'เมียนมา' ใต้รัฐบาล 'ซูจี' ยุคแห่งการปลดหนี้จีน
เมียนมาใต้รัฐบาล "ออง ซาน ซูจี" ยุคแห่งการปลดหนี้จีน โดย เวิลด์แบงก์ ระบุว่า หนี้สินของเมียนมาที่มีกับจีนอยู่ที่ 3.34 พันล้านดอลลาร์ นับจนถึงปลายปี 2562 ลดลง 26% จากช่วงปลายปี 2558
หนี้สินของเมียนมาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพลเรือน “ออง ซาน ซูจี” ที่มีกับจีนลดลง 26% ขณะที่นโยบาย “ดูไปก่อน” ของรัฐบาลปักกิ่งเพิ่มความเสี่ยงท่ี่จะทำให้สูญเสียการลงทุนในโครงการริเริ่มหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ)
ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า เมียนมาในยุคการปกครองของ ออง ซาน ซูจี ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือน ที่ถูกกองทัพทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนอ่อนแอลงแต่การที่รัฐบาลทหารเข้ามาคุมอำนาจ มีแนวโน้มว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับความพยายามของรัฐบาลทหาร ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ
ภายใต้รัฐบาลเมียนมาที่บริหารโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจี ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของเมียนมากับชาติตะวันตกขยายตัวมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สวนทางกับภาระหนี้สินของเมียนมาที่มีกับจีนลดลง 26% เช่นเดียวกับการขาดดุลการค้ากับจีนที่ลดลง
ถ้าสหรัฐและยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตรเมียนมา จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ รัฐบาลทหารเมียนมาเริ่มหันมาให้ความสนใจจีนอย่างจริงจังอีกครั้ง ซึ่งจีนเองก็กำลังขยายอิทธิพลไปทั่วภูมิภาคผ่านโครงการริเริ่มหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ) โดยจีนมองว่าชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ชื่อว่าโครงการบีอาร์ไอของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่เริ่มนำมาใช้เมื่อปี 2556
ข้อมูลของเรฟินิทีฟ กองทุนที่เกี่ยวข้องกับบีอาร์ไอสำหรับชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศนับตั้งแต่ปี 2556 มีมูลค่า 304.1 พันล้านดอลลาร์ เท่ากับครึ่งหนึ่งของการใช้จ่ายด้านงบประมาณประจำปีของประเทศเหล่านี้ และในบรรดา 10 ประเทศ มีสามประเทศคือ เมียนมา ลาว และกัมพูชาที่พึ่งพาจีนอย่างมาก แม้ว่าการให้เงินทุนแก่เมียนมาจะอยู่ที่ 21.7 พันล้านดอลลาร์จะน้อยกว่าขนาดเงินทุนของอินโดนีเซียราวหนึ่งในสาม ส่วนสามชาติอาเซียนที่พึ่งพาจีนอย่างมากรับการลงทุนจากจีนและกู้เงินจีนในสัดส่วนที่สูงกว่าการใช้จ่ายด้านงบประมาณรายปีประมาณ 1.6-2 เท่า
อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนพบเห็นได้ง่ายๆในเมียนมา โดยในย่างกุ้ง ทางการห้ามใช้รถจักรยานยนต์ส่วนรถบัสเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อประชาชนต้องเดินทางและส่วนใหญ่ผลิตในจีนแม้ว่าการค้ากับญี่ปุ่น สหรัฐและยุโรปเพิ่มขึ้น จีนยังคงเป็นผู้นำเข้าและส่งออกรายใหญ่สุด มีสัดส่วนกว่า 30% ของการค้าของเมียนมา
อย่างไรก็ตาม เมียนมามีประวัติในการกันตัวเองให้ห่างจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเพื่อนบ้านที่ทรงอิทธิพลอย่างจีนกลืน โดยข้อมูลของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ระบุว่า หนี้สินของเมียนมาที่มีกับจีนอยู่ที่ 3.34 พันล้านดอลลาร์ นับจนถึงปลายปี 2562 ลดลง 26% จากช่วงปลายปี 2558 ก่อนที่รัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีจะก้าวขึ้นมาบริหารประเทศ ซึ่งสวนทางกับปริมาณหนี้สินที่เพิ่มขึ้น 72% และ34% ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว และกัมพูชา ตามลำดับ ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้จากภายนอกของจีนลดลงจากประมาณ 45% ในปี 2558 เหลือประมาณ 30% ในปี 2562
ถ้าเมียนมาตกอยู่ในสถานะผิดนัดชำระหนี้ จะเพิ่มความเสี่ยงให้ติดกับดักหนี้ซึ่งจะถูกบังคับให้มอบโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศให้แก่รัฐบาลจีนและที่ผ่านมา เมียนมาก็ตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างมาก ตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนนโยบายคือการเปลี่ยนแผนที่จะสร้างท่าเรือจ๊อกพิว (Kyaukphyu) เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจเมืองหนึ่งที่ตั้งอยู่ในรัฐยะไข่ทางภาคตะวันตกของประเทศเมียนมา ห่างจากย่างกุ้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 400 กิโลเมตร และเป็นพื้นที่เชื่อมโยงการค้าสินค้าเกษตรกรรมระหว่างเมียนมาและอินเดียมาเป็นเวลานาน
ท่าเรือแห่งนี้ยังเชื่อมโยงกับท่องส่งสองแห่งยาว 870 กิโลเมตรที่นำส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปมณฑลยูนนาน ถ้าเรือขนส่งขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าเรือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากตะวันออกกลางและแอฟริกาอาจถูกขนส่งไปยังแผ่นดินใหญ่ของจีนโดยไ่ม่ต้องเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา จุดคอขวดทางภูมิรัฐศาสตร์
แต่ความพยายามของเมียนมาที่จะลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อจีนไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวอย่างเช่น การข่มเหงชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา ที่สถานการณ์เข้าขั้นวิกฤตในปี 2560 ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลกและบริษัทตะวันตกเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้นที่จะเข้าลงทุนในเมียนมา
ยิ่งกว่านั้น สหรัฐ และยุโรปกำลังพิจารณาคว่ำบาตรกองทัพเมียนมา ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้การลงทุนของต่างประเทศชะงักงันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อวันศุกร์ (5 ก.พ.) บริษัทคิริน โฮลดิงส์ ของญี่ปุ่นประกาศยุติแผนร่วมทุนกับบริษัทในเมียนมาสองแห่ง
จีนเลือกที่จะใช้นโยบาย “รอดู” ในการรับมือกับการทำรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งหมายความว่ากองทัพเมียนมาจะเพิ่มความเสี่ยงด้านการลงทุน ไม่เฉพาะจากสหรัฐ และยุโรปเท่านั้น แต่รวมถึงจากจีนด้วย
แต่ในสถานการณ์แบบนี้ บรรดาชาติตะวันตกและญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายอันน่ากลัวของการดำเนินนโยบายที่ปกป้องเมียนมาไม่ให้เอียนเอียงไปหาจีน พร้อมๆกับสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศนี้