Gen Z ขอเลื่อนตำแหน่งเร็วขึ้น แม้อายุงานน้อย อยากก้าวหน้ามากกว่ารุ่นอื่น

Gen Z ขอเลื่อนตำแหน่งเร็วขึ้น แม้อายุงานน้อย อยากก้าวหน้ามากกว่ารุ่นอื่น

วัยทำงาน Gen Z ทำซีอีโอ อึ้ง! ขอโปรโมทตำแหน่งงานเร็วขึ้นและบ่อยขึ้นแม้อายุงานน้อย เพราะพวกเขาอยากก้าวหน้าเร็วกว่ารุ่นอื่น และธรรมชาติของพวกเขาที่กล้าพูดกล้าถาม ก็สร้างความแปลกใจให้ผู้บริหารไม่น้อย

KEY

POINTS

  • การบริหารจัดการ Gen Z นั้นไม่ง่าย แต่พวกเขามีข้อดีคือสู้งานหนักและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันพวกเขาก็คาดหวังการเติบโตเรื่องอาชีพการงานสูงมาก
  • พวกเขาต้องการถูกโปรโมทหรือเลื่อนตำแหน่งเร็วขึ้นและบ่อยขึ้น ต้องการคำติชมที่สร้างสรรค์ และสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่นได้
  • การให้อิสระแก่พนักงานในการเสนอวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ และการทำงานร่วมกับคนรุ่น Gen Z อาจทำให้ผู้บริหารได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ และช่วยให้เติบโตขึ้นในฐานะผู้นำองค์กรที่พร้อมรับมือต่อความเปลี่ยนแปลง

ทุกวันนี้สังคมการทำงานในแทบทุกอุตสาหกรรม อยู่ในจุดที่กำลังผลัดเปลี่ยนรุ่นคนงาน คนรุ่นบูมเมอร์และ Gen X กำลังทยอยเกษียณอายุงาน และวัยทำงานรุ่น Gen Z ก็เข้าสู่ตลาดงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้ที่เป็นซีอีโอหรือผู้นำองค์กรต้องตามให้ทัน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมการทำงานที่ดีและมีประสิทธิภาพ

สำหรับ เจน ลู (Jane Lu) ซีอีโอชาวออสเตรเลียวัย 38 ปี ผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชั่น ShowPo ที่ประสบความสำเร็จ เธอเป็นหนึ่งในผู้นำที่ยอมรับว่า การบริหารจัดการพนักงานรุ่น Gen Z จำนวนมากในออฟฟิศนั้นไม่ง่าย เธอเปิดเผยประสบการณ์นี้ผ่านเว็บไซต์ NewsAustralia ว่า วิธีทำงานกับ Gen Z ไม่เหมือนกับ Millennial เลย พนักงานอายุน้อยสู้งานหนักและมีประสิทธิภาพ แต่พวกเขาก็มีความคาดหวังเรื่องอาชีพการงานที่แตกต่างจากกลุ่ม Millennial

“โดยทั่วไปแล้ว พวกเขามีความคาดหวังเกี่ยวกับการเติบโตก้าวหน้าในอาชีพที่สูงกว่ารุ่นอื่นมาก และพวกเขาต้องการถูกโปรโมทหรือเลื่อนตำแหน่งเร็วขึ้นและบ่อยขึ้น พวกเขาต้องการคำติชมที่สร้างสรรค์ และสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะการทำงานจากที่บ้าน สำหรับ Gen Z แล้ว มันเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าเป็นสิทธิพิเศษ” เธอ อธิบาย

นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมหรือทัศนคติหลายอย่างของวัยทำงานชาว Gen Z ที่ทำเอาซีอีโอคนนี้ต้องอึ้ง ไม่ใช่ว่าพวกเขาทำอะไรผิด แต่มีการกระทำบางอย่างที่แปลกแตกต่างอย่างคาดไม่ถึง และไม่เคยเห็นมาก่อน ..ต่อไปนี้คือ “ความแปลกแตกต่างจนอึ้ง” VS “ความน่าสนใจและน่าทึ่ง” ของวัยทำงาน Gen Z ที่ ซีอีโอของ ShowPo ออกมาแชร์ให้ทราบกัน

ความแปลกแตกต่างของชาว Gen Z ที่ซีอีโอไม่เคยเจอมาก่อน

ในฐานะซีอีโอของธุรกิจที่มีพนักงานรุ่นใหม่ในบริษัทจำนวนมาก เจน ลู พบว่าปัญหาอย่างหนึ่งของการมีพนักงานอายุน้อย คือ การรักษาพนักงานรุ่น Gen Z เอาไว้เป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขามีโอกาสลาออกได้ง่ายมาก หากพบว่าองค์กรมีทิศทางหรือนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดส่วนตัวของพวกเขา

“อายุงานโดยเฉลี่ยของพนักงานกลุ่ม Gen Z นั้น ต่ำกว่าพนักงานกลุ่ม Millennial มาก ดังนั้น หากบริษัทอยากรักษาพวกเขาเอาไว้ ต้องทำให้พวกเขาเห็นว่างานที่ทำอยู่มีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในงาน อีกทั้ง การมอบหมายงานให้ทำอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องอธิบายด้วยว่า ทำไมพวกเขาจึงได้รับมอบหมายงานนั้น นี่คือความแปลกแตกต่างจากพนักงานรุ่นก่อนๆ” เธอกล่าวอธิบาย

