“อุทยานฯอ่าวสยาม” สมบัติชิ้นใหม่ของประจวบฯ

“อุทยานฯอ่าวสยาม” สมบัติชิ้นใหม่ของประจวบฯ

เปิดกรุสมบัติล้ำค่านามว่า "อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม" อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่อยู่ใต้สุดของภาคกลางที่มีทั้งป่าและทะเล เป็นทั้ง "จุดกางเต็นท์" และเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของ "ประจวบคีรีขันธ์"

ในสารบบอุทยานแห่งชาติของไทยตอนนี้มีอุทยานแห่งชาติอยู่ 155 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ มีอุทยานแห่งชาติที่กำลังเตรียมการประกาศหรืออยู่ในช่วงการจัดตั้ง 21 แห่ง ภาคเหนือมี 14 แห่ง คือ อช.ดอยเวียงผา, อช.น้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี, อช.แม่โถ, อช.ออบขาน, อช.น้ำตกพาจริญ, อช.ดอยสอยมาลัย, อช.นันทบุรี, อช.แควน้อย, อช.แม่เงา, อช.แม่สะเรียง(แม่ยวมฝั่งซ้าย), อช.เขลางค์บรรพต, อช.ถ้ำผาไท, อช.ภูชี้ฟ้า และ อช.ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน  ในภาคอีสาน มี 2 แห่ง คือ อช.นายูง-น้ำโสม และ อช.ภูหินจอมธาตุ-ภูพระบาท ภาคใต้มี 4 แห่งคือ อช.หาดขนอม-ทะเลใต้, อช.น้ำตกชีโป, อช.อ่าวมะนาว-เขาตันหยง และ อช.สันกาลาคีรี ส่วนภาคกลางมี อช.อ่าวสยามที่เดียว

อุทยานแห่งชาติที่กำลังเตรียมการ ก็คือยังไม่เป็นอุทยานแห่งชาติอย่างสมบูรณ์แบบ คือ ถ้าสมบูรณ์แบบก็จะต้องมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะต้องมีการกำหนดพื้นที่ว่าตรงไหนที่เป็นอุทยานแห่งชาติมีแผนที่แนบท้ายเสร็จสรรพ แต่ถ้ายังไม่ประกาศ ก็แสดงว่าหลักเกณฑ์เงื่อนไขทั้งหลายยังไม่เรียบร้อย ผลก็คืออุทยานแห่งชาติเหล่านี้จึงยังไม่ได้งบประมาณมาเป็นของตนเองในการบริหารงาน ยังต้องไปแปะกับงบประมาณส่วนกลางอยู่ก่อน เวลาเราไปถึงยังไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม บ้านพักอะไรก็ยังไม่มี สิ่งอำนวยความสะดวกอะไรก็อาจจะยังไม่ค่อยพร้อม เวลาจะสร้างจะทำอะไรก็ต้องทำโครงการไปขอเงินจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ต้นสังกัด ทีนี้ส่วนภาคกลาง ตอนนี้มี “อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม” ที่เดียวที่กำลังดำเนินการจัดตั้ง

161015720891

1610157208100

161015720868

“อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม” แห่งนี้ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติอยู่ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นภาคกลางที่จะเข้าเขตชุมพรอยู่แล้ว จึงเรียกได้ว่าเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่อยู่ใต้สุดของภาคกลาง อุทยานแห่งชาติแห่งนี้เป็นการควบรวมระหว่างวนอุทยานสองแห่งคือวนอุทยานป่ากลางอ่าวและวนอุทยานแม่รำพึง แค่ชื่อท่านผู้อ่านคงพอเห็นภาพว่าอุทยานนี้จะมีจุดเด่นสองส่วนคือมีทั้งป่าและมีทั้งทะเล คือวนอุทยานป่ากลวงอ่าวนั้นจะเป็นพื้นที่ป่าบนบกที่สมบูรณ์มากเป็นป่าดงดิบแล้ง พืชเด่นมากๆ คือต้นยางนา ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นป่ายางนาที่ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ พื้นที่ตรงนี้เป็นบริเวณ 1,258 ไร่ แล้วกลุ่มป่ายางนานี่แหละครับที่เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม

เวลาท่านผู้อ่านมาบางสะพาน พอแยกมาจากถนนเพชรเกษม เข้าไปทางอำเภอบางสะพาน เลยไฟแดงไปแล้วเลี้ยวขวาไปทางหาดสมบูรณ์ ราว 2 กิโลเมตรจากตลาดบางสะพาน หรือถ้ามาจากหาดบ้านกรูด ขับมาตามทางสายรองสายบ้านกรูด-บางสะพานมาจนสุดทางถึงที่ทำการอุทยานฯเลย ที่นี่เขามีที่กางเต็นท์บรรยากาศร่มรื่น  มากางเต็นท์ได้ ตอนนี้ยังไม่เสียเงินค่าธรรมเนียมด้วย

161015728559

161015728561

161015728449

อีกส่วนคือวนอุทยานแม่รำพึง เนื้อที่ 3,706 ไร่ ส่วนนี้จะเป็นป่าพรุที่สมบูรณ์ มีต้นเสม็ดขาวเป็นพืชหลัก ต้นเสม็ดขาวที่นี่ขึ้นกันหนาแน่น กินพื้นที่เรื่อยไปจนถึงหาดแม่รำพึง  และส่วนที่อยู่ในทะเล เป็นเกาะต่างๆ คือ บน "เกาะทะลุ" ซึ่งเรารู้กันอยู่ว่าบนนั้นมีรีสอร์ตของเอกชนเจ้าเดียว เขาว่าเขามีเอกสารสิทธิ์ อันนี้ก็ต้องไปว่ากันไป ซึ่งก็อาจจะมีก็ได้ แต่บนเกาะทะลุ มันยังมีพื้นที่เหลืออีก ทั้งที่อยู่บนเขา ส่วนที่เป็นปลายแหลม และชายหาดทั้งหมด รวมทั้งกำหนดพื้นน้ำที่ออกมาจากเกาะอีก 300 เมตร เป็นพื้นที่ 2,694 ไร่ แล้วยังมีเกาะสิงห์และเกาะสังข์อีก รัศมีออกมาจากเกาะ 300 เมตรเหมือนกัน เนื้อที่อีก 393 ไร่ รวมเบ็ดเสร็จ อุทยานแห่งชาติอ่าวสยามก็จะมีพื้นที่ราว 8,051 ไร่ ถือว่าเป็นอุทยานแห่งชาติค่อนข้างเล็กทีเดียว ผมเอาแผนที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยามมาให้ดูประกอบจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น  

แต่พื้นที่เล็กๆ ถ้าเราไม่รีบจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ก็จะเสียหายไปเรื่อย พื้นที่ป่าอย่างป่าพรุแม่รำพึงวันดีคืนดี อาจจะมีคนไปวิ่งเต้นจนออกเอกสารสิทธิ์มาจนได โดยที่เจ้าพนักงานที่ดินตอบไม่ได้ว่าทำไมจึงออกเอกสารที่ดินมาได้ ก็เคยเป็นแบบนี้มาหลายที่จนเป็นคดีความกันเยอะแยะไปหมด เป็นปัญหาโลกแตก ที่พื้นที่ที่เราดูแล้วไม่น่าจะออกโฉนดได้ แต่เขาก็มีโฉนดมายืนยัน พื้นที่อุทยานฯบางทีก็มีโฉนดมายืนยัน ต้องฟ้องร้องกันเป็นสิบๆ ปีกว่าจะรู้ผลแพ้ชนะซึ่งส่วนใหญ่ตกกลับมาเป็นของอุทยานฯ ของส่วนรวม

161015732491

161015732473

161015732428

ความโดดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวของ "อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม" นอกจากป่ายางที่น่ามากางเต็นท์ บรรยากาศร่มรื่น และอยู่ใกล้ตลาดแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวใกล้ๆ อย่างอ่าวทองหลาง หรือถ้ำเขาม้าร้อง ส่วนในเขตอุทยานฯก็ที่เกาะทะลุนี่เอง เกาะนี้ได้ขึ้นชื่อว่าน้ำใสมาก ใสจนเหลือเชื่อ ไม่คิดว่าเกาะในทะเลประจวบฯ น้ำจะใสขนาดนี้ แม้จะขึ้นเกาะไม่ได้ (เพราะเป็นพื้นที่เอกชน) แต่บนหาดทรายน่าจะได้ เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ และตรงส่วนปลายเกาะซึ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ ต่อไปเมื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติมีหน่วยพิทักษ์มีอะไรแล้วนักท่องเที่ยวคงมากางเต็นท์กันได้ ตอนนี้บนเกาะก็มีทางเดินขึ้นไปบนเขาเพื่อชมทิวทัศน์ได้แล้ว    และที่นี่มีพืชเฉพาะถิ่นที่หายากเรียกว่า เทียนทะเล ตามในรูปเลย ขึ้นกันดาษดื่นทางปลายเกาะ ส่วนที่ว่าทะลุคือหัวเกาะด้านทิศเหนือ ที่ภูเขาทะลุเป็นรูขนาดใหญ่ แล้วบนเกาะ มีเต่าทะเลขึ้นวางไข่บนเกาะอยู่บ่อยๆ ทางอุทยานฯร่วมกับรีสอร์ต ช่วยกันอนุบาลไข่จนฟักเป็นตัวแล้วจึงปล่อยลงทะเล

ส่วนเกาะสิงห์และเกาะสังข์ เป็นเกาะหินเล็กๆ อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะทะลุ เป็นเกาะหินสองเกาะ ห่างกันเป็นกิโลเหมือนกัน ไม่มีชายหาด แต่มีปะการังน้ำตื้น ผมเคยไปมาเมื่อสัก 20 ปีก่อน ปะการังยังดีอยู่มาก เวลาน้ำลงปะการังจะโผล่ขึ้นมาให้เห็น แต่เห็นว่าเดี๋ยวนี้ปะการังสองเกาะนี้เสียหายไปเยอะแล้ว เพราะเหตุนี้ด้วยกระมัง ที่ทางกรมอุทยานฯเขาถึงอยากจัดตั้งให้เป็นอุทยานฯโดยเร็ว

161015736240

161015736224

161015736235

การเป็นอุทยานแห่งชาตินั้น แน่นอนว่าคนในพื้นที่ ที่เคยทำอะไรได้ตามใจชอบ อาจจะทำไม่ได้ แต่มันจะเป็นหลักประกันว่า สภาพของธรรมชาติ จะถูกดูแลรักษาอย่างดี ดีกว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา เมื่อธรรมชาติดี งานภาคการท่องเที่ยวจะตามมา เรือพาเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร จะคึกคักขึ้น

ก็ขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่ว่าจะเล็งเห็นผลในระยะยาว กินยาวถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน หรือจะรีบกิน รีบโกยกันในเวลานี้ รุ่นเรานี้ แล้วทิ้งธรรมชาติโทรมๆ ไว้ให้ลูกหลานอดสูในในการกระทำของคนรุ่นเรา อุทยานแห่งชาติคือความมั่นคงของธรรมชาติ ให้เขาประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเถอะ ประโยชน์จะเกิดกับบางสะพานอย่างยั่งยืน และแน่นอน...