"ส้ม" ผลไม้อาบยาพิษ ที่ไม่เคยได้มาตรฐาน

"ส้ม" ผลไม้อาบยาพิษ ที่ไม่เคยได้มาตรฐาน

ส้ม เป็นผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างมากที่สุด ไม่ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย แต่ก็ขายดิบขายดี จึงมีการเรียกร้องให้ลดการใช้สารเคมี และคัดกรองส้มจากแหล่งที่ปลอดภัยก่อนถึงมือผู้บริโภค

"จริงๆ แล้วชอบทานผักผลไม้ทุกชนิด แต่ส้มจะพิเศษหน่อย คั้นออกมาแล้ว มันสดชื่น ชื่นใจ ส้มติดอันดับต้นๆ ที่มีสารเคมีปนเปื้อน เราในฐานะผู้บริโภคก็พยายามเลือก ด้วยการซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่เราไว้ใจได้มากที่สุด ส่วนส้มอินทรีย์ในประเทศไทยนั้นรับรองด้วยมาตรฐานอะไร เรามีข้อสงสัยมาโดยตลอด แต่ก็พยายามเลือกที่มันเลวร้ายน้อยที่สุด" 

เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดง ซึ่งครั้งนี้ขอพูดแทนผู้บริโภค ในการเสวนา ‘เปลี่ยนส้มอมพิษเป็นส้มปลอดภัย’ งาน ‘หยุดส้มอมพิษ (Orange Spike)’ ที่จัดโดย ภาคีเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :  'ผักผลไม้'ที่มีสารพิษตกค้าง 100 เปอร์เซ็นต์ : องุ่นนำเข้า พุทราจีน พริก ขึ้นฉ่าย

ในงานมีกิจกรรม ‘หยุดส้มอมพิษ (Orange Spike)’ ตั้งแต่ต้นทาง กระตุ้นให้ผู้บริโภค แสดงสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูล และให้ผู้บริหารซูเปอร์มาร์เก็ต มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ติด QR Code เพื่อบอกว่า ส้มที่ขายไม่มีสารพิษ ผลักดันผู้ปลูกลดการใช้สารเคมี และผู้จำหน่ายคัดกรองส้มจากแหล่งที่ปลอดภัย วอนรัฐมีมาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์ส้มทุกประเภท

  • เริ่มที่ตัวเราก่อน

"ต้องเล่าก่อนว่า เราเคยทำงานของตัวเอง Little Forest ปลูกป่าที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ ตั้งใจว่าจะดูแลต้นไม้ให้เติบโตอย่างน้อย 3 ปี ระหว่างที่ปลูกก็ให้คนละแวกนั้นมาช่วยกันปลูก เขาทำสวนส้ม เลยมีโอกาสได้คุยกัน เขาบอกว่าปี 2559 ผลผลิตต่ำมาก มีภัยแล้ง เราก็ให้นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ร่วมกับเรา เข้าไปวิจัยวิเคราะห์ให้ว่า ทำไมถึงไม่ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ

160768739690 เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ 

 

ปรากฏว่านอกเหนือจากแห้งแล้ง ก็ยังมีเรื่องสารเคมีด้วย เราก็พยายามผลักดันให้เขาปลูกแบบออร์แกนิค เขาจะได้ผลผลิตสูงขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น แล้วมาช่วยดูแลรักษาป่า รักษาต้นไม้ รักษาต้นน้ำ เราได้ไปสร้างฝายให้เขามีน้ำใช้ด้วย" เชอรี่ กล่าวถึงสิ่งที่ตัวเองได้ทำ แต่เกษตรกรบอกว่า การลดใช้สารเคมีเป็นสิ่งที่ดี แต่ฆ่าแมลงไม่ได้

"ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยาฆ่าแมลงที่เป็นออร์แกนิคไม่สามารถฆ่าได้มากพอ ไม่ถึง 80% สุดท้ายต้องใช้สารเคมีอยู่ดี อาจารย์ในทีมก็แนะนำว่าให้ ลดสารเคมีลงมา ถ้าได้ถึงระดับ 0.1% ก็จะได้มาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับได้ ในตอนนี้มีบางพื้นที่เท่านั้นที่ปลูกแบบนี้ เราอยากจะให้มีหลายๆ พื้นที่ปลูกแบบนี้ได้จริงๆ"

  • ซุปเปอร์มาร์เก็ต กลไกสำคัญ

"จากการสุ่มตรวจ ตรวจทุกปี เจอทุกปี เก็บ 10 ตัวอย่างก็เจอทั้ง 10 ตัวอย่าง ที่เกินค่ามาตรฐาน ส้มเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง มีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ ผู้ซื้อรายใหญ่ คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต ต้องแสดงความจริงใจโปร่งใส ตรวจสอบ ว่าฟาร์มอยู่ที่ไหน ใช้สารเคมีอะไรบ้าง

