ให้กำลังใจผู้ว่าฯสมุทรสาคร พลิกปูมชีวิต 'วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี' แม่ทัพหน้าปราบโควิด-19
กระแสประชาชน ส่งกำลังใจให้ผู้ว่าฯสมุทรสาคร พลิกปูมชีวิต "วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี" แม่ทัพหน้าปราบโควิด-19
นับตั้งแต่ "วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี" ผู้ว่าฯสมุทรสาครติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2563 ซึ่งเป็นเวลา 1 เดือนแล้วที่ผู้ว่าฯสมุทรสาครเข้ารักษาตัว
อาการล่าสุดผู้ว่าฯสมุทรสาคร
วานนี้ 25 ม.ค. 2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยอาการล่าสุดของ "วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี" ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร โดยระบุว่า ขณะนี้ผู้ว่าฯ ยังใส่ท่อช่วยหายใจตลอดเวลา เนื่องจากมีปัญหาด้านการหายใจ และมีเสมหะมาก ทำให้เสี่ยงติดเชื้อเพิ่มได้ ทีมแพทย์จึงตัดสินใจเจาะคอเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อช่วยให้ผู้ว่าฯ หายใจได้ง่ายขึ้น
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ระบุว่า หลังจากเจาะคอแล้ว ทีมแพทย์จะดูดน้ำออกจากหลอดลมเพื่อนำมาตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง ขณะเดียวกันจะนำมาตรวจดูเซลล์ในหลอดลมประกอบการตัดสินใจใช้ยาบางตัวด้วย โดยต้องรอดูผลภายใน 72 ชั่วโมง หากได้ผลคาดว่าไม่กี่วันก็จะมีสัญญาณที่ดี พร้อมยืนยันว่า การเจาะคอเมื่อผ่านไป 48 ชั่วโมง ปากแผลก็จะปิด และกลับมาพูดได้เหมือนเดิม คนไข้ที่หนักๆ บางครั้งก็จำเป็นต้องทำ ขอประชาชนอย่ากังวล
"ในวันนี้จะดูดน้ำออกจากหลอดลมเพื่อไปตรวจหาเชื่อโควิดอีกครั้ง ซึ่งปกติจะเจอน้อยมาก แต่ดูเพื่อความชัดเจน นอกจากนี้จะดูเชลล์ที่หลอดลม ประกอบการตัดสินใจเพื่อ ให้ยาบางอย่างเพื่อลดการอักเสบของปอดควบคู่กับการให้ยาลดการเป็นพังผืด และดูผลการตอบสนอง ใน 72 ชม. ว่าระบบทุกอย่างจะดีขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้พยายามชื้อเวลาเพื่อควบคุมการติดเชื้อ ในปอด ดังนั้น การเจาะคอคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามถึงการพิจารณาปลูกถ่ายปอด ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะมีการปลูกถ่ายปอด แต่ประสบการณ์ทั่วโลกพูดถึงว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่มีการรายงานในวารสารการแพทย์ ว่าโดวิดทำลายเนื้อปอดจนไม่เหลือเนื้อปอดจนสามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง ต่างประเทศจึงมีการเปลี่ยนอวัยวะ โดยเอาปอดคนอื่นมาใส่ แต่ไม่ง่าย และโดยทั่วไปไม่ได้ทำ เพราะต้องการให้ใช้อวัยวะของตัวเองมากกว่า เพราะถ้าใช้ของคนอื่นต้องให้ยากดภูมิซึ่งต้องให้ไปตลอด และจะมีผลกระทบ
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิดต้องเจาะคอเช่นเดียวกัน และมีบางคนต้องใช้ปอดเทียมเข้าช่วย ซึ่งที่รอตก็มี ที่เสียชีวิตก็มี แต่ก่นผู้ว่าฯ ยังไม่ต้องใช้ปอดเทียม ทั้งนี้ อย่าคิดว่าโควิดรอบนี้ไม่หนัก เพราะคนที่อาการหนักก็รุนแรงมากจริงๆ
ประวัติรับราชการผู้ว่าฯสมุทรสาคร
วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี วัย 59 ปี เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2504 ภูมิลำเนา จังหวัดอ่างทอง วันบรรจุรับราชการ 23 สิงหาคม 2526 วันครบเกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 2565
การศึกษา
