ดีเดย์ฉีด 16 มี.ค. 'วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า'

“อนุทิน” เผย16มี.ค. ไทยเดินหน้าฉีด “วัคซีแอสตร้าเซนเนก้า” นายกฯ-ครม.-อาจารย์แพทย์ร่วมฉีดพร้อมสถานพยาบาลทั่วประเทศ มั่นใจความปลอดภัยมากขึ้น หลังฮูแจงวัคซีนไม่เกี่ยวทำลิ่มเลือดอุดตัน ยันไทยไม่ขาด “วัคซีนโควิด19” ศบค.เผยติดเชื้อรายใหม่ 78 ราย
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 15 มี.ค. 2564 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเป็นประธานเปิดประชุมแนวทางกัญชาทางการแพทย์แบบูรณาการในสถานพยาบาลเอกชนว่า หลังจากที่มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดในผู้ที่รับ “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”ในประเทศแถบยุโรปและประเทศนั้นได้ชะลอการฉีดชั่วคราวเพื่อสืบค้นสาเหตุ ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มฉีด “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”และคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าวควรชะลอไว้ก่อน เพื่อรอผลการสืบค้นสาเหตุจากประเทศยุโรป จะได้สร้างความมั่นใจให้ประชาชนมากขึ้น
“ล่าสุด จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ได้ติดต่อสอบถามข้อมูลไปยังองค์การอนามัยโลก และหน่วยงานทางการแพทย์ในประเทศยุโรป ซึ่งได้รับการยืนยันว่าการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจาก “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”นั้นไม่เป็นความจริงและหลายประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนนี้ต่อไปแล้ว ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติจากอย.ถือว่าปลอดภัยที่สุดแล้ว แต่เมื่อมีการตรวจสอบเช่นนี้ในยุโรปออกมาก็เเป็นการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับประชาชนมากขึ้น ดังนั้น คณะกรรมการวิชาการด้านโรคโควิด19ก็บอกว่าประเทศไทยฉีดวัคซีนนี้ต่อได้ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.นี้ ในกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในพื้นที่ที่กรมคร.กำหนด” นายอนุทิน กล่าว
นายกฯฉีดที่ทำเนียบรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าคนแรกหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า อย่าไปกังวล เพราะเกิดท่านนายกฯ มีจาม มีไข้ ไม่ได้ฉีดก็จะมีเรื่องอีก ทุกคนได้ฉีดหมด แต่มั่นใจว่านายกฯได้ฉีดเพราะตนเป็นคนโทรไปแจ้งท่าน แต่นายกฯ จะฉีดหรือไม่ได้ฉีด ไม่มีผลอะไรอย่างอื่น แต่ท่านแสดงเจตจำนงค์ว่าพร้อมฉีดตลอดเวลาตั้งแต่วัคซีนซิโนแวคแล้ว และเท่าที่ทราบจะมีคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่สมัครใจและอาจารย์แพทย์ฉีดด้วย อาทิ ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทะ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรรณ และศ.เกียรติคุณพญ. สมศรี เผ่าสวัสดิ์ เป็นต้นด้วย จึงไม่อยากตั้งโจทย์ว่านายกฯต้องฉีดคนแรก เพราะทุกอย่างที่ตั้งเป็นเพียงสัญลักษณ์ พอตั้งแล้วผิดเป้าก็เป็นเรื่องใหญ่
