จับพิรุธ รฟม. ‘มั่วข้อมูล’ ประมูลสีน้ำเงิน

เปิดพิรุธผู้ว่าการ รฟม. ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม อ้างปี 2540 เคยใช้หลักเกณฑ์คะแนนเทคนิคร่วมกับคะแนนการเงินมาแล้วในโครงการสายสีน้ำเงิน และได้งานก่อสร้างที่มีคุณภาพ ทั้งที่ข้อเท็จจริงพบว่าการประมูลสัมปทานดังกล่าวเป็นการคัดเลือกผู้ให้บริการเดินรถ

การแก้ไขหลักเกณฑ์ หรือ TOR การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท ซึ่งนำมาสู่การล้มประมูลโครงการ โดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ มีมติให้นำคะแนนด้านเทคนิคมาพิจารณาร่วมกับข้อเสนอผลตอบแทนให้รัฐ โดยให้คะแนนเทคนิค 30% และคะแนนข้อเสนอด้านการเงิน 70% จากเดิม TOR กำหนดว่าจะพิจารณาจากข้อเสนอการเงิน 100% หากบริษัทรายนั้นๆผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคมาแล้ว

โดยผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือ รฟม. ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ระบุว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวเคยใช้มาแล้วในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ เมื่อปี 2540 โดยครั้งนั้นแบ่งสัดส่วนเทคนิค 50% การเงิน 50% ซึ่งมากกว่าสายสีส้ม และได้ผลงานก่อสร้างและบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัยสูงสุด แต่ในส่วนของสายสีส้ม ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผลตอบแทนด้านการเงินมีความสำคัญ จึงเพิ่มสัดส่วนเป็น 70% ส่วนเทคนิค 30%

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ บิซอินไซท์ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในปี 2540 และพบว่าโครงการดังกล่าวใช้เงินกู้จากญี่ปุ่นมาก่อสร้างโครงสร้างระบบราง หรืองาน Civil work ทั้งหมด

ส่วนการจัดหาขบวนรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถ และการซ่อมบำรุง ได้ประกาศให้เอกชนมาแข่งขันเพื่อรับสัมปทานเดินรถ
. ในการคัดเลือกผู้รับสัมปทานปี 2540 รฟม. กำหนดเงื่อนไข TOR ว่า เอกชนกลุ่มใดให้ผลประโยชน์ แก่ รฟม. มากกว่า จะได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะ โดยไม่เคยนำเรื่องเทคนิคการก่อสร้างมาร่วมพิจารณาด้วยเลย

"เพราะสัมปทานที่แข่งขันกันในปี 2540 นั้น ไม่มีงานก่อสร้างใดๆเลย"

ส่วนผลการประมูลคัดเลือกผู้รับสัมปทานในปี 2540 พบว่ามีเพียง 2 กลุ่ม ยื่นข้อเสนอแก่ รฟม. คือกลุ่มบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนท์ กับกลุ่มบมจ. ช.การช่าง โดยกลุ่มอิตาเลียนไทยฯไม่เสนอผลประโยชน์ใดๆให้ รฟม.เลย คือให้ รฟม. เป็นเงินศูนย์บาท ดังนั้นกลุ่ม ช.การช่าง จึงได้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน