เปิดไทม์ไลน์! ต้นตอโควิด'คลัสเตอร์ทองหล่อ'
บช.น.สรุป คลัสเตอร์’คริสตัล-เอมเมอรัลด์’ พบผู้ติดเชื้อรายแรกมาเที่ยวตั้งแต่25มี.ค.
กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) ได้สรุปเหตุการณ์ และผลการดำเนินการกรณีเหตุพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีความเกี่ยวพันธ์กับสถานบันเทิงในพื้นที่ย่านทองหล่อ (คริสตัล คลับ และ ร้านเอมเมอรัลด์) และเหตุอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่า ลำดับเวลาผู้ติดเชื้อที่มาใช้บริการที่ร้านคริสตัล คลับ และ ร้านเอมเมอรัลด์ และประกาศที่เกี่ยวข้องกับการปิดสถานที่ร้านคริสตัล คลับ เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากที่ กทม. ได้ออกประกาศ เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 (ผ่อนคลายให้สถานบริการ สถานประกอบการต่าง ๆ กลับมาเปิดได้ โดยมีมาตรการควบคุม)
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม สน.ทองหล่อ ได้ทราบข่าวจาก กองควบคุมโรคสำนักอนามัย กทม. ว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดจากสถานบริการในพื้นที่ สน.ทองหล่อ ซึ่งผู้ติดเชื้อรายแรก ได้มาเที่ยวที่ร้านคริสตัล คลับ ทองหล่อ กับเพื่อนอีก 5 คน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม และมีพนักงานของทางร้านติดเชื้อจำนวนหนึ่ง สน.ทองหล่อ จึงได้แจ้งให้ทางร้านหยุดให้บริการทันที และให้ทางร้านได้จัดให้มีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อดังกล่าวทันที และให้พนักงานในร้านตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ประสานกรมควบคุมโรค และ สำนักงานเขตวัฒนา เข้าตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยง
ต่อมาวันที่ 2 เมษายน ได้มีการตรวจสอบพบผู้ติดเชื้อบางรายเป็นพนักงานและเป็นผู้ใช้บริการร้านเอมเมอรัลด์ โดยได้เข้าใช้บริการเมื่อวันที่ 1 เมษายน สน.ทองหล่อ จึงได้แจ้งให้ทางร้านหยุดให้บริการ และดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรค
เมื่อวันที่ 5 เมษายน กทม. ได้ออกประกาศ เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว (ฉบับที่ 22) ลงวันที่ 5 เมษายน ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการฯ ในเขตวัฒนา คลองเตย บางแค ตั้งแต่วันที่ 6-19 เมษายน เมื่อวันที่ 9 เมษายน กทม. ได้ออกประกาศ เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว (ฉบับที่ 23) ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการฯ ในเขตกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจุบันทั้งสองร้านถูกปิดตามประกาศ กทม. ฉบับที่ 23ในส่วนการดำเนินคดีกับร้านคริสตัล และ ร้านเอมเมอรัลด์
เมื่อวันที่ 8 เมษายน ผบช.น. ได้เรียก ผบก.น.5 และ ผกก.สน.ทองหล่อ ประชุมเรื่องการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยได้สั่งการให้ทำการสืบสวนสอบสวน หากพบว่ามีการดำเนินการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จะต้องดำเนินคดีให้ครบถ้วน โดยพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ได้ดำเนินคดีกับ ผู้จัดการร้าน คริสตัล ชื่อ นายชวลิต พุทธราช ตามคดีอาญาที่ 224/2564 และ ดำเนินคดีกับ ผู้จัดการร้าน เอมเมอรัลด์ ชื่อ นายครรชิต ซื่อบริสุทธิ์ใจ ตามคดีอาญาที่ 225/2564
โดยทั้งสองคดีแจ้งข้อกล่าวหาว่า เปิดสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต, ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสองให้การรับสารภาพ เนื่องจากคดีอยู่ในอำนาจศาลแขวง จึงได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปฟ้องด้วยวาจา
ก่อนที่ศาลแขวงพระนครใต้ ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 9 เมษายน ลงโทษจำคุกผู้ต้องหาทั้งสอง คนละสองเดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังคนละสองเดือน ผบช.น.ได้สั่งการให้ บก.น.5 ตรวจสอบว่ายังมีนิติบุคคลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับร้านคริสตัล และ ร้านเอมเมอรัลด์ เพิ่มเติมอีกหรือไม่ หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ให้พิจารณาดำเนินคดีทุกราย
