อุ่นเครื่อง 'เลือกตั้ง อบจ.' จริงไหม ..ถ้าการเมืองดี 'เลือกตั้งท้องถิ่น' จะดี!?
มองเวที "เลือกตั้งท้องถิ่น 2563" โดยเฉพาะสนามเลือกตั้ง "นายก อบจ." ในวันที่สังคมตื่นตัวทางการเมือง ท่ามกลางความหวังของคนรุ่นใหม่กับวังวนขั้วอำนาจเดิม กับ "ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์"
"...ในรอบ 20-30 ปีมานี้ โฉมหน้าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปเพราะการเมืองท้องถิ่น เพราะมีการกระจายอำนาจ ที่เราทุกคนต่างรับรู้และเห็นถึงความสำคัญของท้องถิ่น..."
คำบอกเล่าจาก ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต สะท้อนภาพการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา ทั้งในฐานะการเป็นกลไกการขับเคลื่อนสังคมฐานราก รวมทั้งการแข่งขันทางอำนาจที่ดุเดือดจากสนามนี้
หลังจากรัฐประหาร ปี 2557 เป็นต้นมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า สนามการเมืองท้องถิ่น ถูก "ลดทอนพลัง" และทำให้ถูก "มองข้าม" มาโดยตลอด จนกระทั่ง รัฐบาลลั่นฆ้องประกาศวันเลือกตั้งออกมาในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงกลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง
นับถอยหลังก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง "นายก อบจ." กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงถือโอกาสชวน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรังสิตพูดคุยถึงที่ไปที่มาของการเลือกตั้งท้องถิ่น ความสำคัญของกระบวนการทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับผู้คนที่สุดอย่างหนึ่ง รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น หลังท้องถิ่นไทยไม่มีการเลือกตั้งถึง 6 ปีเต็ม เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นภาพการเคลื่อนไหว และความตื่นตัวของสังคมเกี่ยวกับการเมืองในวันนี้
..โดยเฉพาะการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่ถูกจับตาว่า จะพลิกหน้าประวัติศาสตร์การเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่!?
- ระยะเวลา 5-6 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น มองว่าส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร ?
ช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกือบ 7 ปีของการรัฐประหาร ประการสำคัญที่สุดคือคณะรัฐประหารนั้นได้ทำให้กระบวนการการเมืองและการบริหารท้องถิ่นเป็นเสมือนแขนขากลไกของระบบราชการส่วนกลาง ทำให้วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายเดิมที่องค์กรท้องถิ่นจะต้องดูแล บริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นถูกมองข้าม แล้วผู้บริหารที่สามารถดำรงอยู่ได้เป็นเพราะคำสั่งของคณะรัฐประหาร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ดังนั้น ผู้บริหารท้องถิ่นก็เปลี่ยนใจเมื่อรู้ว่าอำนาจมาจากไหนก็ตอบสนองแหล่งอำนาจนั้น เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นมันจะเป็นการบอกว่า ผู้บริหารมาจากประชาชน จะต้องทำการบริหารแก้ไขปัญหาเพื่อตอบสนองประชาชนในท้องถิ่น ตรงนี้คือหลักการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างการรวมศูนย์อำนาจในส่วนกลางกับการบริหาร
การกระจายอำนาจในท้องถิ่นมันขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของอำนาจ หากแหล่งที่มาของอำนาจนั้นเป็นแหล่งที่มาจากประชาชนในท้องถิ่น การตอบสนองต่อประชาชนจะสูงมาก เพราะว่าผู้บริหารนึกถึงการที่จะรักษาความนิยม คิดถึงการที่จะได้กลับมาเป็นผู้บริหารต่อไป
แต่เมื่อมันย้ายกลับไปเป็นอำนาจของการแต่งตั้งจากรัฐบาล จากกลไกของมหาดไทย ผู้ว่าในอำเภอเป็นคนควบคุมดูแล ก็ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นตระหนักว่าตนสามารถอยู่ในอำนาจเพราะอำนาจของผู้ว่าในอำเภอ เพราะอำนาจของรัฐบาลกลาง ดังนั้นจึงมุ่งตอบสนองต่อคำสั่งการปฏิบัติงานไปตรงนั้น
แม้ว่างบประมาณทั้งหมดเป็นงบของท้องถิ่นแต่มันถูกใช้ไปในประเด็นที่สะเปะสะปะ เมื่อตอบต่อคำสั่งของรัฐบาลของรัฐประหารที่ผ่านมา อันนี้เป็นประเด็นสำคัญที่เป็นหลักการของมันทำให้เขาไม่สามารถที่จะริเริ่มสร้างสรรค์งานของตนเองได้ และการใช้งบประมาณอยู่ภายใต้การกำกับของผู้ว่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 'เลือกตั้งอบจ.' ต้องรู้! กางโทษ 5 กระทง ความผิด 'บัตรเลือกตั้ง'
- ไม่ไป ‘เลือกตั้งอบจ.’ ต้องเช็ค 4 ขั้นตอนรักษาสิทธิ!
