จะดีแค่ไหนถ้า 'พ่อลาคลอด' ได้98วัน

จะดีแค่ไหนถ้า 'พ่อลาคลอด' ได้98วัน

การดูแลลูกในช่วงแรกเกิดถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการสร้างความผูกพันในครอบครัว ปัจจุบัน หลายประเทศจึงให้ความสำคัญให้ "พ่อลาคลอด" เพื่อช่วยคุณแม่ได้ ขณะที่ไทยผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ 98 วัน ส่วนผู้ชายลาได้ 15 วันเฉพาะราชการเท่านั้น ส่วนเอกชนยังไม่มีการบังคับ

ปัจจุบันกฎหมายไทยกำหนดให้ ผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ 98 วัน และผู้ชายสามารถลาไปช่วยเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วันเฉพาะภาคราชการเท่านั้น ส่วนภาคเอกชนยังไม่มีการบังคับใช้ ทั้งนี้เมื่อปลายปี 2563 มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของ 27 องค์กรจัดโดยกระทรวง พม. ให้คุณแม่ลาคลอดได้ 120 วันและเปิดโอกาสให้คุณพ่อลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วันในภาคเอกชน

ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น “ฟินแลนด์” ในปี 2563 ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการผลักดันเพิ่มวันลาคุณพ่อ เพื่อให้ใช้เวลาอยู่กับลูกมากขึ้น โดยได้รับค่าจ้างเป็นประมาณ 164 วัน เท่ากับวันลาคุณแม่ และคุณแม่จะได้รับวันลาเพิ่มอีกหนึ่งเดือนก่อนคลอด “สวีเดน” ถือเป็นประเทศที่มีสวัสดิการด้านการเลี้ยงดูบุตรที่ดีที่สุดในโลก พ่อแม่ลางานเลี้ยงลูกได้ 480 วัน หรือ 16 เดือน แบ่งเป็น 6 เดือนแรกหลังคลอด พ่อหรือแม่สามารถใช้สิทธิลางานได้ฝ่ายละ 3 เดือน จากนั้นอีก 10 เดือนที่เหลือพ่อหรือแม่สามารถแบ่งกันใช้สิทธิได้ตามความพึงพอใจ

“ไอซ์แลนด์” คุณพ่อสามารถลาคลอดได้ถึง 3 เดือน และทางรัฐบาลยังแจกกล่อง Kela box ให้แก่ครอบครัวที่สมาชิกใหม่ โดยรวมของใช้จำเป็นสำหรับเด็กแรกเกิด เช่น เสื้อผ้า ผ้าอ้อม ปรอทวัดไข้ นิทาน ผ้าห่ม อุปกรณ์อาบน้ำ ฯลฯ โดยคอลเลกชั่นจะเปลี่ยนไปทุกปี นอกจากนี้ ยังสามารถเปลี่ยนกล่องเป็นเงินมูลค่า 170 ยูโรแทนได้อีกด้วย

บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) ในฐานะผู้ผลิตเวชภัณฑ์ระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศเพิ่มนโยบายให้สิทธิ์การลาเพื่อดูแลบุตร (Parental Leave) แก่พนักงานชาย ที่มีบุตรแรกเกิดได้ 98 วัน หรือ 14 สัปดาห์ โดยยังได้รับค่าตอบแทน ต่อยอดวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มุ่งเน้นในการให้ความสำคัญของการบริหารบุคลากรด้วยความเท่าเทียมกันและเห็นคุณค่าของความหลากหลายในองค์กร (Diversity & Inclusion) ถือเป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญมากกว่า 2 ปี