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ร้านคริสตัล เอกซ์คูลซีพ คลับ เป็นชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจ ซึ่งจดทะเบียนโดย บริษัท คริสตัล เคแอนด์เอ จำกัด มีนายเดชา พิลาลี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว โดยจดทะเบียนเป็นการบริการด้านร้านอาหาร กิจการบริการด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหลักในร้าน ส่วนการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ร้านเอมเมอรัลด์ เป็นชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจ ซึ่งจดทะเบียนโดย บริษัท เอมเมอรัลด์กรุ๊ป จำกัด มีนายเกียรติพงษ์ คำต่าย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว โดยจดทะเบียนเป็นการบริการด้านร้านอาหาร / กิจกายขายอาหาร เครื่องดื่ม สุรา เบียร์
ข่าวแจ้งว่า ปัจจุบัน อยู่ระหว่าง บก.น.5 เสนอเรื่องขอสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว (หาก กทม. ยกเลิกประกาศ ฉบับที่ 23) โดยอาศัยอำนาจตาม ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 50 ลง 15 มกราคม 2502 (ปว.50) กรณีสถานที่มีการกระทำผิดกฎหมายหรือมีพฤติการณ์อันขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้เป็นอำนาจ ผบ.ตร. หรือ รอง ผบ.ตร. พิจารณาสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว ครั้งที่ 1 มีกำหนด 30 วัน ครั้งที่ 2 มีกำหนด 60 วัน และครั้งต่อไปมีกำหนด 90 วัน
ทั้งนี้หากเป็นกรณีเข้าเหตุตามคำสั่ง หน.คสช. ที่ 22/2558 จะเสนอให้ปิดสถานบริการในสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี
โดย ตร. ได้มีคำสั่งที่ 183/2561 ลง 3 เมษายน 2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับสถานบริการและการใช้อำนาจสั่งปิดสถานประกอบการที่มีการกระทำผิดกฎหมายตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 50 ลง 15 มกราคม 2502 โดยมี รอง ผบ.ตร. หรือ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นเลขานุการ ผบก.คพ. เป็นเลขา ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจพิจารณากลั่นกรองเสนอความเห็น โดยอำนาจพิจารณาสั่ง เป็นของ ผบ.ตร. หรือ รอง.ผบ.ตร. ที่ได้รับมอบหมาย สั่งปิดสถานที่/สถานบริการตามกฎหมายข้อดังกล่าวข้างต้น
กรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 ด้วยปรากฏตามสื่อมวลชน พบผู้ติดเชื่อโควิด-19 ซึ่งมีความเกี่ยวพันธ์กับสถานบันเทิงในพื้นที่ย่านทองหล่อ ทั้งยังปรากฏข่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ ไปอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบกพร่อง ปล่อยปละละเลยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ ผบช.น. ได้สั่งการให้ บก.น.5 ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วรายงานให้ทราบโดยด่วน บก.น.5 จึงได้มีคำสั่งที่ 102/2564 ลง 9 เมษายน 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว โดยมี พ.ต.อ.วิทวัฒน์ ชินคำ รอง ผบก.น.5 เป็นประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มีโอกาสชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
วันที่ 12 เมษายน ตามที่ บก.น.5 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการพื้นที่รับผิดชอบของสน.ทองหล่อ นั้น เพื่อให้การบริหารงานในภาพรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดความเสียหายต่อทางราชการ บก.น.5 ได้มีคำสั่งที่ 103/2564 ลง 12 เมษายน 2564 เรื่อง ข้าราชการตำรวจปฏิบัติราชการ และรักษาราชการแทน ดังนี้ พ.ต.อ.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ รอง ผบก.น.5 รักษาราชการแทน ผกก.สน.ทองหล่อ . พ.ต.ท.ธนาธิป ชมภูนิช สวป.สน.ทองหล่อ รักษาราชการแทน รอง ผกก.ป.สน.ทองหล่อ ให้ พ.ต.อ.ดวงโชติ สุวรรณจรัส ผกก.สน.ทองหล่อ ปฏิบัติราชการที่ ศปก.บก.น.5 พ.ต.ท.ธนากร งามเย็น สวป.สน.ทองหล่อ รรท.รอง ผกก.ป.สน.ทองหล่อ ปฏิบัติราชการที่ ศปก.บก.น.5