ค้นหาคำตอบ!! จับคู่ธุรกิจ 'กัญชา' ต้องทำอย่างไร?
"กัญชา" Product Champion สู่ “ตลาดสุขภาพ” ได้ต้องมีการส่งเสริมจับคู่ทางธุรกิจให้แก่ผู้ผลิต และตลาด เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจไทย
ปัจจุบัน "ตลาดกัญชา" ถูกกฎหมายมีมูลค่า 17.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5 แสนล้านบาท อัตราการเติบโตของ "ตลาดกัญชา" มากกว่าร้อยละ 17 โดย "กัญชา" ในตลาดทางแพทย์และ "ตลาดสุขภาพ" สร้างรายได้ถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าทั้งหมด รัฐบาล เล็งเห็นว่า "กัญชา" เป็นทางออก "เศรษฐกิจ" ของประเทศไทย เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตร อุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชาชน จึงได้ส่งเสริมให้พัฒนา "กัญชา" แบบครบวงจร
วันนี้ (11 มี.ค.2564) ที่ "กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก" นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนยากรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าว การพัฒนา "กัญชา" เพื่อ "เศรษฐกิจไทย" ในการประชุมเชิงปฎิบัติการ "กัญชา" ใน "ตลาดสุขภาพ” และการจับคู่ธุรกิจส่วนของ "กัญชา" ที่ไม่ใช่ยาเสพติด
นายอนุทิน กล่าวว่ารัฐบาลมีความจริงใจ ตั้งใจในการผลักดันพัฒนาด้านสมุนไพรอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริม "เศรษฐกิจ" ของประเทศ ตั้งแต่ผู้ปลูกอย่างเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงพี่น้องประชาชนทั่วไปให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการประโยชน์จากสมุนไพรที่เป็นทรัพยากรของชาติได้ เพราะวันนี้รัฐบาลได้ปลดล็อกกัญชงออกเป็นยาเสพติด และ “กัญชา”จะปลดล็อกส่วนต่างๆ มาใช้ประโยชน์โดยไม่ได้ผิดกฎหมาย
"วันนี้ "กัญชา"ในสายตาคนไทยที่เคยมองว่าเป็นยาเสพติด แต่รัฐบาลได้ผลักดันให้ “กัญชา”เป็น"Product Champion" สามารถมาค้ำจุน "เศรษฐกิจ"ไทย ซึ่งมูลค่าของตลาด“กัญชา”นั้นมหาศาล และเป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)กำหนด มีการควบคุมที่เข้มงวดอย่างมาก ขณะนี้คงต้องไปหารือกับทางอย. ให้มีความผ่อนคลายมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้คนไทยสามารถปลูก “กัญชา”ได้มากขึ้น อันนำไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนชาวไทย”นายอนุทิน กล่าว
- "จับคู่ธุรกิจ" “กัญชา” สู่ตลาดสุขภาพ
ประเทศไทย เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รัฐบาลสนับสนุนการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญจากการพัฒนา "กัญชา" ทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขได้ขยายไปสู่ “ตลาดสุขภาพ” ร่วมกับภาคเอกชน ผู้ผลิตที่มีศักยภาพ และ "วิสาหกิจชุมชน" ผู้ปลูกที่มีคุณภาพ สธ.ได้มอบหมายกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ในการผลักดันให้ "กัญชา" กัญชงเพื่อ"เศรษฐกิจ" การแพทย์ไปสู่ภาคเกษตรกร และอุตสาหกรรมมากที่สุด
ความร่วมมือครั้งนี้ มีโรงงานผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพรเดี่ยว และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเข้าร่วม 29 บริษัท มีความต้องการวัตถุดิบ “กัญชา” รวมกันมากกว่า 30 ตัน ส่วนผู้แทน "วิสาหกิจชุมชน" ผู้ปลูก“กัญชา”คุณภาพและถูกต้องตามกฎหมาย 4 กลุ่ม จาก 5 จังหวัด เป็นผู้แทนกลุ่มเกษตรกรมากกว่า 30 กลุ่มรวมพื้นที่ปลูก “กัญชา” มากกว่า 60 ไร่ การ "จับคู่ธุรกิจ" เจรจาวัตถุดิบ “กัญชา” ครั้งนี้ คาดมีมูลค่ามากกว่า 150 ล้านบาท
