'วันแรงงานแห่งชาติ' 2564 ในยุค 'โควิด-19' พรุ่งนี้ของแรงงานที่ยังไม่รู้ว่าจะมีงานให้ทำไหม
ฟังความในใจใน "วันแรงงานแห่งชาติ" 2564 ยามที่ "โควิด-19" ส่งผลกระทบมาสู่การประกาศมาตรการคุมเข้มกิจการร้านค้าอีกครั้ง และมีผลวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรก กับเรื่องตลกร้ายจากแรงงานตัวเล็กๆ ในระบบ
ดูเหมือน ประกาศ 6 จังหวัด แดงเข้ม ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2564 ย้อนกลับไปสู่บรรยากาศของการ ล็อกดาวน์เมื่อปีก่อน ยังกลายเป็นทั้งคำถามตัวโตๆ ของเหล่าแรงงานด้วยว่า
...วันพรุ่งนี้ พวกเขาจะมีงานทำอยู่อีกไหม?
สถานการณ์ความรุนแรงของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 ที่ยอดวันนี้ มีผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 3 หมื่นรายไปแล้ว ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตยังมีนับสิบรายต่อวัน
การกำหนดแนวปฏิบัติ ทั้งเรื่องปิดสถานบริการก่อนหน้านี้ จนมาถึงการห้ามจัดกิจกรรมที่รวมกลุ่มกันเกิน 20 คน ร้านอาหารเปิดบริการได้ถึง 21.00 น. และให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น รวมถึงการกำหนดระยะเวลาเปิดบริการ ตี 4 ถึง 5 ทุ่ม ออกมาเป็นยาแรงหวังควบคุมการระบาด แต่อีกมุมหนึ่งมันได้ส่งผลกระทบถึงกลุ่มคนในตลาดแรงงานในวงกว้างอย่างไม่มีทางหลบเลี่ยง
ข้อปฏิบัติในประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่มีผลในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 หรือ วันแรงงาน 2564 จึงดูจะเป็นฝันร้ายของคนทำงานอย่างแท้จริง
- เสียงจากแรงงานรายวัน ชั่วโมงทำงานหด = เงินหาย
โดยปกติแล้ว ถ้าเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ อย่าง วันแรงงาน อย่างนี้ ตัว ธัญธรณ์ ดื่มโชค พนักงานพาร์ทไทม์ร้านขนมแห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้าย่านใจกลางเมืองจะได้รับค่าแรงเป็น 2 เท่าเสมอ
แต่ดูเหมือนคงไม่ใช่สำหรับวันแรงงาน 2564 ปีนี้ เมื่อห้างต้องเลื่อนเวลาปิดเร็วขึ้น ชั่วโมงทำงานก็หายไป ทำให้รายได้น้อยลงไปโดยปริยาย และถือเป็นตัวเลขที่กระทบกับชีวิตประจำวันพอสมควร เพราะรายจ่ายยังมีเท่าเดิม แต่รายได้น้อยลง
ยิ่งไปกว่านั้น ที่ผ่านมายอดขายที่ร้านก็น้อยมาก ทำให้ร้านต้องพูดคุยเพื่อปรับลดเงินพิเศษในวันหยุดนักขัตฤกษ์ลงในบางครั้ง เช่น จาก 2 เท่า เหลือ 1 เท่าครึ่ง เพื่อประคับประคองสถานการณ์ในช่วงนี้ให้ผ่านไปได้
“คนแทบไม่มีมาเดินห้าง ยิ่งอันล่าสุดไม่ให้นั่งกินที่ร้านคนยิ่งหาย สงสัยต้องขายให้ผีแล้ว เป็นพนักงานก็จริง แต่ไม่ใช่พนักงานประจำ ถ้าร้านอยู่ไม่ไหว ปิด เราก็ตกงานแล้ว” เธอยอมรับ
