เบรกโครงการ 'เที่ยวไทยวัยเก๋า' สั่ง ททท.ทำรายละเอียดให้ชัด หวั่นรัฐเสียประโยชน์
คกก.กลั่นกรองเงินกู้ฯเบรกเที่ยวไทยวัยเก๋า ชี้โครงการยังขาดความชัดเจน โดยเฉพาะวงเงินที่ใช้สนับสนุนในโครงการ ความเหมาะสมของราคาแพ็คเกจทัวร์ หวั่นรัฐเสียระโยชน์เงินตกบริษัททัวร์มากเกินไป สั่งททท.ทบทวน ก่อนมาเสนออีกครั้ง ในเดือนม.ค.64
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน ได้สั่งให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ไปเร่งหาข้อสรุปของโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋า กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นโครงการใหม่ที่ต้องการกระตุ้นกลุ่มคนสูงวัย อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปให้เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงวันธรรมดาให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะในขั้นตอนการดำเนินงาน เมื่อได้ข้อสรุปก็ให้มาเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบ เพื่อให้สามารถเริ่มต้นทำโครงการได้ตั้งแต่เดือนม.ค.64 เป็นต้นไป
ทั้งนี้จากการพิจารณา คณะกรรมการฯ เห็นว่า โครงการยังขาดความชัดเจนในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ทั้งวิธีการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของภาครัฐว่าจะจ่ายให้ผู้รับสิทธิ์ โดยต้องจ่ายเงินค่าแพ็คเกจทัวร์ เต็มจำนวนแล้วค่อยไปขอรับคืนภายหลัง หรือจ่ายให้แก่บริษัทนำเที่ยวโดยตรง รวมทั้งความเหมาะสมของราคาแพ็คเกจทัวร์ขั้นต่ำที่มีการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีความเหมาะสม พร้อมกับแนวทางการดำเนินงานที่จะสนับสนุนให้มีผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวสามารถเข้าร่วมเสนอโปรแกรมทัวร์ที่มีคุณภาพให้แก่กลุ่มเป้าหมายได้ทั่วถึง และเท่าเทียม และหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการด้วย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาข้อเสนอโครงการแล้วมีข้อสังเกตว่า การกำหนดให้บริษัทนำเที่ยวสามารถรับนักท่องเที่ยวได้บริษัทละ 3,000 ราย ในขณะที่ภาครัฐจะสนับสนุนค่าแพ็คเกจท่องเที่ยวสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทต่อราย จะทำให้บริษัทนำเที่ยวได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐสูงสุด 15 ล้านบาทต่อบริษัท ซึ่งเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูง เพราะเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริง พบว่า บริษัทนำเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอี
อีกทั้งราคาแพ็คเกจทัวร์เริ่มต้นขั้นต่ำ 12,500 บาท ยังอาจจะก่อให้เกิดกิจกรรมการใช้จ่ายเงินที่ไม่เหมาะสมและไม่คุ้มค่าในการใช้จ่ายจากเงินกู้ เช่น พักโรงแรม ระดับ 5 ดาว ใช้บริการสปา และกิจกรรมตีกอล์ฟ และอาจทำให้เกิดข้อจำกัดสำหรับแพ็คเกจท่องเที่ยวในจังหวัดเล็กๆ และไม่ได้เดินทางด้วยเครื่องบิน และจะทำให้ไม่ก่อให้เกิดการกระจายตัวของการท่องเที่ยว จึงอยากให้มีการคำนึงถึงความคุ้มค่าและความเหมาะสมของวงเงินค่าใช้จ่ายขั้นต่ำที่ใช้ด้วย
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่า หากเป้าหมายของโครงการฯ เป็นการกระตุ้นให้กลุ่มผู้สูงวัยที่มีรายได้สูงมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว หรือเป็นผู้สูงวัยที่ได้รับสิทธิ์ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันแล้ว ควรพิจารณาแนวทางอื่นที่ไม่เป็นภาระเงินกู้ตามพ.ร.ก. เช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษี อีกทั้งยังควรพิจารณาปรับรูปแบบและวิธีการดำเนินโครงการให้มีทางเลือกมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวในรูปแบบแพ็คเกจการท่องเที่ยวสำเร็จรูปที่คำนึงถึงการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ที่เป็นการท่องเที่ยวกลุ่มเล็กเฉพาะครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่เหมาะสมให้กับผู้จัดโปรแกรมที่อาจเป็นได้ทั้งผู้ประกอบการโรงแรม เจ้าของโฮมสเตย์ ผู้ประกอบการขนส่ง และบริษัทนำเที่ยว