อย่าติดเลื่อนไปเรื่อย โค้ชจาก Google แนะวัยทำงานแก้นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง
ติดเลื่อนไปเรื่อย ระวัง! ฉุดความสำเร็จในอาชีพการงาน โค้ชผู้นำระดับสูงจาก Google แนะวิธีแก้นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง
KEY
POINTS
- ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพการทำงานของผู้นำระดับสูงจาก Google เผยวิธีรับมือกับ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” ด้วยการแก้นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง
- ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ใช้เทคนิค “การเป็นผู้ช่วยของตัวเอง” โดยใช้เวลาเตรียมงานแค่ 5 นาที ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกว่างานเป็นระเบียบมากขึ้นและลดความเครียดได้
- บางครั้งหากพบว่าพลังงานของคุณลดลง เค้นสมองทำงานต่อไม่ไหว ให้ก้าวถอยจากตรงนั้นไปสักครู่ เพื่อบูสต์พลังกลับมาใหม่
ในฐานะที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพการทำงานของผู้นำระดับสูงของ Google ลอร่า เม มาร์ติน (Laura Mae Martin) มีความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานใหม่หรือผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานสำเร็จได้มากขึ้นโดยไม่เบิร์นเอาท์ไปเสียก่อน
ที่ผ่านมาเธอเป็นโค้ชให้กับวิศวกรและผู้บริหารระดับสูงที่เก่งที่สุดในโลกหลายคน ในการรับมือกับ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” และ “ภาวะผลงานตกต่ำ” แต่ถึงอย่างนั้น แม้จะเคยสอนให้คนอื่นประสบความสำเร็จในอาชีพการงานมากมาย แต่บางครั้งตัวเธอเองก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดัก “ผัดวันประกันพรุ่ง” ได้เช่นกัน เพราะสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับวัยทำงานทุกคน
เอาชนะการผัดวันประกันพรุ่ง ด้วยการเป็น “ผู้ช่วยของตัวเอง”
กลยุทธ์อย่างหนึ่งของเธอในการเอาชนะนิสัยผัดวันประกันพรุ่งนั้น เป็นวิธีที่เรียบง่ายอย่างน่าประหลาดใจ นั่นคือ “การทำตัวเหมือนเป็นผู้ช่วยของตัวเอง”
“การเริ่มต้นลงมือทำคือส่วนที่ยากที่สุด ในการรับมือกับงานชิ้นใหญ่ๆ หรือเป้าหมายงานใหญ่ในระยะยาว รวมถึงโปรเจกต์ด้านครีเอทีฟที่ต้องประสานงานหลายฝ่าย หากไม่มีการวางแผนงานหรือควบคุมตัวเองให้ดี คุณก็อาจติดกับดักกับคำว่า ‘ตั้งใจจะทำ’ (แต่ไม่ได้ทำ) อยู่ร่ำไป จนในที่สุดงานนั้นก็ถูกละเลยไปได้ง่าย” มาร์ตินบอกกับ CNBC Make It
ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพการทำงานบอกอีกว่า การทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของตัวเองจะสามารถช่วยให้คุณเอาชนะอุปสรรคในการผัดวันประกันพรุ่งได้ และกลยุทธ์นี้ใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น
เปิดขั้นตอนการเป็นผู้ช่วยของตัวเอง เน้นการเตรียมงานไว้ก่อนส่วนหนึ่ง
เมื่อรู้ตัวว่าตนเองมีแนวโน้มที่จะเลื่อนหรือผัดวันประกันพรุ่ง กับงานชิ้นใหญ่ๆ ที่กองอยู่ตรงหน้า มาร์ตินแนะนำให้วัยทำงานถามตัวเองว่า “ถ้าฉันเป็นผู้ช่วยของใครสักคน และฉันต้องการให้เจ้านายทำให้เรื่องนี้ให้เสร็จพรุ่งนี้ ฉันจะทำอย่างไรเพื่อผลักดันพวกเขาอย่างนุ่มนวลและทำให้มันง่ายขึ้น”