ขณะที่ พนักงานบริการร้านอาหารย่านลาดพร้าวรายหนึ่งยอมรับว่า ตัวเองก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่า วันแรงงาน 2564 ปีนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป จากมาตรการห้ามรับประทานอาหารในร้านจะกลับมามีผลบังคับใช้อีกครั้ง
“เขายังไม่บอกอะไรหนูเลย หนูก็ยังงงอยู่เลยว่าจะเอายังไง”
ถึงเธอจะเข้ามาทำงานเป็นพนักงานบริการร้านอาหารด้วยโครงการฝึกอาชีพ ตามหลักสูตรของโรงเรียนอาชีวะก่อนจบการศึกษา แต่รายได้ชั่วโมงละ 45 บาทก็ช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไปพอสมควร
“หนูเป็นพนักงานเสิร์ฟทำวันละ 8-9ชม ทำมาประมาณ 1 ปีนิดๆ เงินที่ได้ก็ประมาณ 9พัน-1หมื่น แต่พอมีโควิดแต่ละระลอกที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ ชั่วโมงทำงานลดลงเหลือ5-7 ชั่วโมง รายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 6-8พันบาท”
ที่ร้านมีพนักงานต่อกะประมาณ 25 คน เฉพาะเด็กเสิร์ฟรวมเธอด้วยก็เป็น 8 คน เธอยอมรับว่า ถ้าต้องหยุดก็คงต้องกลับไปตั้งหลักที่บ้านก่อน แล้วค่อยคิดอีกทีว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไร
- เสียงจากคนจ้างแรงงาน ถ้านายจ้างอยู่ไม่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้
“ทุกวันนี้ เข้าร้านไป ไม่อยากจะผูกพันกับใครเลยนะ เด็กยกมือไหว้ก็รับไหว้ แต่ไม่อยากจะจำชื่อใครแล้ว” เสียงจากฝั่งผู้ประกอบการ เจ้าของร้านเหล้าสองร้าน ร้านอาหารอีกหนึ่งร้าน ที่เจ็บมาเป็นล้านจากโควิดสองรอบที่ผ่านมา ที่ทั้งต้องขอผัดจ่ายค่าเช่าที่ ค้างค่าวัตถุดิบ รวมถึงค่าใช้จ่ายซัพพลายเออร์ต่างๆ อันไหนขอเลื่อนจ่ายได้ ก็พยายามทุกทาง
“เอาจริงๆ ถ้าเราปิดไปเลย ยังจะดีกว่า แต่ก็ยอมทนเปิดให้เด็กมีงานทำ”
ร้านเปิด แต่ลูกค้าไม่เข้า รายได้ไม่มี ก็ต้องขอลดจำนวนพนักงานต่อวัน จากทำงาน 6 วัน ก็ให้เหลือ 4 วันเวียนกันมา รวมถึงลดชั่วโมงทำงานด้วย จนสุดท้าย เด็กบางคนมีทางไป หางานใหม่ได้ก็ค่อยๆ ทยอยลาออกไป
หลังพ้นมาตรการคุมเข้มโควิด-19สองรอบก่อนหน้า สัญญาณการฟื้นตัวก็เริ่มกลับมา แต่พอมีการระบาดคลัสเตอร์ทองหล่อเกิดขึ้น ก็เป็นอันรู้กันว่า สถานบันเทิง ร้านเหล้า ต้องโดนก่อนเพื่อนอย่างแน่นอน
“รอบสามนี้ ตอนแรกรัฐบอกว่า ร้านเหล้าให้เปิดขายเฉพาะอาหารได้ แต่จากบทเรียนสองรอบก่อนหน้า เรารู้แล้วว่า ถึงเราเปิด ก็จะมีปัญหากวนใจ บางทีเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจ บอกว่า เราเป็นสถานบันเทิง ทั้งๆ ที่ร้านเราเป็นร้านอาหารนั่งดื่ม ก็เรื่องกวนใจ บวกกับเรื่องเวลาปิดที่ให้เปิดได้แค่สามทุ่ม ลูกค้ากว่าจะเลิกงาน เขานั่งได้แป๊บเดียวก็ต้องเช็คบิลแล้ว ใครจะมา นี่ประกาศล่าสุด.. บอกไม่ให้นั่งกินที่ร้าน ก็คุยกับหุ้นส่วนว่า งั้นปิดเถอะ”