ปี 2526 ปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (มนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยบูรพา
ปี 2534 ปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต (แขนงวิชา ทฤษฎีและเทคนิคทางรัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ปี 2542 ปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
การฝึกอบรม
เมษายน – พฤศจิกายน 2539 : หลักสูตรนายอำเภอ รุ่นที่ 41 วิทยาลัยการปกครอง
25 เมษายน – 23 กรกฎาคม 2547 : หลักสูตร นปส. รุ่นที่ 45 วิทยาลัยมหาดไทย อ.บางละมุง
ธันวาคม 2557 – พฤษภาคม 2558 : หลักสูตรนักบริหารการงบประมาณ ระดับสูง (นงส.) รุ่นที่ 1 สำนักงบประมาณ
ตุลาคม 2557 – กันยายน 2558 : หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร วปอ. รุ่นที่ 57 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
5 ธันวาคม 2560 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
5 ธันวาคม 2555 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
5 ธันวาคม 2552 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
5 ธันวาคม 2556 เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)
ประวัติการรับราชการ
23 สิงหาคม 2526 นักพัฒนาชุมชน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
11 ธันวาคม 2544 นายอำเภอแม่วงก์ (เจ้าพนักงานปกครอง) จังหวัดนครสวรรค์
6 ตุลาคม 2546 นายอำเภอเดิมบางนางบวช (เจ้าพนักงานปกครอง) จังหวัดสุพรรณบุรี
24 ตุลาคม 2550 นายอำเภอศรีประจันต์ (เจ้าพนักงานปกครอง) จังหวัดสุพรรณบุรี
28 พฤศจิกายน 2551 นายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี (ผู้อำนวยการระดับสูง)
14 กันยายน 2552 นายอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี (ผู้อำนวยการระดับสูง)
24 มกราคม 2554 ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี
7 ธันวาคม 2555 รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี
1 ตุลาคม 2559 ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร
1 ตุลาคม 2561 ถึง 30 กันยายน 2562 ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
1 ตุลาคม 2562 ถึง ปัจจุบัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร
เกียรติประวัติ
พ.ศ. 2533 พัฒนากรดีเด่น ระดับจังหวัด
พ.ศ. 2537 ข้าราชการพลเรือนดีเด่น “รางวัลครุฑทองคำ” ระดับประเทศ
พ.ศ. 2546 นายอำเภอที่มีผลงานดีเด่นระดับจังหวัด จังหวัดนครสวรรค์
พ.ศ. 2553 ได้รับคัดเลือกเป็นนายอำเภอที่มีผลงานดีเด่นระดับเขต เขต 7
พ.ศ. 2557 เป็นกรรมการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์นักศึกษาระดับปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
พ.ศ. 2560 รางวัลการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนระดับประเทศ "จังหวัดสะอาด" รองชนะเลิศ อันดับ 2 กลุ่ม จังหวัดขนาดเล็ก จังหวัดพิจิตร
พ.ศ. 2561 รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยบูรพา ประจำปี 2561
พ.ศ. 2561 รางวัลนักบริหารดีเด่นแห่งปี ประจาปี 2561 จาก มูลนิธิเพื่อสังคมไทย พ.ศ. 2561 นักเรียนเก่าดีเด่น โรงเรียนปทุมคงคา ประจำปี 2561
พ.ศ. 2561 รางวัลผู้ว่า "สำเภาทอง" ประจำปี 2561
พ.ศ. 2562 รางวัลการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนระดับประเทศ "จังหวัดสะอาด" รางวัลชมเชย กลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ
พ.ศ. 2562 รางวัลจังหวัดที่มีการผ่านการคัดแยกขยะครบ 100% ทุกครัวเรือน โดยกระทรวงมหาดไทย
พ.ศ. 2562 ประกาศเกียรติคุณเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมด้านคุณธรรม ควรค่าแก่การยกย่อง " พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา" ปี 2562 จากประกาศศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
พ.ศ. 2562 รางวัลผู้ว่า "สำเภาทอง" ประจำปี 2562
พ.ศ. 2563 รางวัลผู้ว่าราชการจังหวัด TO BE NUMBER ONE ดีเด่น
พลิกปูมชีวิตผู้ว่าฯสมุทรสาคร
นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปาก "ผู้ว่าฯปู" ผ่านงานปกครองมาหลายจังหวัด ผ่านประสบการณ์ทั้งบู๊-บุ๋นเป็นที่ยอมรับในฝีไม้ลายมือการบริหารของนักปกครองอาชีพ
เขาเป็นคนอ่างทองโดยกำเนิด เกิดที่ อำเภอวิเศษไชยชาญ ในครอบครัวคหบดี หลังจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มไต่เต้าจากปลัดอำเภอสู่ผู้ว่าฯใช้เวลากว่า 30 ปี โดยชีวิตราชการส่วนใหญ่วนเวียนอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี
ถือเป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาบึงฉลาก ตามบัญชาของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ เมื่อครั้งรั้งตำแหน่งนายอำเภอเดิมบางนางบวช โดยเริ่มจากการพัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรม จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของสุพรรณบุรีในทุกวันนี้
เมื่อครั้งย้ายมาเป็นนายอำเภอศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ก็สร้างผลงานไม่น้อยหน้า แต่ความฮือฮาคือ การมีแนวคิดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน โดยการนำผักตบชวาที่ทุกคนมองว่าเป็นพืชขยะไร้ค่ามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จนมีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศ
ครั้นย้ายมาเป็นนายอำเภอแม่วงค์ จ.นครสวรรค์ ยังรังสรรค์ผลงานที่เข้าตา ด้วยการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำของชาวบ้านและผู้มีอิทธิพลเป็นผลสำเร็จ เนื่องว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของอ.แม่วงค์อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ
การก้าวผ่านนายอำเภอมาสู่ตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานจังหวัดสุพรรณบุรี เหมือนได้กลับมาบ้านเก่า ครั้งหนึ่งผู้ว่าฯปูเคยปรารภกับ"ทีมข่าวคมชัดลึก"ว่า
”สุพรรณก็เหมือนบ้านหลังที่สอง มาสุพรรณเหมือนได้กลับมาบ้านอีกครั้งจะต้องดูแลคนสุพรรณให้ดีที่สุด”
จากปลัดจังหวัดสู่รองผู้ว่าฯ ก่อนก้าวมารั้งตำแหน่งผู้ว่าฯอย่างเต็มตัวครั้งแรกที่จ.พิจิตร
ผลงานที่โดดเด่นของพ่อเมืองที่นี่ ได้พัฒนาจ.พิจิตร จากเมืองผ่านให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญอันโดดเด่นของเหนือตอนล่างในที่สุด เพราะทันทีที่รับตำแหน่งผู้ว่าฯเมืองชาละวัน งานแรกที่จับกลายเป็นหินคือการพัฒนาพื้นที่รอบบึงสีไฟ เพราะเป็นแหล่งรวมของปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน ถูกบุกรุกของชาวบ้านและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีผู้ว่าฯคนไหน กล้าแตะ
แต่ "วีระศักดิ์" คนนี้กลับเดินหน้าพัฒนาอย่างชนิดที่ว่าไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม หลังได้รับไฟเขียวจากผู้บังคับบัญชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่สั่งการลงมา พร้อมจัดสรรงบประมาณลงมาอย่างเต็มสูบ ส่วนแนวทางการพัฒนา เขานำประสบการณ์จากความสำเร็จ ถอดบทเรียนการพัฒนาบึงฉวาก เฉลิมพระเกียรติมาพัฒนาพื้นที่บึงสีไฟให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของคนพิจิตร
