เปิดวิธีทิ้ง ‘หน้ากากอนามัย’ ทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง?
เปิดวิธีทิ้ง "หน้ากากอนามัย" ทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง และไม่กลายเป็นต้นตอใหม่ของการแพร่กระจายเชื้อโรค
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 ที่แพร่กระจายมากขึ้น ขณะที่จังหวัดต่างๆ ได้ออกมาตรการบังคับให้ใส่ "หน้ากากอนามัย" หรือ "หน้ากากผ้า" ทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคจากบุคคลไปสู่บุคคล ทั้งนี้หากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่ามีความผิด
ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มอบหมายให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ตั้งวางถังรองรับหน้ากากอนามัยเป็นการเฉพาะ (สีส้ม) พร้อมถุงขยะสีแดงสำหรับใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะประมาณ 1,000 จุด ประกอบด้วย สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า และดินแดง) โรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์กีฬา กทม. ศูนย์เยาวชน กทม. สถานีดับเพลิง สวนสาธารณะ รวมถึงสถานที่สาธารณะที่เหมาะสม เช่น ตลาด วัด ชุมชน บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และเคหะชุมชนต่างๆ
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคนควรรู้ คือ เราจะทิ้งขยะเหล่านี้อย่างไรให้ถูกต้อง และไม่กลายเป็นต้นตอใหม่ของการแพร่กระจายเชื้อโรค “กรุงเทพธรุกิจออนไลน์” ได้รวบรวมฮาวทูทิ้งหน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระของประเทศ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสะสมและเป็นต้นตอของการแพร่เชื้อ เนื่องจากขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัย ถือเป็นขยะติดเชื้อ
- หน้ากากอนามัย ถือเป็นขยะติดเชื้อ
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดนิยามมูลฝอยติดเชื้อ ว่าคือ มูลฝอยที่สงสัยว่าปนเปื้อนสิ่งที่ก่อให้เกิดโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต เชื้อรา ที่มีความเข้มข้นหรือปริมาณเพียงพอที่สาเหตุให้เกิดโรคได้ ซึ่งรวมถึงสิ่งของที่ปนเปื้อนเลือดหรือสารคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกาย ที่ปนเปื้อนเสื้อผ้า ผ้าพันแผล ฟองน้ำ ถุงมือ ผ้าปิดปาก เสื้อคุม ผ้าม่าน และของใช้อื่นๆ ซึ่งจะต้องมีการกำจัดเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร ได้อธิบาย "วิธีการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง" ไว้ 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.ถอดหน้ากากออก โดยไม่สัมผัสด้านในของหน้ากาก
2.พับหน้ากาก เก็บให้ส่วนที่สัมผัสร่างกายอยู่ด้านใน
3.ม้วนสายรัดหรือสายที่คล้องหู แล้วพันโดยรอบหน้ากาก
4.ใส่ถุงและมัดปากถุงให้แน่น
5.ทิ้งลงถังขยะที่แยกจากขยะทั่วไป
6.ควรล้างมือให้สะอาด
ขณะที่ผู้ว่า กทม. อธิบายถึงการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ถูกวิธีไว้ว่า การแยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วให้ถูกที่ถูกวิธีเป็นส่วนหนึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิดได้ กทม.จึงขอความร่วมมือประชาชน ทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี และไม่ทิ้งปะปนกับมูลฝอยทั่วไปในครัวเรือน
โดยใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น เขียนหรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” แยกทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) ในจุดที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอย รวมถึงเพื่อความสะดวกต่อการเก็บรวบรวมนำไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลด้วย
“แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร” อธิบดีกรมอนามัย ได้แนะขั้นตอนในการกำจัดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว หากเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้ทิ้งในถังขยะติดเชื้อที่มีสัญลักษณ์และอีกส่วนหนึ่งคือประชาชนทั่วไป ให้ทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิด ที่สำคัญต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง
รวมถึงแนะวิธีการล้างมือที่ถูกต้องให้ 7 ขั้นตอน คือ 1.ฝ่ามือถูกัน 2.ฝ่ามือถูหลังมือ และนิ้วถูซอกนิ้ว3.ฝ่ามือถูฝ่ามือและถูกซอกนิ้ว 4.หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ 5.ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ 6.ปลายนิ้วมือถูฝ่ามือ และ 7.ถูรอบข้อมือ แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ทั้งนี้หากใครที่ไม่สะดวกล้างมือ ก็สามารถใช้เจลล้างมือแทนได้
และยิ่งในช่วงวิกฤติไวรัสโคโรน่านี้ การป้องกันตัวเองเบื้องต้นที่หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขแนะนำคือ การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกจากบ้าน ไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน และไม่ควรใช้หน้ากากอนามัยซ้ำ หรือควรใช้เพียงวันต่อวันเท่านั้น
ที่มา : bangkokbiznews, oic, prbangkok, skko