อว.โชว์ผลงานต้านโควิด-19
ผ่านไปกว่า 1 ปี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งได้สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ เร่งผลิตวัคซีน อุปกรณ์ เครื่องมือ และนวัตกรรมต่างๆ
ช่วยป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดการนำเข้า พึ่งพาจากเทคโนโลยี วัคซีนจากต่างประเทศ
ล่าสุด กระทรวงอว.ได้แสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นต้านโควิด -19 ตอบรับวิถีชีวิตใหม่ จำนวน 11 โครงการ ได้แก่ 1.การทดสอบวัคซีนโควิด-19 หรือ mRNA ของประเทศไทย ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยขณะนี้กำลังจะทดสอบในมนุษย์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ3-4 เดือนก็น่าจะได้ใช้วัคซีนดังกล่าว 2.วัคซีนจากใบยาสูบ งานวิจัยของ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จํากัด สตาร์ทอัพที่ก่อตั้ง โดยนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ที่วันนี้สามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชได้สําเร็จแล้วในระดับห้องปฏิบัติการ โดยใบพืชดังกล่าวมาจากยาสูบกำลังจะทดลองในมนุษย์ประมาณกลางปี 2564 และหากสำเร็จจะใช้ได้จริงในปลายปี 2564
3.นวัตกรรมชุด PPE ฝีมือคนไทยมาตรฐานสากล โดยผลิตเสื้อกาวน์ที่สามารถซักและใช้ซ้ำได้ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง โดยการพัฒนาผลงานนวัตกรรมชุด PPE (lsolation Gown) รุ่น “เราสู้” ชุดแบบเสื้อคลุมแขนยาวกันน้ําชนิดใช้ซ้ำได้ (Reusable lsolation Gown) เป็นความร่วมมือขององค์กรเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา 4.การศึกษาเบื้องต้น“มองภาพอนาคตประเทศไทย แนวทางการรับมือหลังวิกฤต COVID-19” จัดทำในรูปแบบหนังสือ
5.เครื่องพ่นละอองไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์” นวัตกรรม ฆ่าเชื้อในห้องและอุปกรณ์ ทางการแพทย์ เพื่อความปลอดภัยจาก COVID - 19
6.โครงการ วิจัยพัฒนาชุด นวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อ การป้องกัน ตรวจวินิจฉัย และบําบัดรักษาการติดเชื้อCOVID-19 อาทิ หน้ากากอนามัย WIN-Masks ที่ทําจากผ้าเคลือบสารนาโน ครีมฟ้าทะลายโจร ฆ่าเชื้อจุลชีพ 99.99% ทางเลือกผู้แพ้แอลกอฮอล์ ฯลฯ 7.ชุดผลงานวิจัยนวัตกรรม รับมือโควิด-19 ในด้านการเฝ้าระวังป้องกันการติดเชื้อ 8.โครงการ Science Delivery By NSM เป็นช่องทางการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบออนไลน์ให้เยาวชนได้ใช้เวลาอยู่บ้าน อย่างความสนุกสนานและสร้างสรรค์9.เครื่อง UBU-UVC: Smart Germicidal Irradiation Machine ช่วยลดความเสี่ยง ของการติดเชื้อโรคหรือไวรัส Covid -19 10.หุ่นยนต์โรยละอองยาฆ่าเชื้อ และ 11. University Esports Championship
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวว่าปี 2563 เป็นปีที่กระทรวงอว.ได้ทำงานครบปี และเป็นปีแห่งน่าตื่นเต้น ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปลายปี โดยในส่วนของกระทรวงอว. ได้ให้ความสำคัญการส่งเสริมให้แต่ละหน่วยงานได้ประสานหลอมรวมทั้งภาคอุดมศึกษา สถาบันวิจัย และภาคเอกชนได้ทำงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ได้สร้างผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและการแพทย์
กระทรวงอว.มีคณะแพทยศาสตร์กว่า 20 คณะ มีโรงพยาบาลแพทย์กว่า 20 แห่ง จึงเป็นกำลังสำคัญในการคิดค้นผลิตวัคซีนและนวัตกรรม อุปกรณ์ต่างๆ เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแต่ที่ผ่านมา เป็นการผลิคเทคโนโลยีขั้นต่ำหรือขั้นปานกลาง นวัตกรรมและวัคซีนโควิด-19 จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ไทยว่าสามารถผลิตเทคโนโลยีนวัตกรรมขั้นสูงได้
"ประเทศไทยทำเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมากว่า 100 ปี แต่เป็นเพียงเข้าใจและนำเทคโนโลยีของชาติอื่นมาพัฒนาต่อยอด ดังนั้น ไทยยังมีศักยภาพการผลิต ความรู้ งานวิจัยที่ไปสู่นวัตกรรม เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างจำกัด ซึ่งเทคโนโลยีระดับต่ำหรือปานกลาง ไม่ใช่ไม่ดี แต่หากจะทำให้ประเทศแข่งขันได้ และลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากประเทศอื่นๆ ต้องมีการส่งเสริมงานวิจัยอันนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงอว.พร้อมสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างเต็มที่" รมว.อว.กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.วราภา มหากาญจนกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่ามก.ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอว.ในการจัดทำนวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ในการลดแพร่เชื่อโควิด-19 โดยทางมก.ได้มีพัฒนาหุ่นยนต์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคเป็นการลดความเสี่ยงให้แก่ ผู้ปฏิบัติงานและเพิ่มประสิทธิภาพของการปฎิบัติงานให้รวดเร็ว มากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ปฏิบัติงาน 1 คน ให้คุณภาพการปฏิบัติงานที่สม่ำเสมอ
ทั้งนี้ หุ่นยนต์ดังกล่าวเหมาะสําหรับพื้นที่สาธารณะภายในและ บริเวณโดยรอบอาคาร เช่น ทางเดิน ห้องโถง สํานักงาน พื้นที่ บริเวณนั่งรอ ศูนย์อาหาร โดยเหมาะสมกับการฉีดพ่นที่เป็นกิจวัตร ดําเนินการได้โดยเจ้าของพื้นที่ ใช้รีโมทควบคุมระยะไกล สามารถ ควบคุมผ่านกล้องวงจรปิดไร้สายดูภาพผ่านหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือจอภาพขนาดเล็กได้