'เราชนะ' รับเงินเยียวยา 7,000 บาท กดเป็นเงินสดไม่ได้!

'เราชนะ' รับเงินเยียวยา 7,000 บาท กดเป็นเงินสดไม่ได้!

เปิดรายละเอียดเบื้องต้นก่อนแถลง! โครงการ "เราชนะ" ที่จะให้เงิน "เยียวยาโควิด" รอบ 2 จำนวน 3,500 บาท/คน/2 เดือน รวม 7,000 บาทนั้น มีข้อมูลเผยว่าเงินก้อนนี้จะเบิกเป็นเงินสดไม่ได้

วันนี้ (19 ม.ค.64) กระทรวงการคลัง กำลังจะมีการแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการ "เยียวยาโควิด" รอบ 2 ในเวลา 15.00 น. โดยหนึ่งในโครงการสำคัญที่หลายคนตั้งตารอคอยก็คือ "เราชนะ" ที่จะมอบ "เงินเยียวยา" ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย เป็นจำนวน 3,500 บาท/คน ในระยะเวลา 2 เดือน รวมเป็น 7,000 บาท/คน 

ล่าสุด.. มีการเปิดเผยมติจากที่ประชุม ครม.ในช่วงบ่ายโมงวันนี้ เกี่ยวกับรายละเอียดเบื้องต้นของลักษณะการใช้จ่ายเงินจากโครงการ "เราชนะ" ระบุว่า 

"รูปแบบการใช้จ่ายเงินจากโครงการเราชนะ จะไม่สามารถเบิกงินสดได้ โดยต้องนำไปใช้จ่ายผ่านระบบที่กำหนด (คาดว่าจะเป็นแอพฯ เป๋าตัง) เพื่อใช้ชำระค่าสินค้า เครื่องดื่ม อาหาร และบริการต่างๆ แต่ไม่รวมถึง สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาสูบที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

161104928256

ส่วนรายละเอียดที่เจาะลึกลงไปจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรอฟังจากการแถลงของกระทรวงการคลังอีกครั้งในเวลา 15.00 น. ของวันนี้ ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะนำความคืบหน้ามารายงานให้ทราบต่อไป 

อัพเดทล่าสุด.. 19 ม.ค.64 เวลาประมาณ 15.30 น. กระทรวงการคลังมีการแถลงรายละเอียดเจาะลึกเพิ่มเติม ดังนี้

1. "เราชนะ" มอบเงินเยียวยา 7,000 บาท (ม.ค. - มี.ค. 2564)

โครงการ "เราชนะ" จัดทำเพื่อสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย จำนวนประมาณ 31.1 ล้านคน มอบเงินเยียวยา 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวม 7,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ (ตั้งแต่ม.ค. - มี.ค. 2564) ภายใต้กรอบวงเงิน 210,200 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มสนับสนุนเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2564

2. ผู้ได้รับสิทธิจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

- เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
- ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม 
- ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐ
- ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535
- ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
- ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
- ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :   
3. วิธีการรับเงินเยียวยา แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
3.1  กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) รัฐจะโอนเงินให้เลย "ไม่ต้องลงทะเบียน" โอนเป็นรายสัปดาห์ๆ ละครั้ง ทุกวันศุกร์ เริ่มโอนครั้งแรก 5 กุมภาพันธ์ 2564 

3.2 กลุ่มผู้ที่มีแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” (เคยลงทะเบียนคนละครึ่ง,เราเที่ยวด้วยกัน) "ไม่ต้องลงทะเบียน" รัฐจะโอนเงินให้เป็นรายสัปดาห์ๆ ละครั้ง ทุกวันพฤหัสบดี โอนเงินให้ครั้งละ 1,000 บาท กลุ่มนี้สามารถตรวจสอบสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 และจะเริ่มได้รับวงเงินครั้งแรกวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

3.3 กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลในฐานข้อมูลของรัฐใดๆ ทั้งสิ้น "ต้องลงทะเบียนเราชนะ" ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม - 12 กุมภาพันธ์ 2564 ในช่วงเวลา 06.00 – 23.00 น. กลุ่มนี้สามารถตรวจสอบสิทธิได้ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐจะโอนเงินให้เป็นรายสัปดาห์ๆ ละครั้ง ทุกวันพฤหัสบดี โอนเงินครั้งละ 1,000 บาท เริ่มโอนครั้งแรก 18 กุมภาพันธ์ 2564 เช่นกัน

4. การใช้สิทธิ ต้องใช้กับร้านค้าที่ไม่ใช่นิติบุคล

สำหรับการใช้สิทธิในโครงการ "เราชนะ" สามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าในร้านค้าที่ไม่ใช่นิติบุคล เช่น ร้านค้าธงฟ้า ร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง และใช้จ่ายค่าบริการขนส่งส่วนบุคคล เช่น แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก วินมอเตอร์ไซค์ ก็สามารถจ่ายผ่านเราชนะได้เช่นกัน 

5. ให้ใช้สิทธิ "เราชนะ" ได้ถึง 31 พ.ค. 64

แม้ว่าการได้รับเงินเยียวยาจากโครงการเราชนะ ของทั้ง 3 กลุ่มนั้น จะได้รับไม่พร้อมกัน แต่สามารถใช้จ่ายได้ยาวๆ ตั้งแต่ประมาณ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 รวมระยะเวลาของโครงการประมาณ 4 เดือนเศษ

6. ร้านค้าลงทะเบียนร่วมโครงการ "เราชนะ" ได้ 29 ม.ค.นี้

ร้านค้าต่างๆ ก็ต้องมาลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์ม "เราชนะ" เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาจับจ่ายผ่านแอพฯ "เป๋าตัง" และตัวร้านค้าเอง เมื่อลงทะเบียนเราชนะเสร็จแล้ว ก็ต้องลงแอพฯ ถุงเงิน เอาไว้รับเงินจากลูกค้าด้วย โดยร้านค้าสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะผ่าน www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค. - 31 มี.ค. 2564

--------------------------

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, ไทยคู่ฟ้า 

161130334523