แนวทางนี้จะแยกขั้นตอน “การวางแผน” และ “การดำเนินงาน” ออกจากกัน ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้สึกเป็นระเบียบมากขึ้นและลดความเครียดได้ ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังเตรียมการนำเสนอโปรเจกต์งานชิ้นนี้ ให้สลับบทบาทของตัวเองมาเป็น “ผู้ช่วย” โดยในฐานะผู้ช่วยคุณอาจจะช่วยเจ้านายทำสิ่งเหล่านี้ไว้ก่อนล่วงหน้า ได้แก่
- เปิดสไลด์เปล่าบนคอมพิวเตอร์ของคุณ
- บันทึกภาพที่ต้องใช้หรือรวมลิงก์การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์นั้นเตรียมไว้
- ค้นหาโครงร่างตัวอย่างสไลด์นำเสนอจากโครงการที่คล้ายกัน
- จากนั้นในวันรุ่งขึ้น เมื่อทุกอย่างเตรียมเสร็จเรียบร้อยแล้ว (ตั้งแต่เมื่อวาน) การเริ่มงานของวันนั้นๆ ก็จะดูง่ายขึ้นมาก
การใช้เทคนิค “เป็นผู้ช่วยของตัวเอง” ใช้ได้ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว
มาร์ตินนำเทคนิคนี้ไปใช้กับทั้งงานและชีวิตส่วนตัวของเธอ ครั้งหนึ่งเธอเคยมีความรู้สึกอยากผัดวันประกันพรุ่ง ในการติดตั้งรูปโปสเตอร์ในห้องนอนของลูกชาย เธอก็ใช้วิธีนี้มาช่วยโดยจัดเตรียมเครื่องมือจำเป็นที่ต้องใช้ (เช่น ค้อน ตะปู กรอบรูปที่ต้องติด) ไว้ในคืนวันศุกร์
“เช้าวันรุ่งขึ้นในวันเสาร์ ฉันเห็นอุปกรณ์ต่างๆ วางไว้ แล้วคิดว่า ‘ทุกอย่างถูกเตรียมพร้อมแล้ว ฉันควรทำมันซะตอนนี้’ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงพลังงานเชิงลบ ให้เป็นพลังงานเชิงบวก ซึ่งช่วยให้ฉันไม่กลัวที่จะทำอะไรใหญ่ๆ หรืองานยากๆ ในคราวเดียว และทำให้รู้สึกว่างานนั้นจัดการได้ง่ายขึ้น” เธอเล่า
ในทำนองเดียวกัน การทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยตัวเองนั้น ยังหมายถึงการกำจัดสิ่งรบกวนที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน ก่อนลงมือทำงานใดๆ อย่าลืมเตรียมขนมและน้ำไว้ให้พร้อม ปิดทีวี และปิดเสียงโทรศัพท์ เป็นต้น มาร์ตินกล่าวว่าขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะช่วยให้คุณมีสมาธิและหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนได้ดียิ่งขึ้น
ข้อดีอีกอย่างของเทคนิคนี้คือ ช่วยตัดสิ่งรบกวนได้ดีขึ้น
แม้ว่ามาร์ตินเสริมอีกว่า งานบางอย่างอาจต้องมีการเตรียมตัวมากกว่าปกติเล็กน้อย แต่สำหรับงานส่วนใหญ่แล้ว คุณสามารถใช้เวลาเพียง 5 นาที เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เชิงบวกดังกล่าวได้เช่นกัน บางครั้งในกรณีที่พบว่าพลังงานของคุณลดลง เค้นสมองทำงานต่อไม่ไหว ให้ก้าวถอยออกไปจากตรงนั้นชั่วครู่ เพื่อรีเซ็ตพลังหรือบูสต์พลังกลับมาใหม่
“หากคุณนั่งทำงานที่โต๊ะจนสมองล้า แล้วยังฝืนเร่งทำงานต่อไป งานที่ทำในขณะนั้นอาจไม่ใช่ผลงานที่ดีที่สุดของคุณ แนะนำว่าคุณควรหยุดพักสักครู่ เดินหนีไปจากบรรยากาศตรงนั้นก่อนสัก 10 นาที แล้วค่อยกลับมาทวนงานที่ค้างไว้ หรือถ้าเป็นงานที่ไม่เร่งรีบ ก็ค่อยมาทำต่อในตอนเช้า การผ่อนตัวเองบ้างจะช่วยให้คุณมีพลังงานเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อผลงานของคุณอย่างมาก” เธอย้ำในท้ายที่สุด