กระทรวงเกษตรฯ ลดเกณฑ์ 1 ตำบล เข็นเกษตรกรร่วม

กระทรวงเกษตรฯ ลดเกณฑ์ 1 ตำบล เข็นเกษตรกรร่วม

กระทรวงเกษตร ลดเงื่อนไขโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ เล็งเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ทบทวนอีกรอบ หลังเกษตรกรเมินร่วม ลดขนาดพื้นที่ ลดระยะเวลาอบรม พร้อมโยน กรมส่งเสริมการเกษตรดูแล

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงเกษตรฯเปิดให้ เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ วงเงิน วงเงิน 9,805 ล้านบาท รวบ 3 รอบ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พ.ย. 2563) พบว่ามีเกษตรกรสมัครเข้าร่วม 34,019 ราย จากเป้าหมาย 64,144 ราย

ผ่านหลักเกณฑ์พิจารณาแล้ว 21,556 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา 792 ราย และไม่ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณา 11,670 ราย ในส่วนของการจ้างแรงงานมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ 32,239 ราย จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 3.2 หมื่นราย ผ่านการพิจารณาแล้ว 19,996 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา 2,380 ราย และไม่ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณา 9,863 ราย

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่เห็นว่าเพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นจริง จึงเห็นชอบให้เสนอขอทบทวนโครงการฯ ต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพิ่มเติมอีก 3 ข้อ ได้แก่ 1. ขอทบทวนพื้นที่เข้าร่วมโครงการ จาก 3 ไร่ต่อราย เป็น 2.5 ไร่ขึ้นไปต่อราย หรือเป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารโครงการฯ กำหนด

160794472417

2. การอบรมเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จากเดิม หลักสูตร 4 วัน 3 คืน เพียงครั้งเดียว จะขอปรับเป็นการอบรมมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาให้เกษตรกรทำเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยปรับในรูปแบบการจัดเวทีชุมชน การศึกษาดูงาน การแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นต้น หรือเป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารโครงการฯ กำหนด และจากเดิมที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ เปลี่ยนเป็นกรมส่งเสริมการเกษตร

และ 3. กรณีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ (5 กระวาน สืบสาน เกษตรทฤษฎีใหม่) หากพื้นที่ที่ร่วมโครงการขาดแหล่งน้ำ หรือมีแหล่งน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร และมีความประสงค์อยากเข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ กระทรวงเกษตรฯ จะสนับสนุนเฉพาะการขุดบ่อเก็บกักน้ำ เพื่อทำให้เกิดจุดเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ อย่างไรก็ตาม จะนำมติดังกล่าวเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป

160794475127

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรฯเปิดให้เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรจึงปรับลดเงื่อนไข เช่นจะลดระยะเวลาการใช้พื้นที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเป็นศูนย์ขยายผล จากเดิมกำหนดไว้ 7 ปี เหลือ 5 ปี เพราะเกษตรกรจำนวนมาก ระบุว่า 7 ปีนานไป

รวมทั้ง ได้กำชับให้การจัดซื้อจัดจ้าง ให้เป็นแบบกระจาย เพื่อให้มีผู้รับจ้างหลากหลาย ผู้รับจ้างรายสามารถกระจายเงินสู่ชุมชนมากที่สุดตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล เกิดการจ้างงาน รองรับคนที่ตกงานจากโควิด-19 โดยโครงการนี้ จะช่วยฟื้นฟู เศรษฐกิจในระยะสั้น ยังบรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่น ๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นให้มีความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว