‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘แข็งค่า’ที่29.90บาทต่อดอลลาร์
ตลาดการเงินทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยง ด้านเงินบาทระยะสั้นยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ ตามทิศทางของเงินดอลลาร์ส่วน แนะนำจับตาทิศทางของภาพตลาดทุนเพิ่มเติม
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.92 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 29.95 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.82-30.02 บาทต่อดอลลาร์
ตลาดการเงินชนกับแนวต้านในคืนที่ผ่านมา แม้หุ้นเทคโนโลยีจะขยับสูงขึ้นต่อ แต่ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐกลับปรับตัวลง 0.11% เนื่องจากนักลงทุนหันมากังวลกับความเสี่ยงเงินเฟ้อ หลังราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่นับตั้งแต่มกราคม 2020 ขณะที่แนวโน้มความผันผวนในอนาคตของตลาดก็น่ากังวล หลังบริษัทใหญ่อย่าง Tesla หันไปใช้บิทคอยน์เป็นส่วนประกอบของงบการเงิน
ภาพตลาดที่ระมัดระวังตัว กดดันให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีปรับตัวลดลง 2bps มาที่ระดับ 1.15% ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่า 0.4% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยมีสกุลเงินปลอดภัยอย่างฟรังก์สวิส (CHF) และเยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสกุลเงินที่แข็งค่านำ โดยตลาดเงินกลับมาให้ความสนใจเรื่องนโยบายการเงินและการคลังของฝั่งสหรัฐอีกครั้ง แม้ดอลลาร์จะไม่อ่อนค่าเร็วในระยะสั้น แต่ก็เชื่อว่าการที่เฟดคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ พร้อมกับกระทรวงการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนัก จะส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2021
ด้านเงินบาทระยะสั้นยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ โดยในเช้าวันนี้แข็งค่าลงเล็กน้อยตามทิศทางของเงินดอลลาร์ส่วนในระหว่างวันแนะนำจับตาทิศทางของภาพตลาดทุนเพิ่มเติม ถ้ามีการปรับฐานลงก็อาจเห็นการขายทำกำไรหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องมาในช่วงนี้ อย่างไรก็ดีเชื่อว่าใน 1-2 สัปดาห์นี้ยังไม่มีประเด็นที่สามารถทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวได้มากนัก
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.85-30.00 บาทต่อดอลลาร์ในส่วนค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ทว่า เงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้นำเข้า ก็รอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์
ขณะเดียวกัน ฟันด์โฟลว์ในฝั่งตลาดทุนก็เริ่มมีแรงขายบอนด์ออกมาบ้างจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่ง ถ้าหากนักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยด้วย ก็อาจจะช่วยประคองให้เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ +/- 15 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์หรือฟันด์โฟลว์เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน อาทิเช่น ตลาดปิดรับความเสี่ยง จนเกิดฟันด์โฟลว์ไหลออกสุทธิ พร้อมกับ เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นตามความต้องการหลุมหลบภัยชั่วคราว เป็นต้น
ตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง โดยผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลว่า การเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯรวมถึงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของเฟด อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน โดยเฉพาะระดับราคา (Valuation) ของหุ้นซึ่งแพงเกินปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะแพงกว่าสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างพันธบัตรรัฐบาล หากบอนด์ยีลด์ระยะยาว อาทิ บอนด์ยีลด์ 10ปี ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ
ความกังวลดังกล่าวส่งผลให้ ตลาดหุ้นโดยรวมย่อตัวลงเล็กน้อย โดย ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ย่อลง 0.11% เช่นเดียวกับในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ปิดลบ 0.12%
นอกจากนี้ ความผันผวนในฝั่งสินทรัพย์เสี่ยง ได้หนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง พันธบัตรรัฐบาล ทำให้ บอนด์ยีลด์10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเกือบ 2bps สู่ระดับ 1.16%
ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 90.4 จุด ส่วนเงินยูโรแข็งค่าขึ้นกว่า 0.5% แตะระดับ 1.21 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนสกุลเงินที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง ออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) ก็แข็งค่าขึ้นราว 0.4% แตะระดับ 0.774 ดอลลาร์ต่อ AUD หลังแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลกและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ได้ช่วยหนุนให้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวขึ้นแตะระดับกว่า 61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สำหรับวันนี้ ในส่วนข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม จะปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับ 1.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาน้ำมันและอาหาร จะทรงตัวที่ระดับ 1.5% เช่นกัน ทว่า แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปก็มีโอกาสเร่งตัวขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จากผลกระทบของราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้จากปีก่อนหน้าไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งภาพการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดการเงินได้ หากบอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งสหรัฐฯ ก็เร่งตัวขึ้นจนทำให้ตลาดกังวลระดับราคา (Valuation) ของสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง
ทั้งนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ออกมาแสดงความเห็นว่า การเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและไม่ได้ส่งผลให้เฟดต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน เพราะเฟดจะระวังและอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ เรามองว่า ตลาดจะรอฟังถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสบดี โดยเฉพาะประเด็น แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความกังวลของเฟดต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ และ โอกาสเฟดปรับเปลี่ยนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง
นอกจากนี้ ตลาดจะยังคงติดตามความคืบหน้าการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และการแจกจ่ายวัคซีน