'เงินประกันรายได้เกษตรกร' ยังไม่ได้! คำตอบ ธ.ก.ส. และความคืบหน้าราคาเกษตร
ตรวจสอบ "เงินประกันรายได้เกษตรกร" ยังไม่ได้ มีคำตอบ ธ.ก.ส. และความคืบหน้าราคาเกษตร
ติดตามจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล (5 ม.ค. 2564) กรณี โครงการประกันรายได้เกษตรกร หรือ "เงินประกันรายได้เกษตรกร"
กรณีเกษตรกรบางรายยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ หรือ "เงินประกันรายได้เกษตรกร" ได้สอบถามผ่านเพจเฟซบุ๊คของ ธนาคารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. baacthailand ได้คำตอบว่า เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการรับการสนับสนุนตามโครงการรัฐโดยเช็คดูก่อนได้ว่า ธ.ก.ส.โอนให้แล้วหรือไม่ เพียงกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักที่ลิงค์ https://chongkho.inbaac.com/ หรือแนะนำลูกค้าติดต่อสอบถามที่เกษตรอำเภอ เช็คในแอปพลิเคชั่น A-Mobile หรือติดต่อสอบถามได้ที่ ธ.ก.ส. ในพื้นที่
ก่อนหน้านี้ เลขานุการ กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร แนะรัฐควรวางมาตรการชดเชยเงินส่วนต่างตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรให้ชัดเจน พร้อมหาหน่วยงานดูแลระบบที่เป็นธรรม
นายสุชาติ ภิญโญ เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา เกี่ยวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 ของรัฐบาล โดยระบุว่า การช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องราคาข้าวนั้นถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปีเมื่อราคาข้าวตกต่ำ รัฐบาลจึงมีโครงการประกันราคาข้าวเปลือก 5 ชนิด ได้แก่ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้าข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว
ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากปัจจุบันชาวนาใช้รถเกี่ยวข้าวทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งปัญหาราคาข้าวที่ต่ำกว่ามาตรฐานเพราะชาวนาต้องเร่งขายข้าวที่ยังมีความชื้นสูงเพื่อนำเงินมาจ่ายค่ารถเกี่ยวข้าว สำหรับโครงการชดเชยเงินส่วนต่างของชาวนาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เกิดความล่าช้าจนทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในจำนวนเงินชดเชยที่จะได้รับนั้น รัฐควรหาแนวทางและมาตรการชดเชยที่ชัดเจนเพื่อช่วยเหลือประชาชน
ขณะนี้ กมธ.ได้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องราคาข้าวรวมถึงระบบของการซื้อขายข้าวว่าได้รับการดูแลที่ถูกต้องหรือไม่ อาทิ เรื่องความชื้นของข้าวที่พ่อค้าเป็นผู้พิจารณา จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลในส่วนนี้ อย่างเช่นระบบการซื้อขายอ้อยที่มีสมาคมชาวไร่อ้อยที่เข้าไปดูแลเรื่องความหวานของอ้อย ทั้งนี้ กมธ.มีแผนจะลงพื้นที่เข้าไปศึกษาปัญหาราคาข้าวในช่วงกลางเดือนมกราคมปี 2564 แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จึงต้องมีการหารือในที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อสรุปแนวทางในการลงพื้นที่ต่อไป
ขณะที่ ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนมกราคม 2564 เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2563 ชี้การระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนมกราคม 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มขึ้น ด้านน้ำตาลทรายดิบ ยางพาราดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มปรับราคาลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมกราคม 2564 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,542 -8,865 บาท/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.20 - 6.07 เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลก อาจทำให้มีความต้องการข้าวขาวจากไทยเพิ่มขึ้น
ข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่ราคา 11,683 -11,726 บาท/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 5.38 - 5.76 เนื่องจากภาครัฐมีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยวงเงินสินเชื่อต่อตันของข้าวเปลือกหอมมะลิใกล้เคียงกับราคาตลาด และเกษตรกรได้ผลประโยชน์หากเก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเองจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท
ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 10,325 - 10,651 บาท/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.03 - 3.19 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง
และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.91 - 7.99 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 - 1.50 เนื่องจากสิ้นสุดช่วงเก็บเกี่ยวข้าวโพดฤดูฝนในเดือนมกราคม ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของการส่งออกเนื้อสัตว์
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ น้ำตาลทรายดิบนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 13.79 - 14.22 เซนต์/ปอนด์ (9.19 - 948 บาท/กก.) ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.50 - 4.50 เนื่องจากคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลของประเทศบราซิลจะเพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับความแห้งแล้ง ประกอบกับรัฐบาลอินเดียประกาศนโยบายอุดหนุนผู้ผลิตน้ำตาลของอินเดียเพื่อส่งออกมากถึง 6 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้สต็อกน้ำตาลของโลกปรับตัวเพิ่มมากขึ้น ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 56.85 –57.15 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.10 – 0.63 เนื่องจากปริมาณสต็อกยางพาราของประเทศจีนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาตลาดล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวลดลงและค่าเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายางพาราอาจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการถุงมือยางเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.00 - 2.06 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.48 – 3.38 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุด ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังปี 2564 ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2564 มีประมาณ 18.47 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 61.81 ของผลผลิตทั้งปีการผลิต ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.80 - 6.95 บาท/กก. ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.57 - 2.72 เนื่องจากความต้องการปาล์มน้ำมันเพื่อนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลที่คาดว่าจะลดลง จากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ภายในประเทศที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานเพื่อการเดินทางขนส่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ลดลง
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ คาดว่าราคากลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ สุกร ราคาอยู่ที่ 68.83 - 70.00 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.86 –2.52 เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลงในแหล่งผลิตสุกรที่สำคัญ อาทิ จังหวัดราชบุรี และเชียงใหม่ ส่งผลให้ผลผลิตสุกรออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้บางจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงเริ่มมีมาตรการล็อคดาวน์ซึ่งอาจทำให้ความต้องการเนื้อสุกรของร้านอาหารและธุรกิจการท่องเที่ยวลดลง และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 140.00 – 145.00 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 3.97 – 7.28 เนื่องจากสถานการณ์แพกุ้งจังหวัดสมุทรสาครปิดล็อคดาวน์
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ผู้เลี้ยงกุ้งจำเป็นต้องหาแหล่งระบายผลผลิต ทำให้มีโอกาสถูกกดราคารับซื้อ ประกอบกับความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของอาหารทะเลอาจส่งผลให้ความต้องการในตลาดลดลง
ตรวจสอบเช็คเงินประกันรายได้เกษตรกร ได้ที่ https://chongkho.inbaac.com/
หากยังไม่ได้เงินประกันรายได้เกษตรกร ติดต่อ ธ.ก.ส. ได้ดังนี้
- ติดต่อสำนักงานสาขาธนาคาร ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ เวลาทำการ จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 15.30 น.
- ธ.ก.ส. Call Center 0-2555-0555 บริการ 24 ชั่วโมง ทุกวัน
ศุนย์บริการลูกค้า 1593 บริการ ในวันและเวลาทำการ
สำนักงานใหญ่ 0-2558-6555
- E-mail : [email protected]
Website : www.baac.or.th
Facebook : Facebook ธ.ก.ส. บริการด้วยใจ