หนุนระบบบริการสุขภาพรับมือโควิด-19
สสส. จับมือ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หนุนระบบบริการสุขภาพรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ เตรียมความพร้อมนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสา ดึงล่ามอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ LPN ร่วมให้คำปรึกษาผู้ได้รับผลกระทบด้านสังคม
พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้หน่วยบริการสุขภาพ และบุคลาการทางการแพทย์ ปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย แต่การรักษาทางการแพทย์นั้นอาจยังไม่ครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะมิติทางสังคม ผู้ป่วยส่วนมากเกิดความเครียดจากการขาดรายได้ มีความกังวลด้านความเป็นอยู่ของครอบครัว และนับถือตัวเองน้อยลง
สสส. จึงร่วมกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน LPN สมุทรสาคร (Labour Rights Protection Network Foundation) และภาคีเครือข่ายอีก 26 หน่วยงาน พัฒนาศักยภาพล่ามอาสาสมัครภาษาพม่า ภาษาเขมร และแกนนำชุมชน ร่วมกับนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสาสร้างกลไกทางสังคมที่ทำงานร่วมกับหน่วยบริการสุขภาพ โรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทำหน้าที่ช่วยเป็นล่ามแปลภาษา ให้ความช่วยเหลือดูแลด้านสังคมแก่ผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และคนในชุมชน
“สสส. ยังได้บูรณาการแผนงานต่าง ๆ ภายในองค์กร โดยร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ผลิตสื่อสร้างความเข้าใจในรูปแบบภาษาเมียนมา สปป.ลาว เขมร รวมทั้งออกแบบหลักสูตรออนไลน์ในการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ (อสต.) เพื่อนำไปขยายผลกับล่ามอาสาสมัครภาษาพม่า ภาษาเขมร และแกนนำชุมชนชาวเมียนมาในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร หลังพบว่ายังมีแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องจากภาครัฐ” พญ.ขจีรัตน์ กล่าว
ศ.ระพีพรรณ คำหอม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการฯ นี้เกิดขึ้นตั้งแต่การระบาดระลอกแรกเมื่อเดือนมกราคม 2563 ซึ่งในเวลานั้นนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสารวมตัวกัน 314 คน ผ่านการพัฒนาหลักสูตรสมรรถนะการทำงานสังคมสงเคราะห์เพื่อให้คำปรึกษาช่วยเหลือทางสังคมกับผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ได้รับผลกระทบ หลังจากนั้นมีนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสา 110 คนติดตามผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1,465 คน ใน 4 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ
ผลการติดตามผู้ป่วยฯ พบ 3 ปัญหาหลักคือ ร้อยละ 49.8 มีปัญหาการประกอบอาชีพและการทำงาน ร้อยละ 45.6 มีปัญหาการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจและรายได้ และร้อยละ 35.7 มีปัญหาความรู้สึกไม่สบายทั้งกายและใจ มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางสังคมเพียง 11 รายคิดเป็นร้อยละ 0.7 ซึ่งแสดงถึงการเตรียมการรับมือด้านสาธารณสุขสามารถตอบสนองกับประชาชนได้ทันสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกใหม่นี้ มีอุปสรรคสำคัญคือเรื่องของภาษาของชาติพันธุ์ต่าง ๆ จึงทำให้การทำงานรอบนี้มีความซับซ้อนต้องใช้ล่ามอาสาสมัครภาษาเมียนมา LPN ที่รู้จักพื้นที่รอบนอกตลาดกุ้ง เข้าไปดูแลให้ความรู้การป้องกันตนเอง โดยทำร่วมกับอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) และอาสาสมัครแรงงานต่างชาติ (อสต.) ของกระทรวงแรงงาน และเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่สมุทรสาคร การดำเนินการครั้งนี้เป็นการเตรียมอบรมล่ามอาสาสมัครภาษาเมียนมา โดยใช้วิธีการการจับคู่ระหว่างนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสากับล่ามแปลภาษา รวมจำนวนทั้งสิ้น 30 คน
ศ.ระพีพรรณ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมและศักยภาพของนักสังคมสงเคราะห์และล่าม จะต้องผ่านการฝึกอบรมสมรรถนะทางออนไลน์ 4 ครั้ง ประกอบด้วย 1.การให้คำปรึกษาเสริมพลังอำนาจกับผู้ป่วยโควิด-19 ทางออนไลน์ 2.การฝึกทักษะการฟัง 3.การฝึกทักษะการทำงานผ่านการใช้เครื่องมือการประเมินปัญหาทางสังคม และการวางแผนสร้างทางเลือกกับผู้ป่วยฯ 4.การคุ้มครองเด็กในภาวการณ์ระบาดโควิด-19 ในเดือนกุมภาพันธ์ กลุ่มอาสาสมัครจะเข้าสู่การปฏิบัติการร่วมกันในพื้นที่ระหว่างล่ามอาสาสมัครภาษาพม่ากับนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสา พร้อมทั้งจะมีการติดตามผลการดำเนินการช่วยเหลือทางสังคมเพื่อพัฒนาไปสู่ระบบการดูแลสุขภาวะกับหน่วยงานของรัฐในระยะต่อไป