- กระทรวงเกษตรฯ ให้ความรู้ สร้างตลาดกลาง
น.ส.มนัญญา กล่าวว่ากระทรวงเกษตรฯ จะช่วยแบ่งเบาภาระของสธ. และกรมการแพทย์แผนไทยฯ ที่ได้ต่อสู้เรื่อง “กัญชา” กัญชง ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนชาวไทยสามารถใช้ บริโภค และนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ จะทำให้เกษตรกรทุกครัวเรือนสามารถปลูกได้
โดยทางกรมวิชาการ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการศึกษาทำเรื่องของเมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้ “กัญชา” สายพันธุ์ต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศเกิดความมั่นคง เกษตรกร ประชาชนได้มีองค์ความรู้ในการปลูก "กัญชา"อย่างถูกต้อง โดยจะร่วมกับทางอย.ในการตรวจสอบ ทำให้ชาวบ้านปลูกได้อย่างความมั่นคงและมั่นใจ
รวมถึงการควบคุมต้นกล้าจะทำอย่างไร ให้ไม่ยุ่งยาก และไม่มีแมลงเข้ามายุ่งเกี่ยว อีกทั้งแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยมีความแตกต่างกัน จะต้องให้ความรู้แก่ประชาชน เกษตรกรปลูก “กัญชา” กัญชงได้ โดยมีเกษตรกรจังหวัดเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยดูแลให้ความรู้แก่เกษตรกร ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เกษตร จะเปิดให้มีการรับซื้อ เมล็ดกัญชา เพื่อให้เกิดความสมดุลในทางการตลาดกลาง
- มีผู้มาใช้บริการ “กัญชา”ทางการแพทย์กว่า 65,000 ราย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้บริการ"กัญชา"ทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2562 นำไปใช้ในผู้ป่วย เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน มะเร็งระยะสุดท้าย เข้าถึงการรักษาด้วย "กัญชา"มากขึ้น นอกจากนี้ ได้แก้ไขกฎกระทรวงปลดล็อกชิ้นส่วนต่างๆ ของ "กัญชา" ไม่เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 เพื่อนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าทาง"เศรษฐกิจ"
ในปี 2564 ได้บรรจุ "กัญชา" ทางการแพทย์เป็นแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) สาขาที่ 20 เพิ่มโอกาสการเข้าถึงในการรักษาโรคปัจจุบันเปิดให้บริการ "กัญชา" ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัดฯ 700 กว่าแห่งทั่วประเทศ มีผู้มารับบริการมากกว่า 65,000 ราย รวมกว่า 100,000 ครั้ง โดยตั้งเป้าให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดให้บริการคลินิก "กัญชา" ทางการแพทย์ในทุกพื้นที่ และยังกำหนดให้สมุนไพร "กัญชา" และกัญชง เป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วย
- “กัญชา” สร้าง "เศรษฐกิจ"ประเทศ 3 ด้าน
ด้านพญ.อัมพร กล่าวว่า ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 - 2565 มีการกำหนดวางแผนการพัฒนาสมุนไพรให้ครบวงจรเป็น "Product Champion" พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดและสร้าง "เศรษฐกิจ" ได้
โดยมีการพัฒนา “กัญชา” เพื่อ "เศรษฐกิจ" มีเป้าหมายต่อยอด “กัญชา” สู่การสร้าง "เศรษฐกิจ" ประเทศ3 ด้าน ได้แก่ 1.ยาแผนไทย เพื่อรักษาและดูแลสุขภาพกลุ่มผู้ป่วยเป้าหมาย 2.ผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อสร้างเสริมสุขภาพประชาชนทั่วไป มีเป้าหมายต่อ "เศรษฐกิจ" ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 3.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ "กัญชา" ผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวจากประสบการณ์ตรง
- ราคาซื้อขาย "กัญชา" ในไทย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมี "วิสาหกิจชุมชน" ที่ได้รับอนุญาตปลูกจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จำนวน 82 ราย แต่ละรายก็มีรูปแบบการปลูกที่หลากหลาย ทั้งแบบระบบปิด (Indoor) แบบโรงเรือน (Greenhouse) และแบบกลางแจ้ง (Outdoor) ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแต่ละ "วิสาหกิจชุมชน" ที่ขออนุญาตปลูกร่วมกับหน่วยงานรัฐ ทั้งเพื่อการศึกษาวิจัยและการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ "กัญชา" ทางการแพทย์ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน
ทั้งนี้ สำหรับราคาการรับซื้อช่อดอกแห้งเกรด A ปริมาณสารสำคัญ CBD มากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ (โดยน้ำหนัก) กิโลกรัมละ 45,000 บาท เกรด B ปริมาณสารสำคัญ CBD 10 – 11.9 เปอร์เซ็นต์ (โดยน้ำหนัก) กิโลกรัมละ 37,500 – 43,125 บาท ปริมาณสารสำคัญ CBD 8-9.9 เปอร์เซ็นต์ (โดยน้ำหนัก) กิโลกรัมละ 30,000 - 35,625 บาท
ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตตามที่องค์การเภสัชกรรม กำหนด สำหรับผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเสนอเข้าร่วมที่ www.gpo.or.th/กัญชา หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ call center โทร 1648 E-mail: [email protected] โดยองค์การฯ จะพิจารณาคุณสมบัติและศักยภาพตามรายละเอียดที่ลงทะเบียนไว้
จากนั้นติดต่อ "วิสาหกิจชุมชน" รวบรวมข้อมูลรายละเอียดเพิ่ม ลงพื้นที่เพื่อประเมินแผนการปลูก และพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ขององค์การฯ และขออนุญาตร่วมกันปลูก "กัญชา" ทางการแพทย์ต่อ อย. เมื่อได้รับอนุญาตจาก อย.แล้ว "วิสาหกิจชุมชน"และองค์การฯ จะร่วมกำหนดปริมาณน้ำหนักช่อดอกแห้งและระยะเวลาที่จะส่งมอบเพื่อจัดทำสัญญาซื้อขายต่อไป
- แนวทาง"วิสาหกิจชุมชน"ปลูก "กัญชา"
"วิสาหกิจชุมชน" ที่จะร่วมมือกับองค์การฯต้องเป็น "วิสาหกิจชุมชน" ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และได้รับอนุญาตผลิต (ปลูก) ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (กัญชา) จากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ มีประสบการณ์ในการปลูก "กัญชา" ทางการแพทย์สายพันธุ์ "กัญชา" ตามที่องค์การฯต้องการ วิธีการปลูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชสมุนไพร Good Agricultural Practices (GAP) มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดี เพื่อป้องกันการรั่วไหลของ "กัญชา" ตลอดการปลูก การเก็บเกี่ยว การทำลาย และการขนส่ง
นายโยชัย ศศิวรรณ ที่ปรึกษา "วิสาหกิจชุมชน"กลุ่มปลูกและแปรรูปบุก เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่าทางกลุ่มมีประสบการณ์การปลูกแบบโรงเรือนระบบ Evaporation พื้นที่ 1,200 ตรม. สามารถปลูก"กัญชา"ได้ต่อรอบประมาณ 500 ต้น
ปี 2563 ได้ส่งมอบ "กัญชา" ทางการแพทย์ให้หน่วยงานต่างๆ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว โดยในความร่วมมือครั้งนี้ ทางกลุ่มฯมีแผนงานขยายพื้นที่ปลูกโดยใช้พื้นที่ อ. เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เป็นการปลูกแบบโรงเรือน พื้นที่ปลูก 3,000 ตรม. สามารถปลูกกัญชาได้ประมาณ 2,000 ต้น/รอบ