'วัคซีนโควิด' ที่ฉีดในไทย ป้องกันสายพันธุ์อังกฤษ ได้หรือไม่ ?
ศ.นพ.ยง ชี้วัคซีนที่นำมาฉีดในประเทศไทย ทั้งซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพดีป้องกันการป่วยที่มีอาการมากและป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% ไม่ต่างจากวัคซีนอื่น ๆ และป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษได้
วันนี้ (11 เมษายน 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึง ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด 19 ในปัจจุบัน ว่า ขอเรียนว่า วัคซีนที่ใช้กันอยู่ 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ วัคซีนเทคโนโลยี mRNA , วัคซีนเทคโนโลยี Adnovirus vector , วัคซีนเทคโนโลยี Protein-based และ วัคซีนเทคโนโลยีชนิดเชื้อตาย Inactivated ในแง่ของประสิทธิภาพ
สำหรับในเรื่องของการป้องกัน แบ่งเป็น การป้องกันโรคที่มีอาการน้อยหรือปานกลาง ป้องกันการนอนโรงพยาบาล และป้องกันการเสียชีวิต โดยวัคซีนที่ใช้ทั่วโลกการป้องกันการเสียชีวิตเกือบ 100% ไม่ว่าจะซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า โมเดอร์นา หรือ ไฟเซอร์-ไบออนเทค ไม่ต่างกัน
“ขณะที่การป้องกันอาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะวัคซีนยี่ห้อไหน ขอยืนยันว่าวัคซีนขณะนี้ที่ใช้ในไทย ป้องกันความรุนแรงของโรคได้ดี และป้องกันการเสียชีวิต ไม่แตกต่างจากวัคซีนอื่นๆ ขอให้มั่นในในประสิทธิภาพวัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศไทย” ศ.นพ.ยง อธิบาย
- วัคซีน ป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่
ศ.นพ.ยง กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับว่าโควิดเป็น RNA ไวรัส มีการกลายพันธุ์เป็นวิวัฒนาการ และการกลายพันธุ์ ทำให้ตั้งแต่ติดง่าย ความรุนแรงของโรค ความคงอยู่ของเชื้อ ขณะที่ประสิทธิภาพวัคซีนต่อไวรัสกลายพันธุ์ ปัจจุบัน ความสนใจคงหนีไม่พ้นสายพันธุ์อังกฤษ หรือ “B.1.1.7” ซึ่งกลายพันธุ์ในส่วนที่จับพื้นผิวเซลล์ เมื่อจับง่าย ไวรัสตัวนี้จึงแพร่ได้ง่าย และมีการเพิ่มจำนวนได้ง่าย ปริมาณไวรัสเยอะ การกระจายโรคเร็วง่ายกว่า แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนหลายตัวป้องกันการกลายพันธุ์ดังกล่าวไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะไฟเซอร์-ไบออนเทค โมเดอร์นา โนวาแวค หรือ แอสตร้าเซนเนก้า
- “เชื้อแอฟริกา บราซิล” มีผลต่อวัคซีน
สำหรับสายพันธุ์ที่อาจจะมีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีน คือ แอฟริกาใต้ เพราะการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโน ในตำแหน่งที่สำคัญ เมื่อเปลี่ยนแล้วทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากวัคซีน เกาะหรือจับได้น้อยลง อาจจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ป้องกันได้แต่ลดลง
“วัคซีนที่มีการทดสอบใหม่ ไม่ว่าจะจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หรือ โนวาแวค เมื่อทดสอบกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ประสิทธิภาพลดลง แต่ยังป้องกันได้ และป้องกันความรุนแรงได้ สิ่งที่ต้องระวังคือ ไม่อยากเห็นว่าสายพันธุ์กลายพันธุ์นี้เข้ามาในไทย สิ่งสำคัญ คือ ต้องช่วยกัน ใครที่เดินทางจากต่างประเทศ มีการ Quarantine เป็นวิธีการป้องกันไม่ให้สายพันธุ์กลายพันธุ์เข้ามาไทย แต่ในที่สุดก็หลุดสายพันธุ์อังกฤษเข้ามาได้ ซึ่งเป็นสายพันธุ์เด่นในไทยต่อจากนี้ ขอให้อย่าการ์ดตก ต้องป้องกัน”
- ทั่วโลกฉีดวัคซีนกว่า 700 ล้านโดส
ศ.นพ.ยง อธิบายว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนต้องมองภาพรวมทั่วโลก ทั่วโลกตอนนี้ฉีดไปแล้วมากกว่า 700 ล้านโดส ถามว่าพอหรือยัง บอกได้เลยว่ายัง เพราะประชากรโลก 7,000 ล้านคน ถ้าจะฉีดครบจริงๆ ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต้องฉีด 10,000 ล้านโดส หรือ 5,000 ล้านคน ปัจจุบัน ทั่วโลกฉีด 15 ล้านโดสต่อวัน ต้องใช้เวลา 2 ปี ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มเร่งฉีดวันละ 30 ล้านโดสต่อวัน ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายภายใน 1 ปี
“ประเทศต่างๆ ที่ฉีดไปแล้วกว่า 700 ล้านโดส ฉีดมากสุด คือ สหรัฐอเมริกา และ จีน แต่ประเทศที่ฉีดมากในประชากรหมู่มาก คือ “อิสราเอล” โดยใช้วัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค ฉีดในช่วงที่จำนวนผู้ป่วยในช่วงขาขึ้น เมื่อเปอร์เซ็นในการฉีดสูงมาก ทำให้อุบัติการณ์การป่วยลดลง ตอนนี้คนไข้ต่อวันเหลือน้อยมาก และอัตราการตายลดลงอย่างเห็นได้ชัด เหลือเพียงวันละไม่ถึง 10 ราย จากที่เคยสูงถึงวันละ 60 ราย แสดงให้เห็นว่าวัคซีนที่ฉีดมีประสิทธิภาพมาก”
- ผลการฉีด แอสตร้าเซนเนก้า ในอังกฤษ
ขณะที่ วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ถูกฉีดมากที่อังกฤษ เพราะผู้คิดค้น คือ ออกซ์ฟอร์ด ในอังกฤษเอง เริ่มให้วัคซีนระยะแรกในช่วงที่ระบบสาธารณสุขแทบล้มสลาย มีการระดมฉีดวัคซีนปริมาณมาก จะเห็นว่าจำนวนผู้ป่วยต่อสัปดาห์ตอนนี้ลดลง และอังกฤษกำลังจะเปิดประเทศ เพราะใช้วัคซีนหลัก คือ แอสตร้าเซนเนก้า อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างเห็นผล และยังไม่มีระลอกที่ 3
ขณะที่ “ฝรั่งเศส” และ “เยอรมัน” ที่ฉีดๆ หยุดๆ เนื่องจากเกรงผลกระทบจากวัคซีน กำลังเกิดระลอกที่ 3 ตรงข้ามกับอังกฤษ ดังนั้น ทุกอย่างมีความเสี่ยงทั้งนั้น หากถามว่าการฉีดวัคซีน มีอาการแทรกซ้อนได้หรือไม่ สามารถมีได้ แต่โอกาสเกิดแทรกซ้อน เช่น ลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือด ขณะนี้มีการยอมรับว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่อุบัติการณ์เกิดน้อยมาก ประมาณ 1 ต่อแสน-ล้าน ส่วนใหญ่เกิดในผู้ป่วยเพศหญิง อายุน้อยกว่า 55 ปี ที่รับประทานยาเกี่ยวกับฮอร์โมน ดังนั้น อังกฤษ มองเห็นประโยชน์ที่ได้มากกว่า จากการที่ผู้ป่วยลดลง
“ต้องเปรียบเทียบกันว่าประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนมากมาย เพราะเราใช้ในภาวะฉุกเฉิน ประโยชน์มากกว่ากับความเสี่ยงที่เกิดอันตรายจากวัคซีน ในระดับหมู่มากหากต้องควบคุมโรคนี้ให้ได้ ลดอัตราการเสียชีวิต หากผู้ป่วยจำนวนมากเข้าไปในรพ. ก็กระทบผู้ป่วยปกติ และการดูแลผู้ป่วยโรคอื่น”
“วัคซีนโควิดในปัจจุบัน แม้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน แต่ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงมากมาย อย่างไรก็ตาม เราต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เราพ้นวิกฤติไปด้วยกัน” ศ.นพ.ยง กล่าว