'ประกันสังคม มาตรา 33' อดเงิน 'เราชนะ' ตกลงได้เยียวยา อะไรบ้าง?
เช็ค! "ประกันสังคม มาตรา 33" อดได้เงิน "เราชนะ" เนื่องจากไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ของโครงการ แล้วตกลงได้รับการ "เยียวยา" อะไรบ้าง?
ดราม่า "ประกันสังคม มาตรา33" ไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะไม่มีสิทธิได้รับเงิน "เราชนะ" 7,000 บาท เนื่องจากคุณสมบัติไม่อยู่ในเงื่อนไขของโครงการในครั้งนี้ ที่ต้องการช่วยเหลือ "อาชีพอิสระ" "แรงงานนอกระบบ" และ "ผู้มีรายได้น้อย" ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ประกันตนใน "ประกันสังคม มาตรา39" และ "ประกันสังคม มาตรา40"
ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า แล้วคนกลุ่มที่อยู่ใน "ประกันสังคม ม.33" ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบ้าง ในกรณีที่ได้รับผลกระทบจาก "โควิด-19" เช่นเดียวกัน
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงได้รวบรวมมาตราการต่างๆ จากรัฐที่ประกาศออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในประกันสังคม มาตรา33 ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
- เงินเยียวยา กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย "โควิด-19"
ผู้ที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย "โควิด-19" ระลอกที่ 2 ซึ่งเงินเยียวยานี้จะจ่ายให้กับ "ลูกจ้าง" ที่อยู่ใน "ประกันสังคม มาตรา 33" ที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข"
คือต้องเป็น "ลูกจ้าง" ที่ต้องหยุดงานกรณีกักตัวหรือราชการสั่งปิดสถานที่เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างรายวัน โดยจะได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวัง หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว (แล้วแต่กรณี) รวมกันไม่เกิน 90 วัน และถ้าเป็นการหยุดกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด นายจ้างต้องจ่ายเงินให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้าง ก่อนหยุดการจ้างเป็นการชั่วคราว
โดยคำว่า "เหตุสุดวิสัย" ที่ให้มีการ "จ่ายเงินทดแทนได้" หมายถึง ภัยที่เกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนถึงขนาดที่ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือ นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ การกำหนดให้กรณีมีเหตุสุดวิสัยและหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย อันส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 'ว่างงาน' หรือ ‘กักตัว’ จากโควิด-19 รีบขึ้นทะเบียนรับเงิน ‘ประกันสังคม’ ง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอน
- ประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 ต่างกันยังไง 'โควิดรอบใหม่' ได้ 'เยียวยา' อะไรบ้าง?
- เช็คที่นี่! เปิดเงื่อนไข ค่าไฟฟรี ใครได้บ้าง?
- 'เราชนะ' สรุปครบ! โอน 'เงินเยียวยา' ให้กลุ่มไหนบ้าง มีเงื่อนไขสำคัญ ได้เงิน 7,000 บาท เมื่อไหร่
ขั้นตอนการขอรับเงินเยียวยา กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย "โควิด-19" ระลอกที่ 2 ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่ถูกสั่งปิดจากรัฐ จะต้องดำเนินการเพื่อขอรับ "เงินเยียวยา" กับ "นายจ้าง" ตามขั้นตอนเบื้องต้น ดังภาพด้านล่างนี้
นอกจากนี้ "ผู้ประกันตน มาตรา 33" ที่มีรายจ้างยังจะได้รับการ "เยียวยา" หรือ "เงินชดเชย" จากประกันสังคม ในกรณีต่างๆ ดังนี้
