แถลงการณ์ 'ครป.' จี้ไทย-อาเซียน กดดัน 'กองทัพพม่า' ยุติปราบปราม ปชช.

แถลงการณ์ 'ครป.' จี้ไทย-อาเซียน กดดัน 'กองทัพพม่า' ยุติปราบปราม ปชช.

"ครป." ออกแถลงการณ์ จี้ไทย-อาเซียน เร่งกดดันกองทัพพม่า ยุติปราบปราม ปชช. เร่งคืนสันติภาพ-ประชาธิปไตย

วันที่ 22 เม.. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4/2564 เรื่อง ครป.ขอให้รัฐบาลไทย-อาเซียนกดดันกองทัพพม่า ยุติการปราบปรามและเครื่องบินทิ้งระเบิดตามแนวชายแดนไทย รับรองรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) จัดการเลือกตั้งใหม่ทันที เร่งคืนสันติภาพ-ประชาธิปไตยประชาชนพม่า มีเนื้อหาระบุว่า สืบเนื่องจากจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนัดพิเศษในวันเสาร์ที่ 24 เมษายนนี้ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดการวิกฤตการณ์ในประเทศพม่าและผลกระทบในภูมิภาค ภายหลังจาก พล..อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือน นำมาสู่การลุกขึ้นต่อต้านของประชาชนชาวพม่าจำนวนมากรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ประกาศการร่วมลุกขึ้นสู้เพื่อสันติภาพและประชาธิปไตย จนเกิดการปราบปรามโดนกองทัพด้วยความรุนแรงต่อเนื่องมากว่า 3 เดือนแล้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 738 คน และถูกจับกุมคุมขังมากกว่า 3,261 คนในปัจจุบัน

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ขอเรียกร้องให้การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในครั้งนี้นำไปสู่การกดดันรัฐสมาชิกเพื่อหาทางออกจากวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมในพม่าและริมชายแดนไทยอย่างเร่งด่วน เพื่อผลักดันให้เกิดสันติภาพและประชาธิปไตยแก่ประชาชนพม่าโดยเร็ว เนื่องจากการประชุมในระดับสูงสุดในครั้งนี้เป็นนัดพิเศษครั้งแรกในรอบ 54 ปีตั้งแต่การก่อตั้งอาเซียนเพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่น่ากังวลในประเทศสมาชิกโดยตรง และคาดว่า พล..อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) จะเดินทางเข้าร่วมประชุมด้วย

คณะรัฐประหารในนามสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และกองทัพพม่า ได้ทำลายกรอบการคุ้มครองทางกฎหมายของประชาชนลงอย่างสิ้นเชิงจนอาจเข้าสู่สภาวะรัฐที่ล้มเหลวในที่สุด ดังนั้น บทบาทของผู้แทนรัฐบาลไทยในการประชุมอาเซียนจึงถูกคาดหวังว่า ที่ประชุมจะหาทางออกจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวอย่างไร จะรับรองรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลเฉพาะกาลที่ถูกตั้งขึ้นมาหรือไม่ และจะยุติการนองเลือดที่เกิดขึ้นได้อย่างไร หาไม่แล้วหากเกิดความรุนแรงมากขึ้นต่อไปเรื่อยๆ โดยไร้หนทางยุติอาจจะนำไปสู่มาตรการตามหลักการรับผิดชอบเพื่อการคุ้มครอง R2P หรือ Responsibility to Protect ซึ่งเป็นข้อตกลงนานาชาติที่ประกาศร่วมกันตั้งแต่การประชุม World Summit เมื่อปี 2548 เพื่อร่วมกันหาทางแก้ปัญหาภัยคุกคามสังคมโลก 4 เรื่องร่วมกัน คือ การสังหารหมู่ (Genocide) อาชญากรรมสงคราม (War Crime) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Ethnic Cleansing) และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against Humanity) ซึ่งมีการมาตรการตั้งแต่การไกล่เกลี่ย, กลไกการเตือน, คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และหากไม่สามารถแก้ไขความรุนแรงได้แล้วจะต้องใช้กำลังผ่านกองกำลังนานาชาติตามอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นมาตรการสุดท้าย (Measure of last resort) ในที่สุด

