ง่ายๆ 5 ขั้นตอน ลงทะเบียน "คุณสู้ เราช่วย" ผ่านเว็บไซต์ www.bot.or.th/khunsoo
ง่ายๆ! เปิด 5 ขั้นตอน ลงทะเบียนโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ผ่านเว็บไซต์ www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันนี้ - 28 ก.พ. 68 เช็กเงื่อนไขคุณสมบัติผู้เข้าร่วมมาตรการ
ความคืบหน้าโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยความร่วมมือกระทรวงการคลัง กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มุ่งลดภาระทางการเงินให้แก่ "ลูกหนี้" ที่ประสบปัญหาในการชำระหนี้ ให้สามารถประคองตัว รักษาสภาพคล่องและสินทรัพย์สำคัญ ผ่านแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะช่วยลดภาระการผ่อนชำระต่องวด
ซึ่งขณะนี้มีประชาชนเข้ามา "ลงทะเบียนโครงการ คุณสู้ เราช่วย" จำนวนมาก อาจทำให้การเข้าใช้บริการสายด่วน 1213 ธปท. และระบบลงทะเบียนมีความล่าช้า แต่ประชาชนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขั้นตอนการลงทะเบียนโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" มีดังนี้
1. ตรวจสอบรายละเอียด : เข้าไปที่เว็บไซต์ www.bot.or.th/khunsoo และตรวจสอบคุณสมบัติ รวมถึงเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ
2. สมัครใช้งานด้วยระบบอีเมล หรือ ThaiID โดยสแกน QR บนแอปพลิเคชัน ThaiID เพื่อยืนยันตัวตน
3. กรอกข้อมูลการลงทะเบียน : ใส่ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ และอีเมล
4. ส่งคำขอแก้หนี้ โดยเลือก ผู้ให้บริการที่ต้องการเข้าร่วม และผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วม หากมีผู้ให้บริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วมมากกว่า 1 แห่ง หรือ ประเภท สามารถกดเพิ่มได้
5. ยืนยันการลงทะเบียน : เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วน ให้ลูกหนี้เก็บหมายเลขคำร้องไว้ ระบบจะแสดงหมายเลขคำร้องให้เก็บไว้เพื่อติดตามสถานะ
นางสาวศศิกานต์ เผยต่อว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถจัดการภาระหนี้ได้อย่างยั่งยืน พร้อมสร้างโอกาสในการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชนทั่วประเทศ โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568
ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนทุกรายที่ลงทะเบียนในระยะเวลาดังกล่าว และมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข จะได้รับสิทธิ์เท่ากันทุกคน โดยสถาบันการเงินจะเริ่มติดต่อกลับตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
และสามารถตรวจสอบสถานะคำร้องผ่านเว็บไซต์ www.bot.or.th/khunsoo หรือหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนธนาคารแห่งประเทศไทย เบอร์ 1213
สำหรับโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่
มาตรการที่ 1 "จ่ายตรง คงทรัพย์" เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลาของมาตรการ (ชำระเงินตรงเวลาและไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกของการเข้าโครงการฯ)
มาตรการ "จ่ายตรง คงทรัพย์" มีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่วงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตให้กับลูกหนี้ โดยค่างวดที่ลดลงจะทำให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเหลือสำหรับดำรงชีพเพิ่มเติมระหว่างอยู่ในมาตรการ ขณะที่ดอกเบี้ยที่ได้รับยกเว้นจะช่วยให้ภาระหนี้โดยรวมของลูกหนี้ลดลง
คุณสมบัติผู้เข้าร่วมมาตรการ
ประเภทสินเชื่อ
- สินเชื่อบ้าน/บ้านแลกเงิน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
- สินเชื่อเช่าซื้อ/จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท
- สินเชื่อเช่าซื้อ/จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท
- สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
กรณีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไขมาตรการข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เจ้าหนี้รับได้ โดยวงเงินรวมต้องไม่เกินตามที่กำหนดไว้
*ยกเว้นการรวมหนี้กับสินเชื่อบ้านของ ธอส.
เงื่อนไขสินเชื่อ
- สัญญาสินเชื่อที่ทำก่อน 1 ม.ค. 67
- มีสถานะลูกหนี้ ณ 31 ต.ค. 67 อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
-หนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 30 วัน จนถึง 365 วัน
-หนี้ที่ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน ที่เคยมีประวัติค้างชำระรวมมากกว่า 30 วัน และเคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65
- หากจ่ายชำระไม่ได้ตามตามเงื่อนไขของสัญญา จะต้องออกจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่พักไว้
- หากสัญญาสินเชื่อมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องให้ความยินยอม และลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่
มาตรการที่ 2 "จ่าย ปิด จบ" เป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน ซึ่งมาตรการ "จ่าย ปิด จบ" นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก "หนี้เสีย" เป็น "ปิดจบหนี้" และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น
คุณสมบัติผู้เข้าร่วมมาตรการ
ประเภทสินเชื่อ
- หนี้บุคคลธรรมดาทุกประเภท
เงื่อนไขสินเชื่อ
- ลูกหนี้บุคคลธรรมดา ที่มีสถานะลูกหนี้ ณ 31 ต.ค. 67 ค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน (NPL)
- มียอดหนี้ ไม่เกิน 5,000 บาท ต่อบัญชี (เข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี)
ในช่วงเริ่มต้น โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" จะครอบคลุมลูกหนี้ของ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-bank อื่นๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไป