สำรวจความพร้อม ก่อนซื้อ 'อสังหาริมทรัพย์'

สำรวจความพร้อม ก่อนซื้อ 'อสังหาริมทรัพย์'

เปิดแนวทางสำรวจความพร้อมของตัวเอง ก่อนซื้อ "อสังหาริมทรัพย์" ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง? เพราะการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในช่วงนี้นั้นนับว่าเป็นเวลาที่ดี เป็นตลาดของผู้บริโภค ที่โครงการต่างๆ จัดแคมเปญและโปรโมชั่นออกมาค่อนข้างมาก

ปีนี้ก็ยังเป็นอีกปีที่อสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นตลาดของผู้บริโภค โครงการบ้าน คอนโด ทาวน์โฮม ยังคงมีแคมเปญดีๆ และโปรโมชั่นราคาพิเศษออกมา ซึ่งหลายข้อเสนอก็ดึงดูดใจอย่างมากสำหรับผู้ที่กำลังต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในช่วงเวลานี้ หรือแม้แต่ผู้ที่อาจจะยังไม่ได้มีแผนซื้อ แต่เมื่อเห็นราคากับความคุ้มค่าก็เกิดความสนใจขึ้นได้เช่นกัน 

อย่างไรก็ดีหลายท่านอาจยังมีความกังวลว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือไม่ เพราะจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะเรื่องวิกฤติโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ แนวโน้มอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน ทำให้คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะการซื้อสินทรัพย์มูลค่าสูงอย่างอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการประเมินสถานการณ์ความพร้อมก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องประเมินให้รอบด้าน ซึ่งนอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว ความพร้อมส่วนตัวก็เป็นปัจจัยภายในที่สำคัญมาก และมีส่วนช่วยในการตัดสินใจให้รอบคอบมากขึ้น 

สำหรับผู้ที่กำลังสนใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ จึงควรสำรวจความพร้อมส่วนตัวก่อน ดังนี้

1.วางแผนและตรวจสอบเงินออม โดยควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 10-30% ของราคาโครงการที่จะซื้อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ เงินส่วนต่างกรณีขอกู้ไม่ได้เต็มวงเงินที่ต้องการ ค่าตกแต่งบ้าน (ปัจจุบันหลายโครงการมีโปรโมชั่นฟรีค่าใช้จ่ายวันโอน ฟรีเฟอร์นิเจอร์ ก็จะช่วยลดภาระทางการเงินในส่วนนี้ได้)

2.ประเมินรายได้ ศักยภาพและคุณสมบัติผู้กู้ โดยการสำรวจภาระค่าใช้จ่ายเพื่อประเมินความสามารถในการผ่อนต่อเดือน ซึ่งความสามารถในการผ่อนชำระที่ดี คือ ต้องมีเงินคงเหลือต่อเดือนหลังหักค่าใช้จ่ายเป็น 2 เท่าของยอดผ่อนต่อเดือน (รายได้-ค่าใช้จ่าย = 2 เท่าของเงินผ่อน) และขอวงเงินกู้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนนั้น

3.ตรวจเครดิตบูโร เคลียร์หนี้ก่อนยื่นกู้ โดยเฉพาะหนี้การผ่อนสินค้า ควรชำระให้เรียบร้อยก่อนยื่นกู้ประมาณ 3-6 เดือน และไม่ควรสร้างหนี้เพิ่มในระหว่างนั้น

และขอเสริมเรื่องการยื่นกู้ ที่ปัจจุบันธนาคารมีการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อที่ค่อนข้างเข้มงวด ทำให้การขอสินเชื่อในช่วงนี้ค่อนข้างยาก ดังนั้น นอกจากการจัดการเครดิตบูโรและเคลียร์หนี้ให้เรียบร้อยก่อนยื่นกู้แล้ว ยังมีเทคนิคเสริมในการสร้างบัญชีรายได้เพื่อเป็นหลักฐานการขอกู้ให้ผ่านง่าย เพื่อพิจารณาเพิ่มเติมครับ โดยสำหรับ ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว ผู้ที่ทำงานฟรีแลนซ์ ที่ไม่ได้รับเงินเดือนประจำหรือมีแหล่งรายได้ที่ไม่แน่นอน ควรสร้างหลักฐานให้มีรายรับชัดเจน โดยนำเงินรายได้เข้าบัญชีให้ต่อเนื่องอย่างน้อย 6-12 เดือนก่อนยื่นกู้ และสำหรับพนักงานที่ไม่มีสลิปเงินเดือน ก็ต้องสร้างประวัติรายได้ให้มีรายรับที่ชัดเจน โดยนำเงินเข้าบัญชีต่อเนื่อง 6-12 เดือนก่อนยื่นกู้เช่นกัน 

นอกจากนี้ ในกรณีที่ยังกู้ไม่ผ่าน อาจใช้วิธีการกู้ร่วม เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับภาระหนี้ให้เพียงพอในการผ่อนชำระ ก็อาจทำให้ธนาคารอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้นและได้วงเงินเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยการกู้ร่วมเป็นการเซ็นสัญญายื่นกู้ซื้อทรัพย์ชิ้นเดียวกัน ซึ่งจำนวนคนที่สามารถกู้ร่วมกันได้ขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร และการกู้ร่วมต้องเป็นบุคคลในครอบครัวหรือคู่สามีภรรยา นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีหลายธนาคารที่รับการขอกู้ร่วมสำหรับคู่รัก LGBTQ+ ซึ่งเงื่อนไขการกู้ร่วมเหมือนการกู้ร่วมปกติทุกประการ ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามรายละเอียดได้จากธนาคารที่ท่านสนใจ

หากประเมินแล้วพบว่าท่านเป็นผู้มีความพร้อมด้านการเงิน และในระยะยาวสามารถผ่อนชำระได้โดยไม่ติดขัด ก็นับว่าเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในช่วงเวลานี้ นอกจากความพร้อมแล้ว ช่วงนี้ก็ยังมีปัจจัยภายนอกที่ช่วยสนับสนุนการซื้ออีก ทั้งเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก เรื่องการมีสินค้าคุณภาพดีบนทำเลศักยภาพในราคาคุ้มค่าให้ได้พิจารณาเลือกซื้อจำนวนมาก รวมถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย

ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีความพร้อม การซื้ออสังหาริมทรัพย์ในช่วงนี้ที่ตลาดยังเป็นของผู้บริโภคจึงนับว่าเป็นเวลาที่ดี และการเลือกโครงการอย่างรอบคอบ ทั้งเรื่องการพิจารณาชื่อเสียงความเป็นมืออาชีพของผู้พัฒนาโครงการ คุณภาพงานก่อสร้าง และการดูแลหลังการขายที่ดี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกได้ครับ