าข้าวที่อ้างว่าจะซื้อข้าวราคาสูงเพื่อจูงใจให้ชาวนานำข้าวไปขายแล้วก็ใช้เทคนิคต่างๆมาโกงทั้งราคาและความชื้น ล่าสุดจับกุมไปแล้ว 3 ราย ”
ส่วนมาตรการด้านกระตุ้นดีมานด์ จะเน้นการกระตุ้นความต้องการบริโภคในประเทศ หลังพบว่า ปัจจุบันการบริโภคข้าวลดน้อยลง ประกอบกับปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยลงจากโควิด-19 ทำให้ดีมานด์ตลาดลดลงอย่างมาก ยังไม่รวมปัจจัยด้านโลจิสติกส์ของภาคการส่งออกที่จำนวนตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ
“เป็นห่วงว่า ถ้าดีมานด์ตลาดน้อย ข้าวกองในตลาดมากก็จะกระทบราคาอีก การวางฐานสร้างดีมานด์ตลาดในประเทศไว้ จึงแนวทางระยะยาวที่จะสร้างเสถียรภาพราคาในได้”
ล่าสุดได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการข้าวถุงรณรงค์การบริโภคข้าว รวมถึงการพัฒนาตลาดด้วยการเพิ่มทางเลือกการบริโภคข้าวทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เช่น ข้าวคุณภาพดีแต่ราคาถูกลงข้าวทางเลือกเพื่อสุขภาพเป็นต้น