ผุดโรดแมพความหวังใหม่แพทย์ไทย! รพ.วิจัยนวัตกรรม-เครื่องมือแพทย์
ตั้งรับวิกฤติสุขภาพ ! โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารฯ ผุดโรดแมพความหวังใหม่แพทย์ไทย สร้าง รพ.วิจัยนวัตกรรม-เครื่องมือแพทย์ ลดพึ่งพาต่างชาติ
หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา และล่าสุดในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 ทำให้ประเทศไทย โดยเฉพาะระบบสาธารณสุขไทย กลับมาเผชิญกับความยากลำบากอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายด้านการควบคุมโรค และ รับมือกับจำนวนผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือ ที่ยังสามารถพัฒนาให้มีศักยภาพสูงขึ้นได้อีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในด้านของศักยภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อนำมาแจกจ่ายเองภายในประเทศ รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ ไม่เพียงเพื่อเร่งแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขในปัจจุบัน แต่ยังเพื่อป้องกันและเตรียมตัวให้พร้อมกับวิกฤตสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย
ศ. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ และ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้เล่าถึงความท้าทายของระบบสาธารณสุขไทยว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่นำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์สูงสุดในอาเซียนถึง 87% โดยเป็นการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ ซึ่งคิดเป็นมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปีที่รั่วไหลไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ อุปกรณ์นำเข้าส่วนใหญ่ยังเป็นแบบใช้แล้วทิ้งถึง 80% ไม่เพียงเท่านี้ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทำให้ไทยต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 6.5% (ข้อมูล: ภาพรวมอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พ.ศ. 2562) ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดังเช่นครั้งนี้ เนื่องจากเราไม่สามารถผลิตเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เองในปริมาณที่เพียงพอ ต้องอาศัยการนำเข้า และเรียนรู้เทคโนโลยีจากต่างชาติเป็นหลัก
“ในทางกลับกัน หากประเทศไทยเองสามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ปัญหาดังกล่าวก็จะทุเลาลง ซึ่งประเทศไทยเองก็สามารถทำได้เช่นกัน จะดีกว่าหรือไม่!? หากคิดที่จะเริ่มตั้งแต่วันนี้ กับการมีทีมแพทย์นวัตกร ที่ร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม มีโรงพยาบาลที่พร้อมเป็นศูนย์วิจัยและทดสอบประสิทธิภาพเครื่องมือแพทย์ มีพื้นที่ให้การตรวจรักษาโรคผู้สูงอายุแบบครบวงจร”
จึงเกิดเป็นแนวคิดในการสร้าง “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” (KMCH: King Mongkut Chaokhun Thahan Hospital) ที่ไม่ใช่แค่ศูนย์การแพทย์เท่านั้น แต่เพื่อนำไปสู่ “โรงพยาบาลวิจัย” ในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกับศาสตร์แขนงอื่น สู่นวัตกรรมที่ใช้ได้จริง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนนวัตกรรมทางการแพทย์ประสิทธิภาพสูง เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมของคนไทย รวมถึงสนับสนุนรัฐบาลลดการนำเข้าเทคโนโลยีมูลค่าสูง และยกระดับวงการแพทย์ไทยให้สามารถพึ่งพาตนเอง พร้อมทั้งเป็นที่พึ่งให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืน
โดยที่ผ่านมา สจล. ได้ฉายภาพของแนวความคิดดังกล่าวให้เกิดขึ้น ผ่านความร่วมมือของนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และอื่น ๆ ภายใต้โครงการ “KMITL 60 FIGHT COVID-19” เพื่อรับมือปัญหาการขาดแคลนนวัตกรรมทางการแพทย์ช่วงโควิด-19 พร้อมทั้งส่งมอบให้กับหน่วยงานรัฐและโรงพยาบาล ภายในประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นจำนวนมากกว่า 800 ชิ้น อาทิ ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure) แบบความดันบวก (Positive Pressure) และต้นแบบเครื่องช่วยหายใจ (KMITL Mini Emergency Ventilator)
ทั้งนี้ โรงพยาบาลดังกล่าว มาพร้อมกับจุดเด่นใน 5 มิติ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- มีนวัตกรรมทางการแพทย์รองรับผู้ป่วยในทุกบริบท เพราะโรงพยาบาลแห่งนี้ จะขมวดรวมทุกศาสตร์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมเพื่อรักษาพร้อมฟื้นฟูสุขภาพคนไทยทุกคน
- มีองค์ความรู้เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย เพราะนอกจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมแล้ว โรงพยาบาลแห่งนี้ ยังมุ่งสร้างองค์ความรู้ด้านเครื่องมือแพทย์ เพื่อประยุกต์ใช้ในภาวการณ์ฉุกเฉินจากโรคระบาด
- เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมไทยและอาเซียน โดยโรงพยาบาลแห่งนี้ พร้อมเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางการแพทย์สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วย พัฒนาและวิจัยนวัตกรรม/ เครื่องมือแพทย์ด้วยตนเอง ผ่านการผสมผสานองค์ความรู้ของหลากสาขา
- เป็นโรงพยาบาลที่พร้อมรับมือทุกวิกฤตสุขภาพ โรงพยาบาลฯ มีความตั้งใจในการสร้างความพร้อมของเครื่องมือแพทย์สำหรับรับมือกับทุกวิกฤตสุขภาพในอนาคต ทั้งระดับประเทศและระดับโลก ผ่านการระดมความคิดของทีมแพทย์และนักวิจัยทุกสาขาของ สจล.
- สร้างโอกาสการรักษาของคนไทย ท้ายที่สุด โรงพยาบาลฯ มุ่งผลิตเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับใช้ภายในประเทศเป็นหลัก เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้คนไทย ในการเข้าถึงการรักษาประสิทธิภาพสูง อย่างเท่าเทียม ด้วยปณิธานของโรงพยาบาลที่ว่า “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด”