'PTT' ปั้น 'OR' โกยมั่งคั่ง ครั้งใหม่ !
เปิดปฏิบัติการ "PTT" สร้างความมั่งคั่ง ครั้งใหม่ ! หลัง ปตท. ผลักดันหุ้น "OR" เข้าระดมทุน ก.พ.นี้ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ วางกลยุทธ์ 'โออาร์' เรือธงน้ำมันและค้าปลีก พร้อมเปิดเกมรุกวางงบ 5 ปี (25464-2568) เทเงินลงทุนสู่ธุรกิจมาร์จินสูง...
เป็นกระแสฟีเวอร์ (Fever) หุ้น IPO มหาชนแห่งปี !
สำหรับ บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันและค้าปลีก ลูกคนสุดท้องของบริษัทแม่อย่าง บมจ.ปตท.หรือ PTT ผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 75% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้น IPO) กำลังเป็นที่ 'ฮอตฮิต' ในแวดวงนักลงทุนหน้าเก่า-ใหม่ แสดงความต้องการจองซื้อหุ้น IPO อย่างล้นหลาม
ด้วยวัตถุประสงค์ของผู้ถือหุ้นใหญ่ (ปตท.) ต้องการกระจายหุ้น OR สู่นักลงทุนรายย่อยทั่วถึงมากสุด บ่งชี้ผ่านทุกคนมีสิทธิจองหุ้นเริ่มต้น 300 หุ้นขึ้นไป... ทำให้เห็นปรากฏการณ์แห่จองหุ้นที่มาแรงมากขนาดนักลงทุนที่ไม่เคยลงทุน (ไม่มีพอร์ต) ยังสนใจอยากเป็นเจ้าของ !
โดย OR กำหนดราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอที่ 16-18 บาท และจะเริ่มเปิดให้รายย่อยจองซื้อได้ในวันที่ 24 ม.ค.-2 ก.พ.2564 ก่อนที่จะให้ผู้ถือหุ้น ปตท.และนักลงทุนสถาบันจองเป็นลำดับต่อไป ซึ่งจะเข้าซื้อขาย (เทรด) ในเดือนก.พ.นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- วิธีจองหุ้น 'OR' ผ่าน 3 แบงก์ 'กรุงไทย-กสิกรไทย-กรุงเทพ'
- 'OR' ยังไม่ต้องรีบซื้อ! แบงก์แจงจองซื้อ 'หุ้น' ได้ถึงเที่ยงวันที่ 2ก.พ. ยันยอดไม่มีเต็ม
- ระบบจองหุ้น ‘OR’ ล่ม! ทั้ง 3 ธนาคาร เหตุยอดจองวันแรกทะลัก!
ดังนั้น คำนิยามที่บอกว่าเป็น 'หุ้นมหาชนแห่งปี 2564 !' คงพูดได้ไม่ผิดความหมายกับหุ้น 'OR' ตัวนี้... สอดรับกับผลสำเร็จตลอดสามปีที่ผ่านมา OR ใช้เวลาเตรียมตัวเป็นหุ้น IPO อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 และสามารถแยกกิจการจาก PTT แล้วเสร็จภายในปี 2561
ปัจจุบันธุรกิจของ OR ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก คือ 1.ธุรกิจน้ำมัน ซึ่งครอบคลุมการค้าน้ำมันในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ เช่น การขายน้ำมันอากาศยานและน้ำมันเตาสำหรับเรือขนส่ง การขายน้ำมันให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม การขายน้ำมันหล่อลื่น และก๊าซปิโตรเลียมเหลว
โดยทั้ง 2 ตลาด มียอดขายใกล้เคียงกัน ซึ่งในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายผ่านสถานีบริการ (ปั๊ม) น้ำมัน และตลาดพาณิชย์ อยู่ที่อย่างละประมาณ 9,000 ล้านลิตร ทำให้ในส่วนของธุรกิจน้ำมัน ยังมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศเป็นอันดับที่ 1
2.กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น (Non-Oil) ครอบคลุมร้านกาแฟแบรนด์ คาเฟ่อเมซอน ที่ยังเป็น 'พระเอก' และแบรนด์ร้านค้าปลีกอื่นทั้งอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการให้บริการเช่าพื้นที่ภายในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ที่สามารถสร้างกำไรให้ได้พอสมควร
และ 3.ธุรกิจต่างประเทศ ครอบคลุมปั๊มน้ำมันอยู่ในต่างประเทศกว่า และมีร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนใน 10 ประเทศ
'3 ธุรกิจหลัก (น้ำมัน-ค้าปลีก-ต่างประเทศ) ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของหุ้น OR !!'
'อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. หรือ PTT เล่าทิศทางอนาคตของ OR ให้ฟังเช่นนั้น ซึ่ง กลุ่มปตท. มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่ง OR แยกธุรกิจออกไปจาก ปตท. ก็จะเป็นอีก 'เรือธง' (Flagship) ที่สร้างสีสัน และการระดมทุนที่ได้เม็ดลงทุนเพิ่มเข้ามาก็จะเอื้อให้ OR มีเงินลงทุนขยายธุรกิจได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ขนาดธุรกิจของ OR ในปัจจุบันมียอดขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) อยู่ที่ 3 แสนล้านบาท มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ระดับ 1.2 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ อยู่ที่ประมาณ 5,900 ล้านบาท
'การนำ OR เข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ เป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับ OR แข็งแกร่งมากขึ้น ส่วน Flagship อื่นก็จะมีแผนการเติบโตที่แตกต่างกันตามสภาพของแต่ละธุรกิจ และ ปตท.ก็จะกลายเป็นโฮลดิ้งที่มีความหลากหลายของธุรกิจครบเครื่องมากขึ้น' หุ้นใหญ่ ปตท. ย้ำเช่นนั้น
ทั้งนี้ OR มุ่งเน้นขยายการเติบโตในส่วนของธุรกิจ Non-Oil และธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันมี EBITDA อยู่ที่ระดับ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากธุรกิจน้ำมันประมาณ 69% ธุรกิจ Non-Oil สัดส่วน 25% และธุรกิจต่างประเทศ ประมาณ 6%
ฟาก 'จิราพร ขาวสวัสดิ์' รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR เปิดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2564-2568) ตั้งงบลงทุนมูลค่า 74,600 ล้านบาท สำหรับขยายการลงทุนใน '3 ธุรกิจหลัก' แบ่งเป็นลงทุนในธุรกิจน้ำมัน 34.6% ธุรกิจค้าปลีกและบริการอื่นๆ (Non-Oil) 28.6% ธุรกิจต่างประเทศ 21.8% และธุรกิจอื่นๆ 15% ที่เป็นการเปิดโอกาสในธุรกิจใหม่
โดย ธุรกิจน้ำมัน วางเป้าในปี 2568 สถานีบริการน้ำมัน PTT เป็น 3,100 แห่ง จากปัจจุบัน 1,968 แห่ง โดยจะใช้กลยุทธ์ลงทุนต่ำด้วยการให้ดีลเลอร์ที่ต้องการขยายสถานีบริการเป็นผู้ลงทุนหลักในสัดส่วน 80% และบริษัทลงทุน 20%
ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) วางเป้าในปี 68 มีร้านกาแฟแบรนด์ คาเฟ่ อเมซ่อน (Cafe Amazon) เพิ่มเป็น 5,800 สาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3,168 สาขา รวมทั้งจะขยายฐานรายได้และขีดความสามารถในการทำกำไรจากธุรกิจ Non oil ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของบริการอาหารและเครื่องดื่มในปั๊ม โดยเฉพาะการซื้อแบรนด์ใหม่เข้ามาเพิ่ม พร้อมไปกับแผนขยายร้านเดิมที่มีอยู่
รวมถึงจะสร้างโรงงานเบเกอรี่ ,โรงงานผงผสมเครื่องดื่ม และศูนย์กระจายสินค้าอัตโนมัติขึ้นมาอีก และขยายร้าน Texas Chicken อีกกว่า 20 สาขาต่อปี
ธุรกิจต่างประเทศ เน้นขยายลงทุนไปยังกลุ่มอาเซียน อาทิ CLMV, ฟิลิปปินส์ เป็นการขยายทั้งสถานีบริการน้ำมันอีก 350 แห่ง และร้านกาแฟแบรนด์คาเฟ่ อเมซ่อน อีก 310 แห่ง ซึ่งหลังบริษัทมีการเปลี่ยนรูปแบบลงทุนมาเป็นผ่านแฟรนไชส์ ทำให้การขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว
โดยในเวียดนามได้ร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัล ขยายสาขาร้านคาเฟ่ อะเมซอน ในทำเลหลัก ทำให้ปัจจุบันขยายธุรกิจไปต่างประเทศมีอยู่ 10 ประเทศแล้ว ทำให้ปัจจุบันคาเฟ่ อเมซ่อน เป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่ใหญ่ระดับโลก โดยในแง่ของจำนวนสาขาอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก และ เพื่อพิจารณาในแง่ของรายได้เป็นอันดับที่ 12 ของโลก
ขณะที่ในจีนจะขยายร้านคาเฟ่ อะเมซอน และขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์หล่อลื่นในโอมาน และจะมอบสิทธิมาสเตอร์ แฟรนไชส์ ของร้านคาเฟ่ อะเมซอนให้กับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของโอมาน
โดยปัจจุบันบริษัทมี สถานีบริการน้ำมัน PTT ในต่างประเทศจำนวน 329 แห่ง และมีร้านคาเฟ่ อเมซ่อน จำนวน 272 แห่ง และศูนย์บริการยานยนต์ 'FIT Auto' จำนวน 56 แห่งในประเทศไทย และ 4 แห่งในต่างประเทศ
ขณะที่เงินลงทุนอีก 15% ลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ 3 ธุรกิจหลักข้างต้น เพื่อมองหาโอกาสใหม่ๆ และต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีอยู่ในรูปแบบของพันธมิตร จากการทำดีลร่วมทุน (JV) หรือซื้อกิจการ (M & A)
รวมทั้งบริษัทมีแผนขยายการให้บริการแท่นชาร์จสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในเส้นทางหลักทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่เริ่มเปิดทดลองในสถานีบริการน้ำมันแล้วจำนวน 25 แห่ง หลังมองว่าเทรนด์รถยนต์ EV จะช่วยต่อยอดธุรกิจและเป็นโอกาสอีกหนึ่งธุรกิจที่จะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในสถานีบริการน้ำมันของ OR ในอนาคต โดยนอกเหนือจากสถานีชาร์จ EV แล้วบริษัทยังสนใจร่วมลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ EV ทั้งธุรกิจแบตเตอรี่,บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ปัจจุบันสัญญาการให้สิทธิแบรนด์ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) ของ บมจ. ซีพี ออลล์ หรือ CPALL ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ใกล้จะหมดสัญญาในอีกกว่า 2 ปีข้างหน้า โดยอายุสัญญาทั้งหมดระยะเวลา 10 ปี
โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดการต่อสัญญาระหว่าง OR และ CP เพราะทั้งสองฝ่ายถือเป็นคู่พันธมิตรทางธุรกิจที่ดีต่อกันมาตลอด โดยร้านสะดวกซื้อเซเว่นก็มีรายได้สูงขึ้น ขณะที่สถานีบริการน้ำมันของ OR ก็มีผู้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นด้วย
6กลยุทธ์ผลักดัน OR โต !
'จิราพร ขาวสวัสดิ์' รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR บอกว่า บริษัทวาง 6 กลยุทธ์สำคัญการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายธุรกิจ ประกอบด้วย 1.รักษาความเป็นผู้นำทั้งตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ในประเทศไทย 2.มุ่งส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) สร้างฐานรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไร 3.ต่อยอดความสำเร็จ ความชำนาญ เพื่อการขยายตัวสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลก
4. เสริมสร้างศักยภาพ ขยายโอกาสการเติบโตด้วยเทคโนโลยี และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Big Data Analytics) 5.ลงทุนครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี และ 6.มุ่งสร้างคุณค่าและการมีส่วนร่วมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งประเทศชาติ สังคมชุมชน ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า และพนักงานอย่างสมดุล
ยุทธศาสตร์กลุ่ม ปตท.
'อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. หรือ PTT บอกว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มปตท. ยังเป็นไปเพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคง ยั่งยืน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในส่วนของธุรกิจก๊าซฯ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP โดยยังคงเน้นธุรกิจขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียม แต่การดำเนินการหลังจากนี้จะมุ่งเน้นโอกาสการลงทุนก๊าซมากขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน รวมทั้งการต่อยอดธุรกิจสู่ LNG Value Chain
ธุรกิจปิโตรเคมี ภายใต้แกนนำของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC และ บมจ. ไออาร์พีซี หรือ IRPC ก็จะเน้นสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty grade) มากขึ้น
ธุรกิจโรงกลั่น ทางบมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP ก็จะเป็น Flagship ซึ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการแข่งขันให้สามารถยืนอยู่ได้เป็นคนสุดท้ายของธุรกิจ หรือ last man Standing
ธุรกิจไฟฟ้า ทางบมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ก็จะเป็น Flagship ที่ขยายการเติบโตโดยตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าฟอสซิล และพลังงานหมุนเวียน แตะอย่างละ 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ซึ่งทางปตท.ได้เข้าไปเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด หรือ GRP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GPSC เพื่อเสริมฐานะการเงินให้กับ GRP รองรับขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ปตท.ยังเดินหน้าการลงทุนใหม่และเสริม New S-Curve ซึ่งขยายเข้าสู่ธุรกิจ Life Science เช่น ยา อาหารเสริม และเครื่องมือแพทย์ รวมถึงโลจิสติกส์ ซึ่งได้ร่วมมือกับพันธมิตร คือ กลุ่มกัลฟ์ เพื่อเข้าไปร่วมในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ซึ่งยังอยู่รอความชัดเจนเรื่องสัญญาจากภาครัฐ
รวมทั้งยังสนใจเรื่องของ เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ โดยปัจจุบัน ปตท.สผ.ยังมีการจัดตั้งบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) และ ปตท.ได้จับมือกับ มิตซุย เพื่อเดินหน้าให้บริการระบบออโตเมติก เป็นต้น โดยในส่วนของธุรกิจใหม่และธุรกิจพลังงานหมุนเวียน มีเป้าหมายจะเพิ่มการเติบโตของ EBITDA ให้กับพอร์ตของ ปตท.ใน 10 ปีข้างหน้า