161824663755

“มธุกร ศัลยพงษ์” หัวหน้าฝ่ายประจำประเทศไทยในส่วนการบริหารงานบุคคลและองค์กร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) กล่าวว่า นโยบายที่ประกาศล่าสุด นอกจากจะเป็นการเพิ่มสวัสดิการให้แก่พนักงานชายในการใช้สิทธิ์ลาคลอดเพื่อดูแลภรรยาและบุตรแรกคลอดแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มคู่ชีวิตที่ไม่ได้สมรสตามกฎหมายและเพศทางเลือก หรือผู้ที่รับอุปการะบุตรที่ต้องได้รับการดูแลอีกด้วย ซึ่งสิทธิ์ดังกล่าว ต่อยอดมาจากการปรับตัวขององค์กรในการบริหารบุคคลให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบันที่มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อเสริมศักยภาพและต่อยอดการพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

“การมีสมาชิกใหม่เป็นช่วงเวลาที่พิเศษ ทั้งคุณพ่อและแม่ จะได้รับประโยชน์ที่เหมือนกัน รวมถึงคนที่รับบุตรบุญธรรมก็ได้สิทธิ์นี้เช่นกัน เพราะเชื่อว่าการยอมรับความหลากหลายสุดท้ายพนักงานทุกคนจะสามารถเป็นตัวของตัวเองในแบบฉบับที่ดีที่สุดทั้งที่บ้านและที่ทำงาน หวังว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่พนักงานและครอบครัวสามารถจัดการชีวิตทั้งที่บ้านและที่ทำงานได้ดีที่สุด ส่งผลให้มีแรงบันดาลใจ สามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มนโยบายตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา”

นอกจากนี้ ยังมีเงินช่วยเหลือคลอดบุตร ซึ่งไม่ได้ให้แค่คุณแม่ที่คลอดบุตรเท่านั้น แต่หากคุณพ่อทำงานที่นี่ก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ หากพ่อและแม่ทำงานที่โนวาร์ติสทั้งสองคน จะได้เงินช่วยเหลือ 1 ก้อน แต่สามารถลาได้คนละ 98 วัน จะลาพร้อมกันหรือไม่ก็ได้ แบ่งลาได้ 3 ช่วงใน 1 ปี เพื่อความยืดหยุ่นอยู่ที่การจัดการ พร้อมกับเตรียมห้องปั๊มนมและตู้แช่นมไว้ในที่ทำงานอีกด้วย ที่ผ่านมา มีคุณพ่อลาไปแล้วประมาณ 5 คน

161824663749

รวมถึง การให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อ วัย และประสบการณ์ พนักงานสามารถลาไปปฏิบัติธรรมได้ หรือสวัสดิการด้านสุขภาพฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่แค่ฉีดให้พนักงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงครอบครัว คู่ชีวิตโดยไม่แบ่งแยกเพศอีกด้วย ซึ่งการบริหารบุคลากรในลักษณะนี้นอกจากจะช่วยเสริมศักยภาพในการทำงานให้แก่บุคลากรของบริษัทได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยจัดค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กรใหม่เพื่อสะท้อนความเป็นจริงของคนในยุคปัจจุบัน

“อยากให้พนักงานที่มาทำงานกับเรามีประสบการณ์ที่ดีในทุกแง่มุม เป็นตัวของตัวเองให้ดีที่สุด โดยวัฒนธรรมขององค์กร หลักๆ 4 ด้าน ได้แก่ Inspire” คาดหวังว่าทุกคนจะมีแรงบันดาลใจ และมีจุดมุ่งหมาย ไม่หยุดพัฒนาตัวเองเติบโตไปกับบริษัท Curious” สามารถตั้งคำถาม แสดงความคิดเห็น แชร์ไอเดีย นำไปสู่ Un boss” และ Integrity” เป็นการเสริมพลังพนักงาน สามารถตัดสินใจ รับผิดชอบตัวเอง ทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำอะไรที่ท้าทาย ไอเดียใหม่ๆ เรียนรู้จักความสำเร็จและความผิดพลาด