“เจ้าหน้าที่จากสถาบันบำราศนราดูร ไปให้บริการฉีดที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากหากให้มาฉีดที่สถาบันฯนั้น อาจจะรบกวนประชาชนท่านอื่นๆที่มารับบริการการฉีดวัคซีนที่สถาบันฯ เนื่องจากครม.จะต้องมีคณะผู้ติดตามอีกจำนวนมาก ที่ตึกสันติไมตรีได้มีการเตรียมความทั้งทีมบุคลากรทางการแพทย์ ห้องสังเกตอาการ อุปกรณ์การแพทย์ ยาอะดรีนาลีน รถพยาบาลขั้นสูงพร้อมรับสถานการณ์ และรพ.ราชวิถี ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการลดมาตรฐาน หรือดูแลใครเป็นพิเศษ ส่วนในสถานพยาบาลต่างๆก็จะฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายพร้อมกันด้วยในวันที่ 16 มี.ค.”นายอนุทินกล่าว
ยันไทยไม่ขาด “วัคซีนโควิด19”
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ในวันที่ 20 มี.ค.2564 “วัคซีนซิโนแวค”ล็อตที่ 2 จำนวน 8 แสนโดส และเดือนมิ.ย.นี้จะมี “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า”ล็อตที่ผลิตในประเทศไทยออกมา 5 ล้านโดสและทยอยส่งมอบอีกเดือนละ 10 ล้านโดสทุกเดือนจนครบ 61 ล้านโดสภายในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ได้มีการพยายามเจรจากับผู้ผลิต “วัคซีนโควิด19”ทุกราย หากสามารถนำส่งให้ประเทศไทยได้ภายใน 2- 3 เดือนนี้ ในจำนวนที่เหมาะสมกับสถานการณ์โรคโควิดและครอบคลุมตามข้อกำหนดที่กรมควบคุมโรคนำเสนอ โดยจะต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ยอมรับได้ ยืนยันว่าประเทศไทยไม่ขาดวัคซีน นอกจากนี้ มีการเปิดกว้างให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้า “วัคซีนโควิด19”มาให้บริการประชาชนได้ ไม่มีการกีดกัน หากภาคเอกชนสามารถติดต่อผู้ผลิควัคซีนให้ขายให้ได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้ผลิตมีการผ่อนคลายการส่งออกปกติมากขึ้น หรือในภาวะฉุกเฉินจะผ่อนคลายขายให้เอกชนได้ เนื่องจากขณะนี้ยังเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉินที่ผู้ผลิตต้องการขายให้รัฐก่อน
ติด “โควิด19”ใหม่ 78 ราย
ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ “โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรค “โควิด 19” ประจำวัน ว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 78 ราย ระบบเฝ้าระวัง 15 ราย ในจ. ตาก 9 ราย สมุทรสาคร 3 ราย กทม. 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย และสุพรรณบุรี 1 ราย (เกี่ยวพันกับตลาดบางแค) การคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 59 ราย ในจ.สมุทรสาคร 36 ราย ปทุมธานี 1 ราย และ กทม. 22 ราย และ 3.เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 74 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ผู้ป่วยสะสม 27,005 ราย เสียชีวิตสะสม 87 ราย เฉพาะระลอกใหม่ติดเชื้อสะสม 22,768 ราย เสียชีวิตสะสม 27 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นเพศชายอายุ 88 ปี จ.ปทุมธานี มีโรคความดันโลหิสูง ไขมันในเลือดสูง และเนื้องอกในสมอง วันที่ 12 ก.พ. เริ่มมีอาการไข้ ไอ เสมหะ หายใจลำบาก กินได้น้อยลง วันที่ 15 ก.พ. รับการตรวจเชื้อผลยืนยัน “โควิด19” มีอาการเหนื่อยมากขึ้น พิจารณาใช้เครื่องช่วยหายใจ วันที่ 28 ก.พ. มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวายเฉียบพลัน ความดันโลหิตต่ำ อาการแย่ลงเรื่อยๆ จนไม่ตอบสนองต่อการรักษาและเสียชีวิตวันที่ 13 มี.ค. คล้ายผู้ติดเชื้อเสียชีวิตรายอื่นก่อนหน้านี้ จากการตรวจสมาชิกในครอบครัวที่ค้าขายในตลาดพรพัฒน์ ไม่พบผู้ติดเชื้อในครอบครัว แต่บ้านอยู่ใกล้ตลาดพรพัฒน์ อาจมีผู้ไปมาหาสู่มาเยี่ยมที่บ้านทำให้เกิดการติดเชื้อ
“คลัสเตอร์ตลาดบางแค”เจอติดเชื้อ 107 ราย