เขายอมรับว่า เห็นใจพนักงานไม่น้อย เพราะส่วนใหญ่จ้างเป็นลูกจ้างรายวัน เมื่อร้านไม่เปิดก็เท่ากับไม่มีรายได้ไปโดยปริยาย แม้จะเห็นใจ แต่ที่สุดเมื่อถึงทางแยก บางครั้งก็ต้องตัวใครตัวมัน
“ขาดทุนไปเป็นล้าน มันก็ไม่ไหวแล้วแหละ จริงๆ คิดว่า ถ้ามาตรการรัฐออกมาให้ชัดเจนกว่านี้ จะปิดก็บอกมาเลยให้ปิดถึงเมื่อไหร่ ไม่ใช่ต่อเวลาไปเรื่อยๆ ก็วางแผนลำบาก แล้วก็ไม่ต้องเอาเงินไปเที่ยวแจกเขาหรอก เห็นแจกไป ก็เอาไปซื้อเหล้าบ้าง บางคนก็ไปแลกเป็นเงินสดออกมา แล้วก็หมดไป ถ้ารัฐช่วยผู้ประกอบการ เขาก็จะสามารถดูแลลูกจ้างได้เองนะ”
ด้านเจ้าของร้านขายอาหาร ย่านเยาวราชรายหนึ่งยอมรับถึงผลกระทบจากโควิด-19 รอบนี้ ถือว่า แย่มาก เพราะตั้งแต่ครั้งแรก จะนั่งกินหรือไม่นั่งกินก็ไม่เป็นไร เพราะยังถือว่ามีลูกค้าออกมาซื้อเยอะ แต่ครั้งนี้ถือว่าน้อยมาก
"บางทีหยุดเป็นชั่วโมง ไม่มีลูกค้าเลย ทำให้เราต้องกินนู่นกินนี่ ดูทีวี แล้วมันอ้วนอ้ะ ถ้าตอนขายดีนะปกติเราแทบไม่มีเวลาต้องกินอะไรเลย"
เจ้าของร้านดังกล่าวเล่าว่า รอบนี้ต้องเปิดร้านเช้ามากกว่าปกติ เพราะคนน้อย นั่งเฝ้าจนเหนื่อยแต่ก็ขายได้นิดเดียวจะไม่ขายก็ลำบาก ก็ต้องอดทนออกมาขาย แม้รายได้จะหายไป 30-40% ก็ตาม
"วันนี้ 30 (เมษายน) เทศกิจมาบอกว่า พรุ่งนี้ห้ามตั้งโต๊ะ ให้ได้แค่ซื้ออย่างเดียว แล้วสามทุ่มต้องปิดเลยนะ ต้องเก็บเสร็จก่อนสองทุ่มครึ่ง เทศบาลก็บอกว่าต้องเอากระจกมาติด ถ้าไม่มีกระจกก็ต้องมีผ้าใบพลาสติกใส หรือผ้าบางๆ แต่ติดแล้วคนมองเห็นอาหารที่ขายได้ไม่ดี มองแล้วคนก็ผ่านร้านเราไป ไม่ได้น่าสนใจ"
แต่ถึงตอนนี้ ลำบากแค่ไหนก็ต้องทำ เพราะสถานการณ์อยู่ในจังหวะที่เลือกอะไรไม่ได้ นอกจากพยุงตัวเองให้ผ่านไปให้ได้ก่อน
ส่วน เรื่องลูกจ้างนั้น ปกติทางร้านจ้างเป็นรายวัน และช่วยเหลือค่าที่พักด้วย มาถึงตอนนี้ ฝ่ายนายจ้างยอมรับว่า ก็จำเป็นต้องลดการใช้งานลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่า ในสถานการณ์แบบนี้ ถึงไม่อยากทำก็ไม่มีทางเลือกเหลือมากนัก เมื่อมีค่าใช้จ่ายแต่ละวันรออยู่
"ปกติเราให้รายวัน ให้ค่าห้องที่เค้าเช่าด้วย วันไหนไม่มีงานหรืองานน้อยก็ยังจ่าย แต่เดี๋ยวนี้วันไหนที่ไม่มีงานเลยจริงๆ แบบทำคนเดียวได้ ก็ไม่เรียกเค้ามา ก็ต้องจำใจไม่จ่ายเค้า"
- เสี่ยงตกงาน วันแรงงาน จะโทษใคร
สิ่งที่ทั้งแรงงาน และผู้ประกอบการสะท้อนออกมานั้น ดูจะไม่เกินเลยไปกว่าความเป็นจริงสักเท่าไหร่ เมื่อ ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ยอมรับว่า มาตรการดังกล่าว จะสร้างผลกระทบให้ร้านอาหารใน 6 จังหวัด ยอดขายลดลง วันละ 1 พันล้านบาท รวม 14 วัน เป็น 1.4 หมื่นล้านบาท
ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. วิเคราะห์ผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 นั้นถือเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศ และยิ่งทำให้ความหวังการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ที่ 3% จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยว 3 ล้านคนในไตรมาส 4 ของปีนี้ ดูจะริบหรี่ลงทุกวัน
ขณะที่ สำนักงานประกันสังคม รายงานผลการวิเคราะห์การว่างงานรายอุตสาหกรรม พบว่าในปี 2563 กว่า 67% ของผู้ประกันตนใช้สิทธิว่างงาน มาจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ยังไม่นับแรงงานจบใหม่อีกกว่าครึ่งล้านที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทุกอย่างล้วนกลายเป็นคำถามย้อนกลับไปที่ความชัดเจนในหลักปฏิบัติ ความมีประสิทธิภาพของการจัดการโดยเฉพาะ วัคซีนโควิด-19 ที่เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ของประเทศในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น ทางบรรดาธุรกิจร้านอาหารจึงอยากขอผ่อนผันไปก่อน 7 วัน เนื่องจากมีวัตถุดิบที่สต็อกไว้ หรือขอให้พิจารณาเปิดให้นั่งทานในร้านที่ได้รับตราสัญลักษณ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) แต่เมื่อดำเนินมาตรการครบ 14 วันแล้ว จะเจรจาขอจัดโต๊ะนั่งแบบเว้นระยะห่าง และให้มีฉากกั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งเรียกร้องให้ รัฐบาลเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งเรื่องขอเงินกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรน และลดเงินนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมด้วย
แต่หากเราวิเคราะห์ข้อความบางช่วงตอนในข้อกำหนด ยก 6 จังหวัด "พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” จาก ราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ว่า...
“ประชาชนส่วนใหญ่มีความผ่อนคลายกับสถานการณ์การควบคุมโรคที่ดีขึ้น ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ค่อยระมัดระวังป้องกันตัวอย่างในช่วงต้นของการระบาด จึงทำให้ โรคแพร่กระจายไปในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร”
ก็ดูเหมือนจะย้อนกลับเป็นคำถามถึงวิธีคิด และจุดอ่อนของวิกฤติโควิด-19 ระลอก 3 ในครั้งนี้ ใครกันแน่เป็นต้นเหตุของปัญหา!? แต่แรงงาน และอีกหลายภาคส่วนของสังคมต้องมารับผลกระทบในวันแรงงาน 2564
ดูเป็นเรื่องตลกร้ายที่ขำไม่ออกจริงๆ