นอกจากนี้ยังพบว่า บางครั้งธรรมชาติของคนรุ่นใหม่ที่มักจะ “กล้าพูดกล้าทำโดยไม่เขินอาย” ก็ทำให้ซีอีโอต้องตกตะลึง ยกตัวอย่างครั้งหนึ่งเมื่อ เจน ลู กำลังสัมภาษณ์งานรอบสุดท้ายกับผู้สมัครงานชาว Gen Z คนหนึ่ง ผู้สมัครงานคนนั้นถามเธอเกี่ยวกับบทบาทของตำแหน่งงานนี้ (ที่กำลังเปิดรับคน) โดยละเอียดว่าต้องทำงานส่วนไหน อย่างไรบ้าง 

ขณะที่ซีอีโอก็ไม่ได้รู้รายละเอียดส่วนนั้นมากนัก จึงตอบไม่ได้ทั้งหมด ทางผู้สมัครจึงพูดขึ้นว่า ผู้จัดการฝ่าย HR ที่รับเธอมาน่าจะตอบได้ดีกว่า และขอให้ซีอีโอออกไปคุยกับ HR เพื่อสอบถามเรื่องนี้ให้เข้าใจ ทั้งนี้ เจน ลู บอกว่า “ฉันไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่า จะมีผู้สมัครงานคนไหนขอให้ซีอีโอออกไปถามใครสักคนในระหว่างการสัมภาษณ์งาน” 

การบริหารจัดการพนักงาน Gen Z ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากถ้าผู้นำเปิดใจ

ไม่ใช่แค่ความกล้าพูดกล้าทำเท่านั้น แต่พวกเขายังมีทัศนคติต่อระบบงานที่ไม่เหมือนคนรุ่นก่อนด้วย เจน ลู สังเกตเห็นว่าคนรุ่น Gen Z ไม่สนใจโครงสร้างกรทำงานแบบลำดับชั้น แต่พวกเขาต้องการให้ทุกคนในสำนักงานมีความเท่าเทียมกัน

ผู้นำอาจกังวลว่าการบริหารจัดการพนักงานรุ่น Gen Z ไม่ใช่เรื่องง่าย และมีอุปสรรคมากมาย แต่เรื่องนี้มีวิธีแก้เพียงแค่ต้องเข้าใจว่า พวกเขามีความทะเยอทะยานที่จะก้าวหน้าในอาชีพอย่างมาก ผู้นำจึงต้องตอบสนองความคาดหวังของพวกเขาให้ได้

“สิ่งที่ท้าทายที่สุดประการหนึ่งในการทำงานกับคนรุ่น Z คือการรับมือกับความคาดหวังที่สูงของพวกเขา เกี่ยวกับการเติบโตและการพัฒนาในอาชีพการงาน พวกเขามองหาหนทางที่ชัดเจนในการก้าวหน้าในอาชีพ และมักจะขอคำติชมทันที ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันให้หัวหน้างานต้องสนับสนุนหรือให้การยอมรับอย่างสม่ำเสมอ หากพวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับหรือให้ความสำคัญ การมีส่วนร่วมต่องานก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว” เธอ อธิบาย 

ข้อดีที่น่าทึ่งของชาว Gen Z ช่วยให้ทีมมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม วิธีบริหารจัดการกับพวกเขาถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้นำต้องปรับตัว หากเปิดใจก็จะพบว่าพวกเขามีพลังเหลือล้น มีมุมมองใหม่ๆ และทะเยอทะยานมากกว่าพนักงานรุ่นอื่น เจน ลู บอกอีกว่า ทัศนคติเหล่านี้ที่คนรุ่น Gen Z นำเข้ามาสู่สังคมการทำงานนั้นถือเป็นสิ่งที่ดีในการเรียนรู้ร่วมกัน

วัยทำงานรุ่นใหม่ เต็มใจที่จะท้าทายสถานะเดิมๆ วัฒนธรรมเดิมๆ ในที่ทำงาน พวกเขาสามารถผลักดันให้ทีมทั้งหมดมีความคิดแตกต่าง และยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ พวกเขาทุ่มเทให้กับงานของตนอย่างแท้จริง ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำงานอย่างความหมาย พวกเขาเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาได้เป็นเจ้าของผลงาน และได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่พวกเขาอาจต้องดิ้นรนกับโครงสร้างที่เข้มงวดซึ่งจำกัดการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์

“พวกเขาชื่นชมความโปร่งใส ซึ่งส่งเสริมให้ที่ทำงานมีสภาพแวดล้อมเปิดกว้างต่อการสื่อสาร พูดคุยกันได้ตรงไปตรงมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถยกระดับทีมทั้งหมดได้ พนักงานรุ่นนี้จะเข้ามากำหนดอนาคตโลกการทำงานอย่างแน่นอน ส่ิงที่ผู้นำต้องทำคือ การรักษาสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการให้คำแนะนำอและการให้ความเป็นอิสระนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก” เจน ลู ย้ำ

ท้ายที่สุด ซีอีโอแบรนด์แฟชั่นบอกว่า แม้ว่าการทำงานกับ Gen Z จะมีอุปสรรคบ้างเป็นครั้งคราว แต่เธอก็สนับสนุนคนทำงานรุ่นนี้อย่างเต็มที่ พวกเขาทำให้เธอเป็นเจ้านายที่เอาใจใส่ลูกน้องมากขึ้น ไม่ละเลยเหตุผลของการมอบหมายงาน ช่วยให้มีแรงจูงใจในการทำงาน ช่วยให้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น และยังทำให้เธอได้ฝึกฝน “การให้อิสระ” แก่พนักงานในการเสนอวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์อีกด้วย โดยรวมแล้ว การทำงานร่วมกับคนรุ่น Gen Z ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ และช่วยให้เธอเติบโตขึ้นในฐานะผู้นำ