“สิ่งที่ ศบค.เป็นห่วงขณะนี้ คือ การติดเชื้อในตลาดบางแค โดยขณะนี้มีการตรวจแล้ว 995 ราย พบผลบวก 107 ราย แต่เป็นการตรวจในตลาดวันเดอร์เป็นหลัก จะมีการตรวจตลาดใกล้เคียง และชุมชนรอบๆ 7 ชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจร่วมโดยใช้น้ำลาย 2,772 ราย พบผลบวก แต่ต้องใช้เวลาในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ เนื่องจากเป็นการตรวจรวมกันหลายคน เช่น 5 คน ก็ต้องตามกลับไปย้อนผล 5 คนนี้ นำไปเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อเพื่อยืนยันว่า ใครที่ติดเชื้อ ซึ่งอาจติด 1-2 ราย หรือทั้ง 5 รายก็ได้ จึงต้องใช้เวลา ตอนนี้กำลังแยกผลที่ต้องรายงานให้ทราบทยอยออกมา”พญ.อภิสมัยกล่าว
รายแรกนำเข้า “โควิด19”ตลาดบางแค
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า สำหรับไทม์ไลน์ของผู้ที่คาดว่าเป็นผู้ติดเชื้อรายแรกในตลาดวันเดอร์เป็นชายอายุ 21 ปี มีแผงขายไก่และไข่ไก่ 4 แผงในตลาดวันเดอร์ เป็นเจ้ามือแชร์จึงมีการเดินไปรอบๆ ตลาด เพื่อเก็บเงิน มีอาการครั้งแรกวันที่ 1 มี.ค. มีไข้ ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส วันที่ 5 มี.ค.ไปตรวจรพ.ในกทม. รายงานไปศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 40 จึงรีบลงสอบสวนโรคทันที ซึ่งตลาดวันเดอร์มี 2 ส่วนติดกัน ส่วนหนึ่งเชื่อมกับห้างสรรพสินค้าวันเดอร์ และมีทางออกเชื่อมตลาดใกล้เคียง 6 ตลาด ทั้งนี้ ทีมสอบสวนโรคเริ่มเก็บตัวอย่างจากสมาชิกครอบคัรว เพื่อนผู้ค้าแผงติดกันก่อน โดยก่อนวันที่ 5 มี.ค. พบติดเชื้อ 11 ราย วันที่ 7 มี.ค. กทม.สั่งปิดตลาดวันเดอร์ทำความสะอาด วันที่ 9 มี.ค. สำนักอนามัย กทม. และกรมควบคุมโรค ลงค้นหาเชิงรุกเพิ่มเติม
ย้ำมาตราการตลาดทุกแห่งต้องรัดกุมขึ้น
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า รายงานพฤติกรรมของตลาดที่จะทำให้แพร่เชื้อ คือ 1.ไม่สามารถระบุตัวผู้ค้าลูกจ้างเข้าออกตลาด เพราะบางเจ้าให้อีกคนมาเช่าแผงตัวเอง ตลาดอาจไม่ได้ลงทะเบียนผู้ค้าไม่สามารถติดตามได้ว่าใครเข้าออกตลาด 2.การปฏิบัติตามมาตรการตลาดสดน่าซื้อยังหละหลวม และ 3. มาตรการที่คัดกรองอุณหภูมิ สแกนเข้าใช้บริการ ทำไม่ได้กรณีเข้าออกหลายทางหรือไม่มีประสิทธิภาพ จึงเน้นย้ำ ตลาดถ้าพบว่าพฤติกรรมผู้ค้ามีการข้ามพื้นที่แต่ละจังหวัด มารับตลาดหนึ่งไปขายอีกพื้นที่ต้องเฝ้าระวังอย่างรัดกุม ผู้ประกอบการและพื้นที่ต้องหารือร่วมกัน เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ คล้ายกัน ต้องมีมาตรการควบคุมป้องกันก่อนเกิด “โควิด19”ระบาดแล้วต้องตามมาแก้ไข
สุ่มตรวจพ่อค้าแม่ค้าตลาดสดทั่วกทม.
“สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.) รายงานว่า กทม.มีมาตรการคัดกรองเชิงรุกมาตลอด โดยสุ่มตรวจหา “โควิด19”พ่อค้าแม่ค้าตลาดสด ทั่วกทม. รวม 437 แห่ง จำนวน 45,012 คน พบติดเชื้อ 20 ราย คิดเป็น 0.04% ค่อนข้างกระจายหลายตลาดไม่ได้พบเป็นกลุ่มก้อน แต่ตลาดบางแคถือว่าพบเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ พยายามควบคุมจำกัดการแพร่เชื้อให้ได้ การค้นพบกลุ่มก้อนระบาดครั้งนี้มาจากระบบเฝ้าระวังและสอบสวนโรคเป็นระบบในกทม.”พญ.อภิสมัยกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดประสิทธิภาพ-ข้อห้าม วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า'
ความต่าง 'แพ้วัคซีนโควิด19' Vs 'อาการไม่พึงประสงค์'
‘โควิดกรุงเทพ’ คลัสเตอร์ใหม่ ‘ตลาดบางแค’