ผู้บริโภคจะได้รู้ว่าความปลอดภัยเป็นอย่างนี้นะ ถ้าผู้บริโภคเรียกร้องอยากทราบที่มาของอาหารที่ซื้อไปบริโภคอย่างจริงจังจะผลักดันให้เราได้กินอาหารที่ดีขึ้น" กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวถึงการทำงานที่ผ่านมา ทางด้านซูเปอร์มาร์เก็ตเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ

160768758534 จุฑารัตน์ พัฒนาทร, เชอรี เข็มอัปสร, นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, มร.จูเซปเป บูชินี, กิ่งกร นรินทรกุล, อารยา เผ่าเหลืองทอง, ฐานิตา วงศ์ประเสริฐ

"เรากินยังไง เราก็เลือกอย่างนั้น เพราะหมวกใบหนึ่ง เราก็เป็นผู้บริโภคเหมือนกัน ถ้าเราไม่ได้คัดเลือก ก็เหมือนเราให้ยาพิษกับผู้บริโภค แม็คโครขายส้มได้ 8,000 กว่าตันต่อปี เราดำเนินการกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนร่วมกันพัฒนาเรื่องส้มเข้าปีที่ 6 แล้ว มีการคุมเข้ม ตรวจสอบ ค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL)

มีการใช้มาตรฐาน ISO 17025 ตรวจสอบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ วงจรชีวิต(Lifecycle)ของส้มตั้งแต่ออกดอกจนเก็บเกี่ยว มีกระบวนการใช้ยามากน้อยแตกต่างกัน ความปลอดภัย 100 % เป็นอย่างไร มีการส่งไปตรวจที่เยอรมัน เพราะที่นั่นเป็นแล็บที่ได้รับการรับรอง"

จุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด กล่าวถึงการทำงานของบริษัท ขณะที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตอีกแห่งก็ลงลึกถึงเกษตรกรและแหล่งที่ปลูก เช่นเดียวกัน

"ในท็อปส์ มีนโยบายชัดเจนว่า เราจะให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลและแหล่งที่มาของอาหาร ได้รับอาหารที่ปลอดภัย เราพัฒนาฟาร์ม พัฒนาวิสาหกิจชุมชน ซึ่งผู้ปลูกรายใหญ่คัดเลือกผลผลิตมาให้เราเป็นอย่างดี แหล่งส้มของเราคือเชียงใหม่ เราได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไปให้ความรู้แก่ผู้ปลูก ควบคุมเรื่องสารเคมี

สิ่งที่จะมาขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ต้องได้รับการรับรอง ฟาร์มก็ต้องได้รับการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices  หรือ GAP) เราได้ร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) จัดทำ QR Code ในโปรดักส์ สามารถสแกนสินค้าได้ว่า มีแหล่งที่มาจากที่ไหน มีการบรรจุที่ไหน เราให้ความสำคัญตรงนี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี

มีเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 100 รายขึ้นทะเบียนกับเราในการจัดทำ QR Code และมี QA เข้าไปตรวจฟาร์ม กำกับดูแล ลงทะเบียนเรือกสวน เราพยายามหาส้มอินทรีย์ เพื่อเกษตรกรที่ปลูกส้มอินทรีย์จะมีรายได้ดีๆ พยายามปลูกฝังเรื่องกำหนดการใช้ยาฆ่าแมลง" อารยา เผ่าเหลืองทอง ฝ่ายรับรองคุณภาพ (AVP Quality Assurances) บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด กล่าวถึงสิ่งที่บริษัทได้ดำเนินการ

  • หยุด ‘ส้ม’ อมพิษ

"สารพิษปนเปื้อนมีอันตรายมากมาย เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายต้องช่วยกัน คนไทยเสียชีวิตเรื่องนี้เป็นอันดับหนึ่งต่อเนื่องมากว่า 15 ปี ปีหนึ่ง 85,000 คน และมีคนไข้รายใหม่ปีละ 120,000 คน

สารเคมีก่อให้เกิดโรคมากมาย เข้าไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ, ฮอร์โมน, เอนไซม์ต่างๆ ทำลายจุลินทรีย์มีประโยชน์ที่จะมาย่อยอาหาร ที่จะมาสร้างภูมิคุ้มกัน สารพัดโรคเชื่อมโยงมาจากสารเคมี 

