อัพเดท! 'หมอชนะ' เข้าถึง 'ข้อมูลส่วนบุคคล' อะไรบ้าง?
อัพเดทล่าสุด! แอพพลิเคชั่น "หมอชนะ" เวอร์ชั่นปัจจุบัน (4 ม.ค. 64) ขออนุญาตเข้าถึง "ข้อมูลส่วนบุคคล" อะไรบ้าง หลังเกิดกระแสกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน และมีการแชร์ข้อมูลเก่าเมื่อปีที่แล้ว
หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ประกาศขอความร่วมมือให้ประชาชนให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น "หมอชนะ" เพื่อความสะดวกในการติดตามข้อมูลการเดินทางของประชาชนในกรณีที่ติดเชื้อ และหากผู้ป่วยที่มีสมาร์ทโฟนรองรับ แต่ไม่ได้ดาวน์โหลดแอพหมอชนะและปกปิดข้อมูลจะถือว่ามีความผิด ทำให้คนไทยจำนวนมากกลับมาให้ความสนใจแอพ หมอชนะ กันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม กระแสตื่นตัวนี้มาพร้อมกับความตื่นตระหนก เนื่องจากหลายคนหวั่นเกรงว่า แอพพลิเคชั่นดังกล่าวอาจเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลมากเกินความจำเป็นหรือไม่
นอกจากนี้ ในโลกออนไลน์ยังมีการแชร์อินโฟกราฟฟิกจากรายงานที่กรุงเทพธุรกิจเผยแพร่เมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว ชื่อ รู้ยัง ‘หมอชนะ/MorChana’ ชนะเลิศ! เรื่องเข้าถึง ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ ซึ่งอ้างอิงจากผลการวิจัยชื่อ "Privacy Sweep" เกี่ยวกับ "แอพพลิเคชั่นมือถือติดตามพลเมือง" ใน 6 ประเทศอาเซียนรวมถึงไทย เมื่อเดือน พ.ค. 2563 ที่จัดทำโดย ดาต้า โปรเทคชัน เอ็กเซลเลนซ์ (Data Protection Excellence) หรือ DPEX เครือข่ายด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์
ขณะนั้น ผลวิจัยดังกล่าวซึ่งอิงจากการขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลของแอพหมอชนะ เวอร์ชั่น 1.4 (19 เม.ย. 2563) พบว่า หมอชนะเป็นแอพพลิเคชั่นติดตามพลเมืองที่ขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลมากที่สุด เมื่อเทียบกับแอพของเพื่อนบ้านอีก 5 ประเทศ
นอกจากนี้ยังพบว่า หมอชนะขออนุญาตเข้าถึงส่วนต่าง ๆ ในมือถือของผู้ใช้ ตั้งแต่ กล้องถ่ายรูป, ประวัติการใช้งานอุปกรณ์และแอพ, ตำแหน่งผู้ใช้, ไมโครโฟน, คลังรูปภาพ/คลิป/ไฟล์อื่น ๆ, พื้นที่เก็บข้อมูล และข้อมูลการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือ Wi-Fi
อย่างไรก็ตาม หมอชนะ เวอร์ชั่น 2.0.1 (4 ม.ค. 2564) มีการปรับเปลี่ยนเรื่องการขออนุญาตเข้าถึงและการจัดเก็บข้อมูลแล้ว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปอัพเดทข้อมูลกันอีกครั้งว่า เวอร์ชั่นปัจจุบันมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง
จากการตรวจสอบ "สิทธิ์ของแอพ" ในการขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลของหมอชนะ เวอร์ชั่น 2.0.1 ที่ระบุบนหน้าดาวน์โหลดแอพบน Google Play Store พบว่า มีความเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก โดยหัวข้อเดียวที่หายไปจากเวอร์ชั่นเมื่อปีที่แล้วคือ Record audio หรือการขออนุญาตเข้าถึงไมค์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว
ส่วนหัวข้ออื่น ๆ ที่แอพหมอชนะเคยขออนุญาตเข้าถึงในเวอร์ชั่นเก่าเมื่อปีที่แล้วก็ยังคงมีอยู่ เช่น กล้องถ่ายรูป, ประวัติการใช้งานอุปกรณ์และแอพ (เวอร์ชั่นนี้ใช้คำว่า เรียกแอพพลิเคชั่นที่ทำงานอยู่), ตำแหน่งผู้ใช้, คลังรูปภาพ/คลิป/ไฟล์อื่น ๆ, พื้นที่เก็บข้อมูล และข้อมูลการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สาย (เวอร์ชั่นนี้ใช้คำว่า ดูการเชื่อมต่อเครือข่าย)
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ค หมอชนะ โพสต์ชี้แจงเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ว่า แอพหมอชนะเวอร์ชั่นปัจจุบัน ขออนุญาตเข้าถึงส่วนต่าง ๆ ของสมาร์ทโฟน เพื่อจุดประสงค์ดังต่อไปนี้
1. กล้อง (Camera)
เพื่อใช้ในการถ่ายรูปของผู้ใช้งาน เพื่อยืนยันว่าแอพนั้นเป็นของผู้ใช้งานจริง และใช้ในการสแกน QR Code ของ ไทยชนะ เพื่อทำการเช็คอินสถานที่
2. ตำแหน่งผู้ใช้ (Location)
เพื่อติดตามเส้นทางของผู้ใช้แอพ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้กรมควบคุมโรคใช้ประกอบในการสืบสวนโรค และใช้ในการค้นหาว่า ผู้ใช้แอพอยู่ในสถานที่เสี่ยงในช่วงวันและเวลา ร่วมกับผู้ติดเชื้อหรือไม่ เพื่อกรมควบคุมโรคจะได้ส่งข้อความแจ้งเตือน
3. คลังรูปภาพ (Picture)
แอพจะเก็บรูปถ่ายของผู้ใช้งานไว้ที่เครื่องของผู้ใช้งานเอง และจะไม่มีการเก็บรูปถ่ายไว้ที่ Server ส่วนกลางของระบบแต่อย่างใด
4. พื้นที่เก็บข้อมูล (Store)
ในกรณีที่มือถือไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแอพพลิเคชั่นจะเก็บข้อมูลเส้นทางการเดินทางไว้ในโทรศัพท์มือถือก่อน เมื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้แล้ว แอพจะส่งข้อมูลไปจัดเก็บที่ระบบส่วนกลาง
ทั้งนี้ ไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ที่อยู่ และอื่น ๆ ในแอพพลิเคชั่นและระบบส่วนกลาง ในทุกกรณี
ส่วนเรื่องความเป็นส่วนตัว แอพหมอชนะไม่ขอข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นชื่อหรือเลขบัตรประชาชน การลงทะเบียนเป็นแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous) และมีการจัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูล ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
เงื่อนไขการจัดเก็บข้อมูลของหมอชนะคือ เมื่อผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 แล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกทำลายทิ้งทันทีอีกทั้งการโค้ดแอพยังมีลักษณะเป็น โอเพ่นซอร์ส (Open Source) เพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และง่ายต่อการส่งต่อไปยังระบบอื่น ๆ เพื่อขยายผลต่อไปอีกด้วย
สำหรับแอพ หมอชนะ ถือกำเนิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐนำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. และกระทรวงสาธารณสุข กับภาคเอกชน นำโดยกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ภายใต้ชื่อ "Code for Public" และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์