“รักษ์”นำทัพเอ็กซิมแบงก์เพื่อพัฒนาอุ้มผู้ส่งออก

“รักษ์”นำทัพเอ็กซิมแบงก์เพื่อพัฒนาอุ้มผู้ส่งออก

EXIM BANKนับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเข้าสู่เวทีการค้าและการลงทุนต่างประเทศ ล่าสุดกำลังปรับกระบวนทัพภายใต้การนำของกรรมการผู้จัดการคนใหม่ "รักษ์ วรกิจโภคาทร"เพิ่งรับตำแหน่งมาหมาดๆต้นเดือนเม.ย.2564

“รักษ์ วรกิจโภคาทร”เล่าว่า ขณะนี้ระบบความคิดของผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งก็คือตัว EXIM BANK และ ผู้ประกอบการส่งออกสินค้า ซึ่งก็คือ ผู้ขอสินเชื่อนั้น เก่าไป หรือ ใช้ไม่ได้แล้ว สะท้อนจาก ที่ผ่านมาเกือบ 10 ปี ยอดการส่งออกของไทยโตเฉลี่ย 2% ต่อปีทั้งๆที่จริงๆแล้ว ประเทศที่เคยเป็นลูกศิษย์ เช่น เวียดนาม เคยส่งคนมาเรียนหนังสือกับ EXIM BANK เมืองไทย วันนี้ ลูกศิษย์เองมียอดการส่งออกโต 10% และแย่งนักลงทุนที่จะมาอีอีซีของเราไปหมด

ขณะที่ผู้ประกอบการในประเทศที่มีรวมกว่า 3 ล้านราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ส่งออกไม่ถึง 1% หรือประมาณ 3 หมื่นราย ตัวเลขนี้ ไม่ว่าจะสำรวจในปีไหน หรือ ในรอบกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ส่งออกก็ยังอยู่ในระดับนี้มาตลอด ตัวเลขดังกล่าว เป็นการยืนยันว่า เครื่องยนต์เก่าไปไม่ได้ ต้องแก้ที่ตัวองค์กรและผู้ประกอบการ

จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยการพัฒนาหรือปรับจูนการทำงานและความคิดทั้งสองฝ่ายให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ได้กำหนดเป้าหมายแก่ทีม โดยจะเข้าไป”เสริม ซ่อม และ สร้าง”ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่มSMEs มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

สำหรับต่อไปนี้ อุตสาหกรรมใดที่เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือ ที่เกี่ยวกับเมดดิคอล เฮลท์แคร์ เราจะเข้าไปมีบทบาทการ"สร้าง" คือการสนับสนุน เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้ แบงก์พาณิชย์อาจจะมองว่า เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง

ส่วนบทบาทด้าน”ซ่อม”นั้น เรามองไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตร เช่น ข้าว และ ยาง ซึ่งสินค้าเหล่านี้ มีปัญหาทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ที่จะต้องเข้าไปร่วมซ่อม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยธนาคารจะเข้าไปช่วยให้ความรู้ทางด้านการตลาด และ ให้สินเชื่อในเทอมที่ยาวขึ้น เป็นต้น

ด้านบทบาทของคำว่า”เสริม” คือ แม้ว่า ขณะนี้ เรามีผู้ประกอบการที่มีตลาดส่งออกหลักแล้ว แต่เรายังต้องหาตลาดใหม่ ไปให้ไกลกว่าเดิม ซึ่งจะต้องเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดในแอฟริกา ตะวันออกกลาง ฉะนั้น เราต้องทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนให้กับผู้ประกอบการ

ขณะเดียวกัน สิ่งที่จะเสริมได้ คือ ผมจะเช่าพื้นที่เทรดออนไลน์ โดยจะทำให้เป็นมาร์เก็ตพาวิลเลี่ยนหรือEXIM พาวิลเลี่ยน เอาผู้ประกอบการมาบ่มเพาะ และนำเข้าไปอยู่ในตลาดนั้น ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น อาจจะไม่สามารถรองรับได้ ซึ่งตรงนี้ เราต้องเข้าไปเสริม