แม้กระทั่งเด็กในท้องก็ยังตรวจพบเจอสารเคมี จากเลือดที่เจาะจากสายสะดือหรือน้ำคร่ำ สารเคมีแพร่กระจายไปทั่ว เป็นภัยคุกคาม ภัยเงียบ ทำให้ตายผ่อนส่ง

การรักษาโรคในปัจจุบันมีกระแสกินยาน้อยลง ใช้ผักผลไม้เป็นยามากขึ้น หรือเอามาปั่นให้ได้เอนไซม์วิตามินเพียงพอต่อการเยียวยา" ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน

     การตรวจสอบย้อนหลังได้ จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด อีกทั้งเป็นเรื่องง่ายในการให้ความรู้ผู้บริโภคผ่านการสแกน QR Code ปีที่แล้ว ซื้อสารเคมีไปเท่าไร ปีนี้เท่าไร ที่สำคัญผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะดูแลตัวเอง

     ฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) กล่าวว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค บัญญัติไว้ 5 ประการ คือ 1.สิทธิ์ทีจะเข้าถึงข้อมูลของสินค้าและบริการ 2.สิทธิ์ที่จะเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย 3.สิทธิ์ที่ได้รับความเป็นธรรม 4.สิทธิ์ที่จะได้เลือกซื้อเลือกใช้สินค้าอาหาร 5.กรณีมีการละเมิดสิทธิ์ ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องให้ชดเชยค่าเสียหายได้ 

160768760997 ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ, ฐานิตา วงศ์ประเสริฐ

    อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มี 3 อย่างที่ผู้บริโภคสามารถทำได้เลย คือ 1.ตั้งคำถามก่อนที่เราจะกิน 2.หาคำตอบด้วยการสแกน QR Code และ 3.ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 4 ห้าง ติด QR Code ที่ครบถ้วนถูกต้องและต้องมีข้อมูลที่อัพเดทสม่ำเสมอดูได้ที่  www.dearconsumers.com/th/petition ในแคมเปญ ‘ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumer)’ 

"ไม่เฉพาะส้มอย่างเดียว เราอาจจะเคยเห็นข่าวในภาคเหนือใช้สารเคมี แล้วคนในหมู่บ้านมีอัตราการเป็นมะเร็งสูงมาก หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย มันสะสม ที่บอกว่าเป็นสัดส่วนที่รับได้ ร่างกายเรามันรับได้แค่ไหน ธรรมชาติก็เหมือนกันค่ะ

สารเคมีที่ใช้ปนเปื้อนไปกับน้ำ กับดิน น้ำไหลไปที่ไหน มันก็ไปที่นั่น ในระยะยาวทำให้ดินเสีย ปลูกอะไรก็ยาก มันกระทบกับสิ่งแวดล้อม ก็งงว่า มันไม่น่าจะเป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภคที่ต้องมีความใส่ใจมากยิ่งขึ้น และออกมาเรียกร้อง ศูนย์การค้าเองก็ออกมาเคลื่อนไหวทำสิ่งที่ตัวเองทำได้" เชอรี่ กล่าวและมองว่า 

"ภาครัฐน่าจะเข้ามาสนับสนุนด้วย ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง เราอาจจะยินดีจ่ายแพงขึ้น ถ้าเรามั่นใจว่าสินค้านั้นๆ ผลผลิตนั้นๆ ปลอดสารจริงๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถซื้ออาหารแพงได้ อยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาช่วยเหลือตรงนี้ ให้งบประมาณสนับสนุนการทำวิจัยเพิ่มมากขึ้น ทำยังไงให้มันได้ผล 100% ให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น" เชอรี่-เข็มอัปสร 'นักอนุรักษ์' ที่มีใจเกินร้อย

  ส่วนคุณหมอปัตพงษ์ บอกว่า กระบวนการที่ทำให้ส้มปลอดสาร มีความเป็นไปได้ ในต่างประเทศก็ทำให้เห็นแล้ว 

       "เมืองไทยก็สามารถทำได้ ต้องร่วมกันรณรงค์ เผยแพร่ รวมกลุ่ม ประการแรก บำรุงดินให้แข็งแรงด้วยอินทรีย์สารต่างๆ จะทำให้พืชแข็งแรง 2.ไม่ปลูกพืชอย่างเดียวต้องปลูกแบบผสมผสาน จะป้องกันแมลงได้ เนื่องจากพืชชนิดหนึ่งส่งกลิ่นให้กับพืชอีกชนิดหนึ่ง 3.ใช้สารจากธรรมชาติ เช่น สะเดา กำจัดแมลง เราต้องชูเกษตรกรที่มีความรู้หรือปราชญ์ชาวบ้านออกมาให้ความรู้ผ่านยูทูบ เฟซบุ๊ค โดยไม่ต้องพึ่งพาจากตำราเสมอไป"