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ในฐานะประชาชนไทย ขอแสดงเจตนารมณ์ร่วมกับประชาคมโลก เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและอาเซียนปฏิเสธการรับรองรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าอย่างเด็ดขาด และเรียกร้องให้กองทัพคืนสันติภาพและประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด และไม่เห็นด้วยกับการที่อาเซียนได้เชิญพล..อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ผู้นำการรัฐประหารเข้าหารือด้วยแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเชิญผู้แทนรัฐบาลเฉพาะกาลที่จัดตั้งขึ้นในนามรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government- NUG) เข้าร่วมเป็นผู้แทนปรึกษาหารือด้วย เนื่องจากเป็นผู้แทนฝ่ายประชาชนของพม่าจำนวนมากในขณะนี้ที่ลุกขึ้นต่อสู้และเกิดจากคณะกรรมการสมัชชาผู้แทนแห่งสหภาพ (CRPH) โดยตรง เนื่องจากการเชิญ พล..อาวุโส มิน อ่อง หล่าย แต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุนแรง และถูกตั้งข้อกล่าวหาเป็นอาชญากรต่อมนุษยชาติ จึงขาดความชอบธรรมในการเข้าประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และอาจจะทำให้ดูเหมือนว่าสมาคมอาเซียนรับรองการรัฐประหารในพม่าอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย  และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนไทยคาดหวังว่า สมาคมอาเซียนแม้จะมีประเพณีปฏิบัติที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิก แต่มีหลักการร่วมกันที่จะปกป้องหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรม ซึ่งรัฐบาลของทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่จะปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ดังกล่าวร่วมกันเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ดังนั้นอาเซียนในนามประชาชนอาเซียนจำเป็นจะต้องมีมาตรการเชิงรุกเพื่อปกป้องหลักการดังกล่าวที่ถูกละเมิดอย่างรุนแรงและอย่างกว้างขวางต่อประชาชนในพม่า โดยที่พล..อาวุโส มินอ่อง หล่าย อนุญาตให้ทหารหันปืนยิงเข่นฆ่าพลเมืองของตนเองอย่างโจ่งแจ้งและเปิดเผยไปทั่วโลก ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่อาเซียนจะต้องเรียกร้องให้ยุติโดยทันที

รวมถึงยุติการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดใกล้ชายแดนไทยเพื่อเข่นฆ่าทำลายชนกลุ่มน้อย ซึ่งส่งผลให้มีการหนีภัยสงครามข้ามแม่น้ำสาละวินมายังฝั่งไทยจำนวนมาก และทหารพม่ายังได้ยิงเรือราษฎรไทยหลายครั้งโดยรัฐบาลไทยกลับเพิกเฉยไม่ตอบโต้ รัฐบาลไทยจะต้องกดดันให้มีเขต No-fly zone ในทันทีและยุติการสนับสนุนเสบียงบำรุงรัฐบาลทหารพม่าทุกวิถีทาง

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ขอเรียกร้องให้สมาคมอาเซียนเป็นผู้มีบทบาทหลักในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงของมนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งเสริมประชาธิปไตยประชาชนที่มั่นคงร่วมกัน โดยไม่ปล่อยให้ผู้นำองค์กรใดในรัฐภาคีสถาปนาอำนาจโดยมิชอบเพื่อก่ออาชญากรรมขึ้นกับพลเมืองของตนเองและประชาชนอาเซียน ซึ่งละเมิดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนสากลและกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับที่จะฉุดดึงให้อาเซียนกลายเป็นจำเลยของโลกเมื่อแก้ไขความขัดแย้งภายในภูมิภาคของตนเองไม่ได้ และอาจดึงเอามหาอำนาจเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาในที่สุด

ดังนั้น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลอาเซียนกดดันและเรียกร้องให้ประธานสภาบริหารแห่งรัฐพม่า (SAC) ยุติการปราบปรามประชาชน เร่งคืนสันติภาพและประชาธิปไตย โดยการจัดการเลือกตั้งใหม่ในทันที ถือเป็นทางออกและบทบาทของอาเซียนที่จำเป็นอย่างยิ่ง และการรับรองการมีตัวตนดำรงอยู่ของรัฐบาลพลัดถิ่นที่ถูกที่จัดตั้งในนามรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เพื่อกดดันรัฐบาลทหารพม่า น่าจะเป็นทางออกสู่สันติภาพและประชาธิปไตยที่สำคัญยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน

1619079306100

161907931721