'บอร์ดอีวี' หารือเร่งแผนใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
“กุลิศ” เผยประชุมคณะกรรมการอีวี ปลายเดือนมี.ค.นี้ เตรียมกำหนดเป้าหมายลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เล็งขยับเป้าหมายใช้อีวี 50%ในปี 2573 ตามข้อเสนอเอกชน ด้าน กฟผ. ผนึก6ค่ายรถ ลุยธุริกจอีวี ดันขยายปั๊มชาร์จ 35 แห่งปีนี้
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเปิดตัวธุรกิจ “EGAT EV Business Solutions” ภายใต้ชื่องาน The Next Future Journey EGAT EV Business Solutions โดยระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกในหลายร้อยปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ซึ่งเครื่องยนต์สันดาปเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ถึง 72.5% สร้างมพิษทางอากาศและเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกตระหนักถึงปัญหานี้ และประกาศเป้าหมายชัดเจนที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์เป็นศูนย์ (Carbon neutrality) ซึ่งหนึ่งในแนวทางดังกล่าว คือ การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) โดยคาดการณ์ว่าปี 2568 ราคารถอีวีจะเท่ากับรถยนต์สันดาป และในปี 2583 จำนวนรถอีวีจะมีมากกว่ารถยนต์สันดาป เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์เป็นศูนย์(Carbon neutrality)
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อผลักดันการใช้รถอีวีตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยคณะกรรมการฯ จะมีการประชุมในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ เพื่อกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมให้ชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายปี 2573 จะมีการผลิตรถอีวี 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด หรือประมาณ 750,000 คัน และภายในปี 2583 จำนวนรถอีวีจะเพิ่มเป็น 2.5 ล้านคัน
“การประชุมคณะกรรมการฯครั้งนี้ ก็คงต้องมาคุยกันให้ชัดเจนว่าจะกำหนดเป้าหมาย Carbon neutralityในปีไหน และจำนวนรถอีวี ปีไหนจะเป็นเท่าไหร่ ส่วนที่เอกชนเสนอให้เพิ่มจำนวนรถอีวีเป็น 50% ในปี 2573 ก็มีความเป็นไปได้ เพราะทั่วโลกตอนนี้เร่งส่งเสริมอีวีเร็วขึ้น แต่ก็ต้องรอความชัดเจนจากการประชุม”
นอกจากนี้ ในส่วนของ กฟผ. ที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เตรียมส่งเสริมการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) เมื่อวันที่ 10 มี.ค.64 ได้อนุมัติให้จัดตั้งบริษัท Egat Innovation Holdings มี กฟผ.ถือหุ้น 40%, บริษัท ราช กรุ๊ป ถือหุ้น 30% และบริษัท ผลิตไฟฟ้า (เอ็กโก กรุ๊ป) ถือหุ้น 30% เพื่อขับเคลื่อนใน 2 เรื่องหลัก คือ 1.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยายนต์ไฟ้ฟา เช่น รถอีวี แบตเตอรี่ เทคโนโลยี5G
2. การเทรดดิ้งไฟฟ้า ซึ่งกฟผ.จะเป็นตัวกลางรับ-ส่งไฟฟ้า ไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ กฟผ.ได้เปิดตัวธุรกิจให้บริการซื้อขายเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) รวมทั้งการให้บริการรับรอง REC เพื่อสนับสนุนการลงทุนใหม่ๆในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) เพื่อตอบโจทย์บริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่มีทางเลือกในการใช้พลังงานสะอาดเป็นคอมเมอร์เชียล
วานนี้(11มี.ค.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้เปิดตัวธุรกิจ EGAT EV Business Solutions ภายใต้ชื่องาน The Next Future Journey EGAT EV Business Solutions” ภายใต้ชื่องาน The Next Future Journey EGAT EV Business Solutions พร้อมลงนามความร่วมมือ EV Charging Station & Platform co creation for Electric Vehicles Project ระหว่าง กฟผ. และพันธมิตรจาก 6 บริษัทรถยนต์ชั้นนำ ได้แก่ Audi, BMW, Mercedes-Benz, MG, Nissan และ Porsche เพื่อให้ความร่วมมือกันในด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า Application เชื่อมโยงข้อมูล และการส่งเสริมการขาย
นายวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.เตรียมจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการใช้บริการชาร์จรถอีวี ซึ่งคาดว่า ราคาค่าบริการชาร์จไฟสำหรับรถอีวีจะไม่เกิน 1 บาทต่อกิโลเมตร โดยอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียด ขณะที่ค่าบริการชาร์จไฟรถอีวี ตามต้นทุนการลงทุนในปัจจุบัน เบื้องต้นมีอัตราอยู่ที่ประมาณ 7-8 บาทต่อหน่วย