- มาแล้ว! เอกสารแจ้งไม่ไป 'เลือกตั้ง อบจ.' กรอกอย่างไรให้ถูกต้อง!
- ก็เลยทำให้นโยบายไม่ได้ถูกยึดโยงกับประชาชน อย่างที่ควรจะเป็น?
ใช่ครับ เพราะมันทำให้เขาไม่กล้า ก็เหมือนที่เวลาเราถูกกำกับโดยไม้เรียวและการตรวจสอบเราจะไม่กล้าทำอะไรมากไปกว่าที่เขาอนุญาตให้ทำ
นายก อบจ. เป็นนักการเมือง สิ่งหนึ่งที่นักการเมืองมีมากกว่าข้าราชการมี คือ การมีวิสัยทัศน์ไปข้างหน้า บุกเบิกสิ่งใหม่ๆ ให้กับจังหวัดของตนเอง ให้กับเขตท้องถิ่นของตนเอง
สิ่งที่ข้าราชการมี คือ การปฏิบัติตามคำสั่งและอยู่ในกรอบที่ทำให้ตนเองไม่ผิด แต่ฝั่งการเมืองจะต้องก้าวนำท้าทาย และที่เห็นว่าฝ่ายการเมืองมักจะทำอะไรที่ฝ่ายข้าราชการบอกว่าผิดระเบียบนะ ในขณะที่ฝ่ายการเมืองก็บอกว่าถ้ามันผิดระเบียบไปหมดแล้วจะสร้างงานได้ไงล่ะ เพราะว่าระเบียบของฝ่ายราชการออกมากับการใช้เงินเยอะมากมาย
มันเหมือนเวลาเอกชนคิดแก้ไขปัญหามันจะต้องคิดหาทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา หลายเรื่องเราอาจจะคิดว่าคิดได้ยังไง อาจจะเป็นทั้งดีและไม่ดี นี่ก็คือสิ่งที่ฝ่ายการเมืองมีคือ การที่ต้องการเดินไปข้างหน้า แต่ฝ่ายข้าราชการมีแนวโน้ม... หลักฐานของการคอรัปชั่นมาจากฝ่ายข้าราชการนะ ดังนั้น ถ้าเราดูให้ดี ท้องถิ่นแทบจะถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับการทุจริตไม่มาก ในขณะที่ข้าราชการเป็นรากเหง้าของการคอรัปชั่นในสังคมไทย ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง
- แต่พอไม่มีการเลือกตั้ง ก็ทำให้เกิดทัศนคติทำนองว่า เราจะมีนายก อบจ.ทำไม ในเมื่อที่ผ่านมาก็อยู่ได้อยู่แล้ว?
นี่คือ ผลโดยตรงของการรัฐประหาร ในการแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่น คือทำให้เกิดความสิ้นหวังถึงการที่จะมีหน่วยองค์กรท้องถิ่น การที่หน่วยผู้นำหรือฝ่ายบริหารองค์กรท้องถิ่นไม่มีความต่อเนื่อง มันคือการทำลายประชาธิปไตยท้องถิ่น ทำให้รู้สึกว่ามันไม่มีความแตกต่างกัน
แต่ถ้าสิ่งนี้มันเป็นการสร้างมายาคติว่า ไม่มีการเลือกตั้งก็อยู่ได้ มันจะอยู่ได้อย่างไร ตรงจุดนี้ผมคิดว่า คนจำนวนมากรู้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการเลือกตั้งกับการแต่งตั้ง เพราะการแต่งตั้งนั้น คุณได้รับการแต่งตั้งจากใคร คุณก็จะไปนอบน้อมและต่อผู้แต่งตั้งคุณ
ขณะที่หัวใจของการเลือกตั้งคือ การเน้นตอบต่อประชาชน ผมคิดว่า คำพูดพวกนี้มักจะเป็นคำพูดของผู้ที่มีอำนาจจากส่วนกลางที่บอกว่า ไม่ได้แตกต่างกันเลย การมีนายก อบจ.ที่มาจากแต่งตั้งไม่ได้แตกต่างจากการเลือกตั้ง มันก็บริหารงานกันไปได้ แต่ความแตกต่างจริงๆ แล้วมันอยู่ที่ใจสุจริตของการคิดสร้างสรรค์
ผมคิดว่า การเมืองท้องถิ่นที่เติบโตขยายตัวขึ้นมาหลังเหตุการณ์ พฤษภา '35 มันเปลี่ยนโฉมหน้าของการเมืองท้องถิ่นไปอย่างสิ้นเชิง ต่างจังหวัดปัญหาท้องถิ่นหมู่บ้าน จังหวัดต่างๆ คือ หนึ่งถนน การเข้าไปถึงหมู่บ้านยากลำบากมาก เป็นถนนลูกรัง ฝุ่น ดินแดงเละเทะเลย แต่เมื่อมีการกระจายอำนาจท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดหรือว่า อบต. ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา สิ่งที่เข้าไปท้องถิ่นในช่วงหลังจากมี อบต.ก็คือเรื่องของถนน ไฟฟ้า และน้ำประปา สามอย่างนี้ เปลี่ยนโฉมหน้าชีวิตของคนทั้งประเทศเลย คุณภาพชีวิตมันเปลี่ยน ซึ่งตรงนี้เราเรียกว่าการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
ถ้าไม่มีท้องถิ่นที่ผ่านมารัฐบาลก่อนหน้านั้นก็จะมองแต่การสร้างถนนสายหลักเข้าไปยังจังหวัดเท่านั้นเอง หมู่บ้านต่างๆ ถูกตัดขาดไปหมดเลย
ในรอบ 20-30 ปีมานี้ โฉมหน้าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปเพราะการเมืองท้องถิ่น คือการกระจายอำนาจ ที่คนต่างจังหวัดเขาจะรับรู้และเห็นถึงความสำคัญของท้องถิ่น แต่พวกที่ดูหมิ่นดูแคลนการเลือกตั้งท้องถิ่นก็จะบอกว่า ใครมาก็เหมือนกัน มันไม่เหมือนครับ เพราะถ้าเหมือนกันญี่ปุ่นไม่เจริญทั้งประเทศหรอก
ญี่ปุ่นใช้การเลือกตั้งกระจายอำนาจทั้งจังหวัด ทั้งเทศบาลหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะอเมริกาเข้าไปจัดการ ทำให้ญี่ปุ่นตั้งแต่เกาะฮอกไกโดจนกระทั่งถึงนางาซากิ แสงไฟมันสว่างไปหมดเลย ไม่ใช่กระจุกอยู่ที่เมืองหลวงแบบเกาหลีเหนือหรือประเทศไทย
ตอนนี้เงินในท้องถิ่นมีมูลค่าเกือบ 8 แสนล้านบาท ซึ่งเยอะมาก และกระจายอยู่ในทุกจังหวัด อบจ. คุมเงินเยอะมาก ในขณะที่ผู้ว่าฯ แทบไม่มีเงินเลย ด้วยเหตุนี้การรัฐประหารจึงทำให้ผู้ว่าฯ สามารถเซ็นอนุมัติการใช้เงินได้ กลไกของระบบราชการเป็นผู้ว่าฯ มีอิทธิพลในการสั่งใช้เงิน คือเวลาสั่งใช้ คุณไม่จำเป็นที่จะต้องลงนามด้วยตัวเองนะ คุณสามารถบอกได้ว่า คุณจะทำโปรเจกต์อะไรซึ่งมันก็จะเป็นโปรเจกต์ในการตอบสนองต่อรัฐบาลทหารในขณะนั้น
ขณะที่การสั่งใช้เงินของนายก อบจ. ของผู้บริหารท้องถิ่นเขาจะสั่งใช้บนฐานของการที่เขาจะต้องตอบให้ได้ว่าทำไมต้องทำโปรเจกต์นี้ อย่าลืมว่าเขามี ส.อบจ. สมาชิกเทศบาลคอยถามเขาอยู่ตลอดเวลา คำถามคือพลังของประชาชนที่มันกดดันการปรับทิศทางของการใช้งบประมาณ
ฉะนั้น สองเรื่องตรงนี้คือการเมืองท้องถิ่นคือการจัดสรรงบประมาณว่าควรจะทำอะไร ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนมันก็จะจัดสรรไปเพื่อตอบสนองต่อประชาชน แต่ถ้าผู้บริหารมาจากการแต่งตั้งมันก็อาจจะจัดสรรไปบนรสนิยมของตนเองหรือคำสั่งจากส่วนกลาง นี่คือความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง
- ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา มีความยึดโยงกับสนามเลือกตั้งระดับประเทศ อย่างไรบ้าง
รัฐบาลที่ผ่านมา มักจะบอกว่า พวกนักการเมืองมีแต่นโยบายหาเสียงแต่ไม่เคยทำได้จริง เพราะมันไม่เคยเป็นรัฐบาลของพรรคการเมือง มันเป็นรัฐบาลทหารที่เอาการเมืองมาเป็นตัวซัพพอร์ต ดังนั้นนโยบายของเขาคือนโยบายของฝ่ายทหารไม่ใช่ของฝ่ายพรรคการเมือง
แต่เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 พรรคการเมืองสามารถจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองได้เอง นโยบายมันจึงถูกนำไปใช้ มันปฏิบัติได้จริง และเห็นความสามารถในการนำนโยบายมาปฏิบัติได้จริง ท้องถิ่นหลายท้องถิ่นก็เห็นความเชื่อมโยงว่า หากคุณสังกัดพรรคการเมืองคุณก็จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลพรรคการเมืองนั้นด้วยในการที่จะพัฒนาท้องถิ่น หากมันมีการเลือกตั้งอย่างนี้อย่างต่อเนื่องไม่มีการรัฐประหาร แนวทางของมันก็จะเป็นแบบอเมริกาหรือญี่ปุ่น
ดังนั้น เราจะเห็นว่าหากคุณไม่ให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองระดับชาติลงไป คุณก็จะได้พรรคข้าราชการที่เป็นพรรครัฐบาลทหาร และเจ้าพ่อท้องถิ่น ชีวิตของประชาชนก็คือคุณห้ามเอะอะโวยวาย ห้ามร้องเรียนในประเด็นใดๆ นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เห็นว่า คนต่างจังหวัดได้ปัจจัยของพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองระดับชาติทำให้ชีวิตในท้องถิ่นของตัวเองเปลี่ยนแปลงไป
พอมันเชื่อมโยง นอกเหนือจากพัฒนาท้องถิ่นที่มันเป็นได้จริง มันยังคัดสรรคนใหม่ๆ เข้าสู่สนาม เพราะพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเขามองว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นก็คือฐานการเมืองระดับชาติ แล้วยิ่งมีปาร์ตี้ลิสต์ด้วย คะแนนเสียงของปาร์ตี้ลิสต์มีความสำคัญ ไม่นับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
ปาร์ตี้ลิสต์ที่เราออกมาแบบมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 มันทำให้เห็นว่าทุกคะแนนเสียงที่ได้จากท้องถิ่นมีความสำคัญ ดังนั้น มันก็มีความเชื่อมโยงกันยิ่งขึ้น มันนำไปสู่การคัดสรรคนใหม่ๆ เข้าสู่สนาม กลุ่มการเมืองแบบบ้านใหญ่ แบบเจ้าพ่อ แบบพรรคข้าราชการมันเป็นกลุ่มที่เล่นกันอยู่หน้าเดิมๆ แต่พรรคการเมืองทำให้คนใหม่ๆ มีความฝันที่อยากจะพัฒนาท้องถิ่น
- บางพื้นที่ที่มีการหาเสียง ทุกเช้าจะมีรถหาเสียงพรรคเจ้าเดิมพยายามพูดว่า "การบริหารท้องถิ่นจะต้องปราศจากการเมือง" คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
มันจะเป็นไปได้ยังไง เพราะแค่คุณเลือกตั้งก็คือการเมืองแล้ว การเมืองคือการเข้าสู่ตำแหน่งแห่งที่เพื่อจัดสรรสิ่งที่มีค่าในการบริหารจัดการ สิ่งที่มาค่านั้นได้แก่ งบประมาณรายจ่ายประจำปี บุคลากร การบริหารจัดการผลประโยชน์ของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ นี่คือสิ่งที่มีค่าของท้องถิ่น ให้กลุ่มใดได้ประโยชน์ กลุ่มใดไม่ได้ประโยชน์ นี่คือการเมือง แนวคิดการเมืองรัฐศาสตร์เขาวางไว้ตรงนี้ ดังนั้น คุณเข้าไปสร้างถนนตรงนี้ ทำไมไม่สร้างตรงนี้ มันคือการเมืองทั้งหมด
นี่คือที่มา ผู้ที่อยู่ในสนามถ้าเป็นพวกเจ้าพ่อหรือบ้านใหญ่พยายามที่จะบอกว่าพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองข้างนอก ไม่ควรมายุ่งกับการเมืองท้องถิ่นเพราะว่ามันเป็นเรื่องของท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องระดับชาติ มันจะเป็นไปได้ไง ถ้าคุณเดินทางไปเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยของโลกใบนี้ ไม่ว่าจะในยุโรป ออสเตรเลีย อมเริกา แคนาดา ทิศทางของมันก็คือมันต้องเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลระดับชาติ
- ในอีกไม่กี่วันที่จะมีการเลือกตั้ง อบจ. มีพื้นที่ไหนที่สำคัญ และควรจับตามองบ้าง
ถามว่าจับตาจังหวัดไหน คือในแง่นี้ การออกกฎเกณฑ์ที่กีดกันพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองมันทำให้เราเห็นเป็นเรื่องการแข่งขันของตัวบุคคลในทุกจังหวัด แม้ว่าบางจังหวัดจะมีบางพรรคหรืออดีตนายกฯ บางคนเขียนจดหมายถึง ถ้ามันเป็นสนามทั้งประเทศนะเราก็เห็นพรรคพลังประชารัฐกำลังสู้กับพรรคเพื่อไทย และอนาคตใหม่ มันจะทำให้เราวิเคราะห์ได้ แต่ตอนนี้มันต้องไปดูที่จังหวัดต่างๆ แต่ละจังหวัด เราไม่มีพลังความสามารถขนาดนั้น สื่อเองก็ทำไม่ได้ เราทำได้แค่ว่า ใครจะเป็นแคนดิเดตในท้ายสุดของสนามนี้เท่านั้นเอง เพราะข้อมูลของเราจำกัดมาก มันเป็นท้องถิ่นไปหมด รายงานข่าวเราแทบไม่เห็นอะไร
จากการออกแบบมันจึงทำให้เป็นการแข่งขันของตัวบุคคลในสนามของแต่ละจังหวัด ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นภาพรวมระดับประเทศได้ ดังนั้น มันต้องใช้การเลือกตั้งที่โหมประโคมให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการเลือกตั้งระดับชาติ โดยการมีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ พร้อมไปด้วย แต่เราถูกตัดตอนไปแล้วไง เราถูกบอกว่าเดี๋ยวค่อยตั้งทีหลัง ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว แต่นี่คือกลวิธีของคณะทหารในการรักษาอำนาจทางการเมืองทั้งประเทศ
- แสดงว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เราอาจจะยังไม่หลุดพ้นจากภาพกลุ่มการเมืองเก่าที่ครองเก้าอี้อยู่?
ใช่, การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้บ้านใหญ่หรือเจ้าพ่อในท้องถิ่นได้ประโยชน์สูงสุด มีแนวโน้มที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและใช้วิธีการแบบเดิมๆ วิธีการที่ทำให้ได้มาซึ่งเสียง แต่ผมไม่สิ้นหวังนะครับ เพราะว่ากระบวนการเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบ 20 เกือบ 30 ปี ที่ผ่านมา ผมคิดว่ามันยกระดับทำให้ หนึ่ง, คนในท้องถิ่นมองเห็นว่าการเมืองท้องถิ่น การได้ผู้บริหารท้องถิ่นมีความสำคัญมากที่จะทำให้จังหวัดของเขาพัฒนา
การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้บ้านใหญ่หรือเจ้าพ่อในท้องถิ่นได้ประโยชน์สูงสุด มีแนวโน้มที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและใช้วิธีการแบบเดิมๆ
สอง, การเลือกตั้งปี 62 ได้ชี้ให้เห็นว่าการไม่ใช้เงินในการซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้งเป็นไปได้ที่จะได้ชัยชนะ มันนำไปสู่การสร้างความหวังใหม่นะครับว่า เราสามารถที่จะสร้างท้องถิ่นได้โดยคนเหล่านั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเศรษฐีในท้องถิ่นเลย คุณจะได้คนใหม่ๆ เข้าสู่สนามมากขึ้น ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก มันสร้างความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะลงสนาม
มีคนจังหวัดต่างๆ ผมคิดว่าเขาลุกขึ้นมามีความหวัง เขามองเห็นว่าเขาสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงจังหวัดของเขาได้ ผมไปเจอหลายๆ จังหวัดที่เป็นนักธุรกิจในท้องถิ่นที่ผ่านมาเขาก็จะบอกว่าเขาก็ทำธุรกิจไป เขาไม่อยากไปยุ่งหรอก การเมืองการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ความเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งปี 62 ทำให้เขาลุกขึ้นมาสมัคร เขาจะรู้สึกว่าเขาสร้างจังหวัดของตนเองได้ เขาสร้างบ้านให้น่าอยู่สำหรับทุกคนได้ เขาลุกขึ้นมา นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เป็นอีกระลอกหนึ่ง
แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันจะยังไม่ตอบโจทย์ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพลังในการสร้างสรรค์ในท้องถิ่นเพราะว่ามันออกกฎเกณฑ์ที่ทำให้บ้านใหญ่และกลุ่มเจ้าพ่อได้รับประโยชน์ แต่ถ้าเราทำให้การเลือกตั้งมันมีความต่อเนื่อง ไม่ถูกหักโดยการรัฐประหารเช่นที่ผ่านมา ผมเชื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
- แล้วการขับเคลื่อนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งความตื่นตัวในการใช้โซเชียลมีเดีย รวมทั้งปัจจัยการตื่นตัวทางการเมืองของสังคมวันนี้ ทุกอย่างจะส่งผลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ไหม
ความตื่นตัวของการเลือกตั้งจะต้องถูกตีฆ้องในระดับประเทศ การเลือกตั้งปี 62 ถ้าเป็นการเลือกตั้ง ส.ส.สนามใหญ่มันจะมีการใช้สิทธิอยู่ระดับ 74-75% ของประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับที่จะมาใช้สิทธิ ย้อนกลับไปเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 45% มันห่างกันอยู่แล้วโดยธรรมชาติ การที่ใช้กลยุทธ์ไม่ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ มันทำให้ไม่เกิดความคึกคักของสนามเลือกตั้ง คุณทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเรื่องเงียบๆ ของแต่ละจังหวัดไป
