นำร่อง 'ยุทโธปกรณ์' ส่งออก'ยานเกราะ-เรือตรวจการณ์-ยูเอวี-กระสุน'
บริษัทเอกชนของไทย ได้รับการคัดเลือกเป็นอันดับ 1 จากรัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์เพื่อผลิตรถยานเกราะล้อยางแบบ 4 คูณ 4
น่าจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับ เป้าหมายของ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สปท.)ที่จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของ 'กองทัพไทย' และพันธมิตรอาเซียนในปี 2564 ด้วยการนำผลงานวิจัย ผลิต พัฒนายุทโธปกรณ์ทางทหาร ผลักดันให้เกิดการพึ่งพาตัวเอง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ร่วมกับ คณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ได้เห็นชอบ หลักการผลิตและขายยุทโธปกรณ์ การร่วมทุน และการส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จำนวน 4 โครงการนำร่อง ระหว่าง สปท.กับภาคเอกชน
โดยสองโครงการแรก เป็นการจัดตั้งองค์กรนิติบุคคล ประกอบด้วย โครงการอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ไม่เพียงแต่กระทรวงกลาโหมเท่านั้น ยังมีหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชนที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก ขนาดกลางหรือ ขนาดใหญ่
โครงการอาวุธและกระสุน เป็นอาวุธประจำกายขั้นมูลฐาน และมีความต้องการเป็นจำนวนมากของหน่วยงานความมั่นคง โดย สปท.พบว่า ภาคเอกชนในประเทศไทยมีขีดความสามารถ ทั้งการออกแบบ ผลิต การประกอบ การปรับปรุงการเปลี่ยนลักษณะ การแปรสภาพ รวมถึงความสามารถในการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ ที่จะสามารถลดการพึ่งพาจากต่างประเทศได้
ขณะที่อีกสองโครงการ ไม่ร่วมจัดตั้งองค์กรนิติบุคคล ประกอบด้วย โครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ล่าสุด กองทัพเรือฟิลิปปินส์ ได้รับอนุมัติงบประมาณสำหรับดำเนินการโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 6 ลำ ซึ่งหน่วยงานในประเทศไทยมีอู่ต่อเรือที่มีศักยภาพต่อเรือประเภทนี้ซึ่งสามารถดำเนินการต่อเรือได้จำนวน 6 ลำ ภายในระยะเวลา 4 ปี แบ่งเป็นการต่อเรือภายในประเทศไทยจำนวน 2 ลำและการต่อเรือในประเทศฟิลิปปินส์จำนวน 4 ลำ
และโครงการยานเกราะล้อยางแบบ 4 × 4 โดยประเทศฟิลิปปินส์ได้กำหนดโครงการปรับปรุงกองทัพในระยะที่ 2 (ปี 2561-2565) ซึ่งมีความต้องการในการจัดหารถ ยานเกราะล้อยางจำนวน 900 คันโดยบริษัทเอกชนของไทยได้เข้าแข่งขันและได้รับการคัดเลือกเป็นอันดับ 1 จากรัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์เพื่อผลิตรถยานเกราะล้อยางแบบ 4 คูณ 4
พล.อ. ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เปิดเผยว่า การประชุมดังกล่าว นอกจากจะขออนุมัติหลักการผลิตและขายแล้ว ยังเป็นการขออนุมัติให้ สปท.ไปเป็นผู้แทนเจรจา การซื้อขาย ยุทโธปกรณ์ด้วยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) เนื่องจาก รัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์ต้องการให้มีการดำเนินการจัดงานในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้บริษัทเอกชนของไทยมีศักยภาพในการผลิตยานเกราะล้อยางแบบ 4 คูณ 4 ให้แก่กองทัพไทยและจำหน่ายไปแล้วในหลายประเทศ สปท.จึงได้ประกาศโครงการร่วมทุนผลิตยานเกราะล้อยางแม็ก 4 x 4 กับบริษัทเอกชนจึงถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้กับภาคเอกชนของไทย
" ขั้นตอนต่อจากนี้ สปท.และภาคเอกชนจะดำเนินการตามแผนต่างๆที่ได้วางไว้อย่างเป็นระบบ เช่น โครงการยานเกราะล้อยาง แบบ 4×4 หลังได้รับความเห็นชอบหลักการผลิตและขาย และเป็นผู้แทนการซื้อขาย โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาลแล้ว เราก็มาทำแผนธุรกิจความคุ้มค่า ปีแรกจะได้เท่าไร ปีที่ 2 เท่าไหร่หากเกิดความเสี่ยง หรือ ผลิตไม่ทันใครต้องรับผิดชอบ ยืนยันว่าทุกอย่างเตรียมเอาไว้หมดแล้วแต่ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะต้องนำเข้าที่ประชุม"
พล.อ.ปรีชา ระบุอีกว่า ก่อนดำเนินการทั้ง 4 โครงการ เราต้องมองตลาดไว้ก่อนว่า ว่ามีลูกค้า หรือกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เช่นอากาศยานไร้คนขับ สปท.ร่วมทุนกับต่างประเทศ ซึ่งประเทศดังกล่าวผลิตขายอยู่แล้ว แต่บางครั้งเขามีสนธิสัญญาบางอย่างที่ขายให้กับประเทศอื่นไม่ได้ และการที่เขาเข้ามาร่วมทุนกับ สปท. ก็สามารถเป็นช่องทางขายให้กับประเทศดังกล่าว เพราะการขายจะขายในนามประเทศไทย เช่นเดียวกับโครงการอาวุธและกระสุน เตรียมขายประเทศตะวันออกกลาง
" สปท.ก็ได้โอกาสในการส่งเสริมภาคเอกชน การจ้างงานก็เกิดในประเทศไทย รวมถึงได้องค์ความรู้ ซึ่งเรามีแต่ได้กับได้ การลงทุนเราก็มีกฎหมายรองรับ ในขณะที่หน่วยงานอื่นๆไม่สามารถทำได้ ถามว่าเสี่ยงหรือไม่ แทบจะไม่มีอะไรเสียงเลย เพราะแต่ละประเทศที่มาร่วมทุนกับไทย เขามีลูกค้าอยู่แล้วเพียงแต่เขาย้ายฐานการผลิตมา"
โดยก่อนหน้านี้ ผลงานวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศของ สปท. ได้นำมาเป็นต้นแบบผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ พร้อมส่งมอบให้เหล่าทัพ นำไปทดลองซึ่งตรงตามความต้องการใช้งานอย่างแท้จริง เพียงแต่ในขณะนั้น ยังไม่ได้เป็นต้นแบบอุตสาหกรรม ป้องกันประเทศเนื่องจากติดข้อกฎหมายและงบประมาณ
จนกระทั้งได้มีการผลักดัน พรบ. เทคโนโลยีป้องกันประเทศ ปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนา ด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การวิจัยผลิตและนำมาใช้ประโยชน์ โดยต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐอื่น ตลอดจนถึงภาคเอกชน
การเห็นชอบ หลักการผลิตและขายยุทโธปกรณ์ การร่วมทุน และการส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จำนวน 4 โครงการนำร่อง ถือเป็นความเร็จสู่อีกก้าวของ สปท. เพราะนอกจากทำให้กองทัพไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศอีกด้วย