'คนละครึ่ง' รอบใหม่ ชง ครม.เคาะ 'เยียวยา' เปิดลงทะเบียนพ.ค. เริ่มใช้ มิ.ย.
นายกฯ หารือหน่วยงานเศรษฐกิจ ถกเยียวยาผลกระทบโควิด ระลอก 3 เรียกความเชื่อมั่นรัฐบาล พร้อมเสนอ ครม.พรุ่งนี้ คาดดัน “คนละครึ่ง” เฟส 3 เปิดลงทะเบียน พ.ค.เริ่มใช้ มิ.ย.นี้ เล็งยืดเวลาใช้ “เราเที่ยวด้วยกัน” ถึงสิ้นปี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจ คณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 3 พ.ค. เพื่อหารือมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 5 พ.ค.นี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงความคืบหน้าของการออกมาตรการในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดหลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการมอบหมายให้ สศช.และกระทรวงการคลัง ทำมาตรการมาเสนอ
โดยนายกรัฐมนตรีต้องการเร่งให้ประกาศมาตรการให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้น จึงให้มีการนำชุดมาตรการที่จะออกมาเป็นหลักการเบื้องต้นเสนอให้ ครม.พิจารณาก่อน
ทั้งนี้ หน่วยงานเศรษฐกิจได้ให้ข้อมูลกับนายกรัฐมนตรี ว่า มาตรการเยียวยาประชาชนยังต้องใช้เวลาในการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเนื่องจากการระบาดในครั้งนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่หนักและมีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างจึงต้องดูว่าวงเงินที่จะใช้เยียวยาเท่าไหร่จึงจะเพียงพอเหมาะสม
อัพเดทล่าสุด :
- 'คนละครึ่งเฟส 3' ครม.ไฟเขียวแล้ว อัพเดทรายละเอียดที่นี่!
- เคาะแล้ว! ครม.อนุมัติ 'เราชนะ-ม.33เรารักกัน' รับเพิ่ม 2 พันบาท 'คนละครึ่ง' รับอีก 3 พัน
- เคาะ ‘ม.33 เรารักกัน’ เยียวยาเพิ่ม 2,000 บาท
- 'เราชนะ' จ่าย 'เงินเยียวยา' เพิ่ม 1,000 บาท 2 สัปดาห์ ใครได้สิทธิบ้าง?
- เคลียร์ ชัด ‘เรามีเรา’ ไม่ใช่ ‘เยียวยาโควิด’ แต่คืออะไร?
สำหรับมาตรการที่สามารถดำเนินการได้เลยคือมาตรการ "คนละครึ่ง" เฟส 3 ซึ่งใช้วงเงินประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังได้ส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ ที่มี สศช.เป็นประธานแล้ว คาดว่ารายละเอียดของโครงการนี้จะมีการพิจารณาและนำเข้าสู่การประชุมของ ครม.ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ค.นี้
รวมทั้งเปิดลงทะเบียนในเดือน พ.ค.นี้ และมีผลในเดือน มิ.ย.นี้ โดยมาตรการที่ดำเนินการจะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ช่วยเหลือร้านค้ารายย่อยได้หลังจากมาตรการเศรษฐกิจที่ออกมาก่อนหน้านี้ทยอยหมดลงปลายเดือน พ.ค.นี้
ส่วนมาตรการ "เราเที่ยวด้วยกัน" เฟส 3 มีแนวความคิดให้เลื่อนโครงการออกไปในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมหลังจาก ศบค.ประกาศขอให้มีการงดการเดินทางในหลายพื้นที่เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งการเลื่อนระยะเวลาโครงการเที่ยวด้วยกันจากเดิมที่ให้สิทธิ์เราจอง 2 ล้านสิทธิ์ เริ่มต้นในวันที่ 17 พ.ค.นี้
ทั้งนี้ คาดว่าจะให้เริ่มลงทะเบียนใหม่ในเดือน มิ.ย.และขยายระยะเวลาการสิ้นสุดโครงการไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ส.ค.2564
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจได้พิจารณาถึงความคืบหน้าของมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของมาตรการด้านการเงินผ่านการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 และการออก พ.ร.ก.ด้านการเงินต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่
รวมถึงมาตรการด้านภาษี ทั้งการลดภาษีและการขยายกำหนดเวลาต่างๆ อีกทั้งมาตรการด้านการคลังผ่านโครงการเยียวยา และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่างๆ ซึ่งมีทั้งโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เช่นโครงการคนละครึ่งระยะที่ 1-2 โครงการเพิ่มกำลังซื้อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการที่ยังดำเนินการอยู่ เช่น โครงการเราชนะ
ทั้งนี้ นายกฯ ย้ำความจำเป็นที่ต้องพิจารณามาตรการที่จะออกมาใหม่ในรอบนี้ให้รวดเร็วและด้วยความรอบคอบ โดยมาตรการใดที่พร้อมให้ดำเนินการทันที และนายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานต้นสังกัดนำเสนอเข้า ครม.พิจารณาวันที่ 5 พ.ค.2564 และจะมอบนายสุพัฒนพงษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้แถลงหลังประชุม ครม.
“นายกฯกล่าว ในที่ประชุมว่ามาตรการอะไรที่ทำได้เลยก็ให้เสนอเข้ามาให้ ครม.ในวันพุธนี้พิจารณาทันที มาตรการอะไรที่ยังทำไม่ได้ทันที ก็ให้เสนอเข้ามาเป็นหลักการเพื่อที่จะได้ประกาศให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลได้มีการเตรียมมาตรการต่างๆเตรียมพร้อมไว้แล้ว” นายอนุชา กล่าว
ทั้งนี้ การระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบล่าสุดนี้ ได้กระจายไปทั่วประเทศ และมีผลกระทบในวงกว้างกว่ารอบที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อดูแลและเยียวยาประชาชนอย่างเร่งด่วน และฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยจะพิจารณามาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที เช่น มาตรการด้านการเงิน มาตรการด้านสินเชื่อ มาตรการพักชำระหนี้ รวมถึงมาตรการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน มาตรการการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