ดังนั้น แม้ว่าจะมีสื่อต่างๆ แม้ว่าจะมีการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ประเด็นของการชุมนุมมันเป็นประเด็นอื่น มันไม่ใช่ประเด็นการเลือกตั้งท้องถิ่น มันยังไม่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การชี้นำได้ว่าคนรุ่นใหม่ควรออกไปเลือกตั้งนะ แต่มันจะไปเลือกใคร คุณก็บอก ใครวะ เป็นตัวแทนความหวังใหม่ของคุณ มันไม่มีทุกจังหวัด
คำถามคือ แล้วคุณจะไปเลือกใครล่ะ มันไม่มีความฝันร่วมกันทั้งประเทศ แม้ว่าโซเชียลมีเดียเขาพยายามใช้การที่จะดึงคนออกมาเลือกตั้งได้ คนออกไปเลือกตั้งเขามีต้นทุนนะ ต้นทุนค่าเดินทางแม้ว่าท้องถิ่นจะเดินทางไม่มาก คุณเดินออกจากบ้านคุณจะยอมเหนื่อยเพื่ออะไร ถ้าคุณไม่เห็นความแตกต่างเปลี่ยนแปลงหรือว่าความฝันของคุณ คุณจะดึงคนที่อยู่นอกเขตจังหวัดเช่นทำงานในกรุงเทพฯ กลับไปเลือกตั้งได้ยังไง ต้นทุนมันแพงมาก
คนออกไปเลือกตั้งเขามีต้นทุนนะ ต้นทุนค่าเดินทางแม้ว่าท้องถิ่นจะเดินทางไม่มาก คุณเดินออกจากบ้านคุณจะยอมเหนื่อยเพื่ออะไร ถ้าคุณไม่เห็นความแตกต่างเปลี่ยนแปลงหรือว่าความฝันของคุณ คุณจะดึงคนที่อยู่นอกเขตจังหวัดเช่นทำงานในกรุงเทพฯ กลับไปเลือกตั้งได้ยังไง ต้นทุนมันแพงมาก
ประเด็นของการเลือกตั้งถ้าคุณให้เลือกตั้งวันเดียว แล้วเลือกตั้งลงไปถึงเทศบาล อบต. พร้อมกันเลย ก็มีความหมายว่า คุณจะทำให้เกิดการคึกคักทุกระดับ ถ้ายิ่งคุณทำให้การเลือกตั้งวันนั้นเป็นหยุด แต่วิธีการของรัฐบาลทหารคือ ความพยายามที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องเงียบๆ เพราะเขาไม่ต้องการที่จะให้มีกระแสของคนรุ่นใหม่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ยิ่งมีการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น ผลของมันใครจะได้ล่ะ ถ้ามาใช้สิทธิแบบเดิม 45% ผลออกมาใครได้
- ถ้าอย่างนั้น ภาพของท้องถิ่นหลังจากเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
เลือกตั้งแล้วจะดีขึ้นไหม.. ดี, เพราะมันจะกลับเข้าไปสู่พื้นฐานของหลักการกระจายอำนาจ คือ อำนาจนั้นมาจากประชาชน มันก็จะทำให้ผู้บริหารเขาตระหนักมากขึ้นว่า ตอนนี้เขาไม่ตอบต่อผู้ว่าฯ ตอบข้าราชการอีกต่อไปมากเหมือนเดิมแล้ว เขาจะต้องตอบโจทย์ต่อประชาชน ถ้าอย่างน้อยเขาบอกว่า พบได้อย่างสะดวก ดีมากเลยนะ ต่อไปคุณจะเจอนายก อบจ. เดินอยู่ในจังหวัดทั้งวัน ปัญหามันจะได้รับการแก้ไขเร็วขึ้น นี่คือความเปลี่ยนแปลงมันจะกลับเข้าสู่หลักพื้นฐานประชาธิปไตยในท้องถิ่น
สิ่งที่ตามมาก็คือ คนที่อยู่ในสนามท้องถิ่นจำนวนมากที่ไปสมัคร ส.อบจ. เป็นคนใหม่ๆ เยอะมาก คนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งเจเนอเรชั่น ผมคิดว่า ถ้าเราดูระดับอายุของกลุ่มที่แข่งนายก อบจ. เราจะเห็นกลุ่มสูงอายุเป็นหลัก 50 อัพขึ้นไป เราจะเห็นว่ามี 52 คนที่เป็นอดีตนายกอบจ. นั่นหมายความว่า ถ้าผลออกมามันเปลี่ยนแปลงนายกอบจ. จำนวนมาก มันก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า บ้านเมืองเขาต้องเปลี่ยนแปลงแน่ๆ เพราะว่า คนรุ่นใหม่จะมาพร้อมกับข้อเสนอ ไอเดียในการทำอะไรบางอย่างที่ใหม่กว่า และกลุ่มคนที่สมัคร ส.อบจ. ก็เป็นคนเจนเนอเรชั่นใหม่ ผมคิดว่าเขาจะมาพร้อมกับกระแสของการสร้างชาติในแบบใหม่
ดังนั้น มันจึงกลายเป็นคำถามและแรงกดดันต่อฝ่ายบริหาร นายก อบจ. ว่าทำไมถึงไม่ทำอย่างโน้นอย่างนี้ คือ คำถามมันจะเป็นตัวสำคัญที่ทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจในการบริหารของ อบจ. ต้องตอบโจทย์มากขึ้น มันมีความใหม่หมดเลย ถ้าเรายังรักษาเส้นทางการเลือกตั้งไว้ได้.