จากบึงสีไฟต่อยอดมาพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายธรรมะ เนื่องจากพิจิตรเป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยวัดวาอาราม มีเกจิอาจารย์มีชื่อดังมากมาย ทั้งยังมีสถานที่ทางประวัติศาสตร์อีกหลายแห่ง ทำให้มีการต่อเชื่อมเส้นทางประวัติศาสตร์และวัดวาอารามด้วยเส้นทางท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบ จึงทำให้เมืองรองการท่องเที่ยว อย่างพิจิตรเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ
ไปอยู่ที่ไหนก็มีแต่คนรัก จึงไม่แปลก เมื่อมีคำสั่งย้ายมารั้งตำแหน่งผ้ว่าฯศรีสะเกษ ชาวพิจิตรต่างแห่กันไปส่งอย่างอุ่นหนาฝาคั่งถึงหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษเลยทีเดียว
“ก่อนมารับตำแหน่งผู้ว่าฯที่นี่ ผมได้ทำการบ้านมาก่อนแล้ว 1 เดือนเต็ม เมื่อมาถึงก็เริ่มทำงานได้ทันที โดยไม่ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้งานใหม่ เพราะฉะนั้นผมมาเป็นผู้ว่าฯก่อนคำสั่งออก 1 เดือน” ผู้ว่าฯปูเปรยกับทีมข่าวคมชัดลึก เมื่อครั้งมารับตำแหน่งผู้ว่าฯศรีสะเกษใหม่ ๆ
จากพิจิตรมาศรีสะเกษ เมืองชายแดน ปัญหาจึงต่างจากเดิมอย่าลิบลับ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาระหว่างประเทศ เพราะมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีการกระทบกระทั่งกันบ่อย แต่ด้วยความเป็นนักบริหารมือประสานสิบทิศ ปัญหาส่วนใหญ่จึงจบลงที่ระดับจังหวัด แต่ที่ดังเป็นพลุแตกคือการสร้างสตอรี่ทุเรียนภูเขาไฟ พร้อมเนรมิตเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร จนทำให้ศรีสะเกษเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งผลิตทุเรียนพันธุ์ดี สามารถสร้างอาชีพและรายได้กับชาวศรีสะเกษอย่างเป็นกอบเป็นกำ
2 ปีกว่าของพ่อเมืองศรีสะเกษ ก่อนย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าฯสมุทรสาคร รู้ว่าเป็นงานหนักงานหิน เพราะสภาพพื้นที่เศรษฐกิจ สังคมไม่เหมือนที่ผ่านมา เคยมีอดีตผู้ว่าฯท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า
“ใครมาเป็นผู้ว่ามหาชัยเหมือนควบตำแหน่งปลัดกระทรวงฯ เพราะเป็นจังหวัดแหล่งรวมของทุกปัญหา ผ่านมหาชัยไปอยู่จังหวัดไหนก็ได้สบายมาก” (อ้างอิง คมชัดลึก)
โพสต์เฟซบุ๊คของ "วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี" ล่าสุดเมื่อเกือบ1เดือน
"อีก 2 ปี เกษียณอายุราชการ คงไม่มีใครอยากเกษียณ พร้อมกับปัญหาคาราคาซังอยู่
ความมุ่งมั่นเดียว ณ ตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้มหาชัย สมุทรสาคร กลับมามีรอยยิ้มเหมือนเดิม
มีคนถามว่า ช่วงนี้ให้สัมภาษณ์บ่อย แต่ทุกครั้งที่สัมภาษณ์ มักยิ้ม หรือหัวเราะ
“ออกรบทัพจับศึก จะร้องไห้ให้ไพร่พลเห็นได้อย่างไร แม้หัวใจจะร้องไห้ ด้วยความสงสารคนสมุทรสาครมาหลายครั้งหลายหน มีเรื่องราวอีกมากมายที่อยากพูดแต่ไม่ได้พูด โดยเฉพาะคนที่ปล่อยให้ COVID-19 เข้ามาในใจกลางเมืองสมุทรสาคร”
ยิ้ม หรือหัวเราะ ไม่ได้หมายถึงมีความสุข บนความทุกข์ของคนอื่น ยิ้ม หรือหัวเราะ ไม่ได้หมายถึง ไม่ยี่หระ ไม่สนใจ เก้าอี้ตัวนี้มั่นคงแข็งแรง ไล่ผมเถิดครับ ถ้ายังไม่มีคุณภาพแห่งการทำงานพอ
นี่เป็นคำพูดที่จับใจประชาชน และขอให้กำลังผู้ว่าฯปูรักษาตัวหายดีไวๆ