“ผมจะเอาไทยแลนด์ดีเวลลอปเมนท์แบงก์กลับมา เหมือนที่เราเคยทำกับไอเอฟซีที วันนี้ ผมจะเอาบทบาทและวิญญาณของดีเวลลอปเมนท์แบงก์กลับมา คนชอบถามว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาคืออะไร ก็คือ ทำในมุมที่มีความเสี่ยงสูงจนธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถที่จะเข้ามาได้”

ในทางปฏิบัติแล้ว นอกจากเราจะให้ดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน ยังจะให้ระยะเวลาของสินเชื่อที่ยาวกว่าคนอื่นด้วย แถมด้วยระยะเวลาการปลอดหนี้ ถ้าเป็นสินเชื่อที่เสี่ยงสูงมาก เราจะขอให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนด้วย ขณะนี้เรามีโปรเจกต์สินเชื่อนี้ เราใช้ชื่อว่า "ทรานฟอร์เมชั่น โลน" จะเริ่มได้ประมาณ 1 พ.ค. โดยจะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ต้องการลงทุนในเครื่องจักรใหม่ หรือ ลงทุนใหม่

เราก็จะเสนอให้ซอฟท์โลนในอัตราต่ำ เช่น 2% ต่อปี ปลอดชำระหนี้กว่า 2 ปีแรก เป็นต้น โดย เราจะเริ่มในกลุ่มผู้ประกอบการSMEs รายได้ไม่เกิน 1 พันล้านบาทต่อปี วงเงิน 100 ล้านรายต่อราย วงเงินรวมประมาณ 2 พันล้านบาท วันนี้มีผู้ประกอบการประมาณ 15-20% ที่มีปัญหาไปต่อลำบาก ฉะนั้น เราจะจัดกลุ่มแยกบริการให้แก่ลูกค้าจากเดิมอยู่ในพื้นที่เดียวกันหมด เพื่อให้การให้บริการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

"ทุกวันนี้ EXIM BANK เป็นแบงก์เดียวที่ผู้ประกอบการตัวใหญ่กับตัวเล็กเข้าโต๊ะสินชื่อเดียวกัน และ เป็นสิ่งที่ผมจะเอาเข้าไปผ่าตัด โดยจะทำให้แม่น้ำกลายเป็น 2 สาย คนตัวใหญ่ คนตัวเล็ก ไปคนละโต๊ะ ต้องทำให้เกิดเชี่ยวชาญให้ได้”

รักษ์กล่าวว่า เอาง่ายๆถ้าเป็นเงื่อนไขขอสินเชื่อ 3 ปีย้อนหลังกำไรเป็นบวก เราจะไปหาลูกค้าเหล่านี้จากที่ไหน ฉะนั้น ต้องเขียนเงื่อนไข ให้ผ่อนปรน เช่น ส่วนทุนไม่ติดลบ เป็นต้น แต่อย่างน้อยยังมีฐานลูกค้าที่มีรายได้รายรับ มีกิจการที่ยังทำงานไปได้ ส่วนแคชโฟลว์ข้างหน้า เราก็ต้องดู เพราะเป็นเรื่องการใช้หนี้ แต่ย้อนหลังไม่ดูทั้งหมด

ด้วยภารกิจดังกล่าว จำเป็นต้องใช้เงินทุนที่มากขึ้น ซึ่งธนาคารก็ได้ขอเพิ่มทุนไปยังกระทรวงการคลังแล้ว แต่ระหว่างนี้ เราจะใช้เงินทุนที่มีอยู่ของตัวเองไปก่อน เมื่อสร้างผลงานให้เห็น ก็เชื่อว่า กระทรวงการคลังจะใส่เงินเพิ่มทุนให้เรา ปัจจุบัน ธนาคารมีระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระดับสูงราว 16-17%

สำหรับเป้าหมายสินเชื่อในปีนี้ เดิมตั้งเป้าหมายไว้ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.38 แสนล้านบาท แต่ตนปรับเพิ่มเป็น1.45 แสนล้านบาท สำหรับหนี้เสียนั้น เราจะพยายามคุมไว้ไม่ให้เกิน 4-5%ของสินเชื่อรวม