นอกจากนี้ ในช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โนวาร์ตีส ได้ให้อิสระแก่พนักงานในการบริหารจัดการความรับผิดชอบของตนเอง (Choice of Responsibility) โดยพนักงานสามารถเสนอและตัดสินใจในเรื่องสถานที่ที่ตนเองสะดวกทำงาน รวมไปถึงวิธีการและเวลาในการทำงานตามความเหมาะสมของตนเองและเพื่อนร่วมงานได้ ซึ่งองค์กรมีความเชื่อว่าการให้อิสระในการบริหารจัดการแก่พนักงานจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้พนักงานสามารถทำงานในความรับผิดชอบของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมไปกับการจัดการและปรับสมดุลการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี

161824663768

“แนวความคิดนี้ริเริ่มจากการตระหนักถึงความแตกต่างและความหลากหลายของประชากรจากทั่วโลก โดยความหลากหลายนี้ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อการบริหารงานของบริษัทที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน ดังนั้นบุคลากรจึงสามารถเป็นตัวเองได้อย่างแท้จริง และมีความสบายใจในทุก ๆ วันของการทำงาน รวมถึงเข้าใจและยอมรับในทุกความแตกต่าง"

“เมื่อเกิดการยอมรับในความแตกต่างแล้ว จะส่งผลสะท้อนสู่แรงบันดาลใจในการทำงาน เกิดการถกเถียง เกิดมุมมองใหม่ๆ ที่กว้างมากขึ้น ความหลากหลายไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่เป็นประสบการณ์ อายุ เจนเนอร์เรชั่น การศึกษา ฯลฯ เป็นความหลากหลายที่นำมาสู่ผลลัพธ์ที่ดีและรอบด้าน สามารถแสดงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาได้อย่างแท้จริง อยากให้ทุกคนเป็นตัวของตัวเองเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดทั้งที่บ้านและที่ทำงาน” มธุกร กล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบัน โนวาร์ตีสมีสาขาอยู่ใน 155 ประเทศทั่วโลก สัดส่วนอายุพนักงานช่วงอายุน้อยกว่า 35 ปี 42% และ 35 ปีขึ้นไป 58% มีพนักงานชายขอใช้สิทธิ์ลาคลอดแล้วมากถึง 16% จากผู้ที่มาขอใช้สิทธิ์ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มสวัสดิการในปี 2020 นโยบายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โนวาร์ติส ได้รับคัดเลือกให้เป็น “องค์กรที่น่าทำงานด้วย จาก HR Asia” (Best Companies to Work For in Asia 2020 (Thailand Edition)

  • ดูแลลูกตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต

ข้อมูลจาก ยูนิเซฟ ระบุว่า เมื่อพ่อผูกพันกับทารกตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นชีวิต พ่อจะมีบทบาทมากขึ้นต่อการกระตุ้นพัฒนาการของลูก นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กที่มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับพ่อจะมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีความเคารพตนเองและความพึงพอใจในชีวิตในระยะยาว

เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา “ยูนิเซฟ” ได้ปรับเปลี่ยนข้อกำหนดในนโยบายลาคลอดในองค์กร โดยขยายสิทธิการลาหยุดงานของพ่อเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นเวลานานสูงสุดถึง 16 สัปดาห์ในสำนักงานยูนิเซฟทุกแห่งทั่วโลก ถือเป็นหน่วยงานแรกขององค์การสหประชาชาติที่มีการขยายสิทธิดังกล่าวเกินกว่าสี่สัปดาห์มาตรฐาน

161824663726

สำหรับ “อิเกีย” ซึ่งถือเป็นบริษัทสัญชาติสวีเดนที่เรียกว่าเป็นประเทศที่มีสวัสดิการเลี้ยงดูบุตรดีที่อันดับต้นๆ ของโลก ก็มีสวัสดิการให้กับคุณแม่สามารถลาคลอดได้ 4 เดือนติดต่อกันโดยได้รับเงินเดือน ส่วนคุณพ่อใช้วันลาคลอดเพื่อแบ่งปันความสุขในครอบครัว และแบ่งเบาหน้าที่คุณแม่ได้นานถึง 4 สัปดาห์ และจะได้รับเงินเดือนตลอดระยะเวลาที่ลาคลอดเช่นกัน