- ลดหย่อนเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ลูกจ้าง-นายจ้าง เหลือร้อยละ 3 ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. 64
- กรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินชดเชย 70% ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 200 วัน (จากเดิมได้ร้อยละ 50 ปีละไม่เกิน 180 วัน)
- การว่างงานจากการลาออก ได้รับเงินชดเชย ร้อยละ 45 ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 90 วัน (เดิมอยู่ที่ร้อยละ 30 ไม่เกิน 90 วัน)
ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง)
- โครงการ "คนละครึ่ง"
แม้ "คนละครึ่ง" จะไม่ใช่โครงการที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก "โควิด-19" โดยตรงเสียทีเดียว แต่ "คนละครึ่ง" เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ให้เปิดให้ลูกจ้างที่อยู่ใน "ประกันสังคมมาตรา 33" สามารถร่วมลงทะเบียนช่วงชิงสิทธิได้ทุกครั้งที่มีการเปิดให้ลงทะเบียน
โดยโครงการ "คนละครึ่ง" ภาครัฐจะช่วยจ่าย 50% ในการซื้อสินค้าตามที่โครงการกำหนด และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง แต่ไม่เกิน 300 บาท/คน/วัน (รัฐ 150 เรา 150) และรวมทั้งหมดทั้งมาตรการไม่เกิน 3,500 บาท นอกจากนี้ในแต่ละไม่จำเป็นต้องใช้ให้เต็มวงเงิน 150 บาทก็ได้ ซึ่งระบบจะนำวงเงินที่เหลือไปทบให้ใช้ในวันถัดไปได้
ทั้งนี้ ล่าสุดสิทธิ 1.34 สิทธิของคนละครึ่งเฟส 2 รอบเก็บตกที่เปิดให้ลงทะเบียนในเช้าวันที่ 20 ม.ค. 64 ได้หมดลงหลังจากที่เปิดให้ลงทะเบียน 9 นาที ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอลุ้นว่าหลังจากนี้ยังจะเปิดให้ลงทะเบียน "คนละครึ่ง" ในรอบต่อๆ ไป ที่ผู้อยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 ที่ยังไม่ได้รับสิทธิ สามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายรายวันได้อีกหรือไม่
ข่าวที่น่าสนใจ :
- ส่วนลด ค่าน้ำประปา ค่าไฟ และอินเทอร์เน็ต
สำหรับการเยียวยาด้วยการ "ลดค่าน้ำ" "ลดค่าไฟ" และ "ลดค่าอินเทอร์เน็ต" เป็นโครงการที่ "ประชาชนทุกคน" มีสิทธิได้รับ รวมถึงผู้ที่อยู่ใน "ประกันสังคมมาตรา 33" ด้วย โดยโครงการนี้ไม่มีการให้เงินแบบ "เราชนะ" แต่ละให้ "ส่วน" ค่าบริการต่างๆ เมื่อมีการใช้ตามเงื่อนไข ดังนี้
1. ค่าไฟฟ้า
ลดค่าไฟฟ้า ระยะเวลา 2 เดือน ตามใบแจ้งหนี้ ตั้งแต่ กุมภาพันธ์-มีนาคม2564 ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงการคลังจะชี้แจงรายละเอียดต่อไป
- บ้านที่อยู่อาศัย หากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
- บ้านที่อยู่อาศัย หากใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าตามที่เงื่อนไขกำหนด
- ประเภทกิจการขนาดเล็ก ทั้งนี้ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ให้สิทธิ์ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก
2. ค่าน้ำประปา
ลดค่าน้ำประปาลง 10% เฉพาะบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตามใบแจ้งหนี้ ตั้งแต่กุมภาพันธ์-มีนาคม 2564
3. ค่าอินเทอร์เน็ต
กระทรวงดิจิทัล กสทช. และผู้ประกอบการที่ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่ได้สั่งการให้มีการไปหารือกัน มีมติว่าจะ "เพิ่มความเร็วและความแรงของเน็ตบ้าน มือถือ และลดค่าใช้จ่ายผู้ใช้บริการ" ให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ดียิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนการ WFH และการให้ประชาชนสามารถโลกแอพพลิเคชั่นหมอชนะฟรี ไม่คิดค่าดาต้าเป็นระยะเวลา 3 เดือน