ทำไม ‘รัฐประหารเมียนมา’ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ?
สถานการณ์ยึดอำนาจในเมียนมา เรียกได้ว่าเป็นการ "รัฐประหารซ่อนรูป" ขณะที่กองทัพประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปีตามอำนาจรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ามีการทุจริตเลือกตั้งปี 63 แล้วเหตุใด การทำรัฐประหารครั้งนี้ จึงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ?
ปฏิบัติการยึดอำนาจโดยกองทัพเมียนมา เริ่มขึ้นที่กรุงเนปิดอว์เมื่อเช้าตรู่วันที่ 1 ก.พ. 2564 โดยกองทัพส่งทหารเข้าจับกุมตัว ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และ วิน มินต์ ประธานาธิบดีเมียนมา พร้อมกับบรรดารัฐมนตรี และ ส.ส.ทั้งหลาย ขณะที่กำลังเตรียมตัวเข้าร่วมพิธีเปิดประชุมสภา
เวลา 8.00 น. (1 ก.พ.) สถานีโทรทัศน์กองทัพเมียนมา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2551 โดยอ้างมาตรา 413-418 ซึ่งระบุว่า ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอายุ 1 ปี และสามารถต่ออายุได้ครั้งละ 6 เดือน
- กองทัพเมียนมาปิดถนนทางเข้ารัฐสภาในกรุงเนปิดอว์ หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (1 ก.พ.) -
- กองกำลังตำรวจเมียนมาออกประจำการตามจุดต่าง ๆ ในนครย่างกุ้ง (1 ก.พ.) -
กองทัพย้ำว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 417 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2551 ซึ่งกำหนดว่า หากมีเหตุผลเพียงพอเกี่ยวกับความแตกแยกในสภาหรือสิ่งที่อาจทำให้สูญเสียอธิปไตย เนื่องจากการกระทำหรือความพยายามยึดอำนาจอธิปไตยของสภา ด้วยการจลาจล ความรุนแรง และการกระทำมิชอบ ประธานาธิบดีสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ โดยประสานกับสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ
เมื่อพิจารณาตามมาตรานี้ หมายความว่า กองทัพอ้างเหตุทุจริตการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. 2563 ที่พรรคของซูจีได้รับชัยชนะถล่มทลาย เป็น "ความพยายามยึดอำนาจอธิปไตยของรัฐสภา"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นอกจากนั้น มาตรา 418 ระบุว่า ประธานาธิบดีสามารถมอบอำนาจในการบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) โดย ผบ.สส. จะใช้อำนาจดังกล่าวด้วยตัวเอง หรือมอบอำนาจให้หน่วยงานของกองทัพใช้ก็ได้ ขณะเดียวกัน อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภาจะสิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ นับแต่วันที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หากรัฐสภาหมดอายุระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนรัฐสภา
ถึงแม้กองทัพเมียนมาพยายามเลี่ยงบาลีด้วยการเรียกความเคลื่อนไหวนี้ว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่สื่อมวลชนต่างประเทศฟันธงว่า นี่คือ รัฐประหาร (Coup)
- มินต์ ฉ่วย รองประธานาธิบดีสายกองทัพ จะทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดีไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ -
หลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กองทัพเมียนมาได้ตั้ง มินต์ ฉ่วย รองประธานาธิบดี ที่มาจาก ส.ส.สายทหาร เป็นประธานาธิบดีชั่วคราว
- รัฐประหารซ่อนรูป
สถานการณ์การเมืองในเมียนมายังมีความสับสนในเรื่องรายละเอียด เพราะกองทัพเมียนมา ปิดกั้นการสื่อสารทุกด้านในกรุงเนปิดอว์
รัฐธรรมนูญ ปี 2551 ของเมียนมานั้น ถูกเขียนขึ้นโดยคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยสภาความมั่นคงและการพัฒนาแห่งรัฐ สมัยรัฐบาลทหารเมียนมา นำโดยนายพลขิ่น ยุ้น
ดังนั้น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญสายทหารเมียนมา จึงเขียนหมวดที่ว่าด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ถึง 23 มาตรา อันเป็นช่องทางที่ทำให้กองทัพจะ “ยึดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญ” เมื่อใดก็ได้
รัฐธรรมนูญของเมียนมา กำหนดให้ที่นั่ง 1 ใน 4 ของสภานิติบัญญัติ มีไว้สำหรับข้าราชการทหาร คือ จะมี ส.ส.จากการแต่งตั้งของ ผบ.สส. 25% คือสภาผู้แทนราษฎร 110 คน และในสภาชาติพันธุ์ มีสมาชิก 56 คน รวมสองสภา มี ส.ส.ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ผบ.สส. 166 คน
- พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพเมียนมา -
แม้ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2558 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ชนะครองเสียงข้างมากในสภาฯ พยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เสียงในสภาไม่พอ เพราะ ส.ส.สายทหาร 25% ของสภาสหภาพ ยังขวางทางอยู่
เมื่อจำนวนเสียง ส.ส.ในสภาฯ ของพรรคซูจีไม่เพียงพอ จึงฝากความหวังไว้กับการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2563 พรรคเอ็นแอลดีต้องการชนะให้ได้เสียงข้างมากในสภาฯ มากพอที่จะเปิดทางแก้รัฐธรรมนูญได้
- ปมโกงเลือกตั้ง
ชัยชนะแบบถล่มทลายของพรรคเอ็นแอลดีในการเลือกตั้งปีที่แล้ว นำมาซึ่งการเผชิญหน้าระหว่างกองทัพเมียนมากับซูจี และข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตการเลือกตั้งครั้งมโหฬารจากฝ่ายกองทัพ
- ภาพวันวานหวานชื่น ขณะ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย จับมือทักทายกับ ซูจี เมื่อปี 2558 -
วันที่ 15 พ.ย. 2563 คณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพ หรือ กกต.เมียนมา ประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ปรากฏว่า พรรคเอ็นแอลดี ได้รับเลือกทั้ง 3 สภา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) 258 ที่นั่ง, สภาชาติพันธุ์ (สภาสูง) 138 ที่นั่ง และสภาภูมิภาคและรัฐ 501 ที่นั่ง รวมแล้ว 900 กว่าที่นั่ง
ส่วน พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ของกองทัพ ได้รับเลือกเพียง 71 คน แบ่งเป็นสภาผู้สภาแทนราษฎร (สภาล่าง) 26 ที่นั่ง,สภาชาติพันธุ์ (สภาสูง) 7 ที่นั่ง และ สภาภูมิภาคและรัฐ 38 ที่นั่ง
วันที่ 5 ม.ค. 2564 พรรคยูเอสดีพีและพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติ (ดีเอ็นพี) ยื่นคำร้องถึงศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง โดยกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งทั่วไป ศาลนัดแถลงคำวินิจฉัย ในวันที่ 29 ม.ค. 2564
วันที่ 14 ม.ค. 2564 กองทัพเมียนมา แถลงคัดค้านคำประกาศของประธานสภาแห่งสหภาพที่ไม่เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ กรณีมีพรรคการเมืองเรียกร้องให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งทั่วไป
วันที่ 26 ม.ค. 2564 กองทัพเมียนมาแถลงเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการโกงรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา
วันที่ 27 ม.ค. 2564 พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพแห่งชาติ บรรยายพิเศษทางไกลผ่าน Video Conference ให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันประเทศ (NDC) สถาบันวิชาการป้องกันแห่งชาติเมียนมา กรุงเนปิดอว์ ความตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กำหนดถึงกฎเกณฑ์การปกครองทางด้านการเมืองอย่างกว้าง ๆ กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดรูปบริหารในทางการเมืองของรัฐหรือประเทศ
ประโยคที่ว่า “หากไม่เคารพและไม่ปฏิบัติตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ จึงเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ชอบระบอบรัฐธรรมนูญยกมาเป็นข้ออ้างในการล้มเลิกกฎหมายนี้ นั่นหมายความว่าจะต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ” ทำให้เกิดการตีความว่า กองทัพกำลังเตรียมก่อการรัฐประหาร
แม้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะให้โฆษกกองทัพเมียนมา ออกมาปฏิเสธว่า ไม่ได้มีเจตนาจะล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่เช้าวันที่ 1 ก.พ.นี้ กองทัพเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี และจะจัดการเลือกตั้งเมื่อครบกำหนด
ในช่วงเวลา 1 ปีนี้ กองทัพและสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะดำเนินคดีกับ กกต.ชุดเดิม ที่กระทำการทุจริตเลือกตั้งครั้งมโหฬาร และจัดให้การมีการเลือกตั้งทั่วไปหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครบกำหนด 1 ปี
"กองทัพจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป ตามระบอบประชาธิปไตย ที่เสรีและเป็นธรรม และจะมอบอำนาจให้กับพรรคที่ชนะเลือกตั้ง" แถลงการณ์ฉบับที่ 1 กองทัพเมียนมาระบุ เสมือนส่งสัญญาณถึงประชาชนว่า กองทัพขอเวลาอีกไม่นานในการล้างบาง (ข้อกล่าวหา) การทุจริตเลือกตั้งครั้งนี้
----------------
อ้างอิง: คมชัดลึก, Reuters, Myanmar Times