แบ่ง 5 ฝ่ายจัดการปัญหาโควิด19กทม.-ปริมณฑล

แบ่ง 5 ฝ่ายจัดการปัญหาโควิด19กทม.-ปริมณฑล

ติดโควิด 19 ใหม่ 2,112 ราย ตายเพิ่ม 15 ราย อาการหนัก 1,042 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 343 ราย แบ่ง 5 ฝ่ายจัดการโควิดกทม.-ปริมณฑล ปทุมวันลุยคัดกรองเชิงรุกวันละ 3,000 ราย ระดมฉีดวัคซีนทั่วกรุง 60,000 โดสต่อวัน

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 5 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,112ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,107าย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 5ราย เสียชีวิตเพิ่ม 15 ราย เฉพาะระลอกเดือน เม.ย. ติดเชื้อสะสม 46,037 ราย เสียชีวิตสะสม 224 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 74,900 ราย และเสียชีวิตสะสม 318 ราย กำลังรักษาตัว 30,222ราย อาการหนัก 1,042ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 343 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิต 15 ราย ในกรุงเทพฯ 4 ราย นนทบุรี สุโขทัยจังหวัดละ 2 ราย ปทุมธานี ระยองยะลา อยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ นครพนมและนครปฐมจังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัวปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ความดันโลหิตสูง 9 รายเบาหวาน 6 ราย โรคหัวใจ 2 ราย ไขมันในเลือดสูง 4 ราย อ้วน 2 ราย โรคปอดเรื้อรัง 3 ราย ปฏิเสธโรคประจำตัว 4 ราย ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ใกล้ชิดสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อ 9 ราย สัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน 1 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง เช่น กทม. 2 ราย อาศัยในพื้นที่เสี่ยง เช่น ตลาด 1 รายและไม่ทราบ 2 ราย

กทม.แบ่ง5ฝ่ายจัดการโควิด
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในหนังสือตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด19 กรุงเทพฯปริมณฑล โดยมีนายกฯเป็นผอ.ศูนย์ รายละเอียดแบ่งคณะทำงานเป็น 5 ฝ่ายร่วมกัน คือ ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายปฏิบัติการตรวจเชิงรุก ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่และฝ่ายบริหารตัดการการฉีดวัคซีน และมีผู้อำนวยการ 50 เขตเป็นผอ.ศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด19 ในระดับเขต โดยทั้งหมดจะทำงานประสานสอดคล้องต่อเนื่องกัน


พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า กรุงเทพฯรายงานการแพร่ระบาดโควิด 19 ว่าตั้งแต่5เม.ย.-4พ.ค.2564 มีการค้นหาเชิงรุกในชุมชนราว 30,000 ราย พบติดเชื้อ 1,586 ราย คิดเป็น 3.97% ซึ่งลงพื้นที่ทั้งตลาด ชุมชน สถานประกอบการ โรงงาน สถานบันเทิง ทำให้กทมเห็นภาพของการบริหารจัดการ

ปทุมวันตรวจค้นเชิงรุกวันละ 3,000 ราย
สำหรับแขวงลุมพินี แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน ใน 6 ชุมชน และ 1 เคหะชุมชน พบผู้ติดเชื้อแล้ว 162 รายโดยทั้งหมดได้รับเข้าสู่การดูแลรักษาแล้ว 100% และพบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงราว 304 รายแม้ผลตรวจเบื้องต้นเป็นลบ แต่จะต้องแยกกักที่บ้านเป็นเวลา 14 วันต่อไป เพื่อไม่ไปเสี่ยงให้ผู้อื่นติดเชื้อ ในส่วนการจัดการสำคัญ มีการจัดสถานที่พักคอบ ซึ่งเขตปทุมวันใช้พื้นที่โรงเรียน ดูแลให้ประชาชนระหว่างรอนำส่งสถานที่เหมาะสม ถ้าไม่ติดเชื้อจะอยู่จนครบ 14 วัน หากเป็นผู้ติดเชื้อจะส่งไปรับการดูแลรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ เขตปทุมวันจะมีการลงพื้นที่ค้นหาเชิงรุกเพิ่มในระหว่งวันที่ 5-10 พ.ค.ที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ และชุมชนเคหะบ่อนไก่ วันละราว 2,000 ตัวอย่าง และในสถานประกอบการอีกวันละ 1,000 ตัวอย่าง รวม 3,000ตัวอย่างต่อวัน เช่นเดียวกับเขตคลองเตยที่มีการลงพื้นที่ค้นหาเชิงรุกเช่นกัน รวมถึง เขตอื่นๆก็จะทำงานคู่ขนานกันไป นี่คือการทำงานฝ่ายค้นหาเชิงรุกและดูแลผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัส

ระดมฉีดวัคซีนกทม.วันละ 60,000โดส
" ในส่วนฝ่ายบริหารจัดการวัคซีน ในสัปดาห์นี้กทม.จะมีการหารือในเรื่องการกระจายวัคซีนถึงกลุ่มเสี่ยง ซึ่งคาดว่าใน 50 เขต มีประมาณ 7 ล้านคน เพราะฉะนั้น การระดมฉีดทั่วกรุงเทพฯน่าจะวันละ 60,000 โดสเป็นอย่างน้อย"พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า นายกฯได้มีการตั้งคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุข ประกอบด้วย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ศ.นพ.อุดม คชินทร และศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รวมถึง คณบดีและผู้บริหารองค์กรต่างๆเข้ามาร่วม เพื่อทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในกทม.และปริมณฑลลดลงในเร็ววัน

สายพันธุ์บราซิลพบเฉพาะในสถานที่กักกัน

ต่อข้อถามกรณีมีการระบุว่าไวรัสายพันธุ์บราซิลเข้ามาในประเทศไทยแล้ว พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้อง จะต้องเข้ากักกันในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ ซึ่งนอกจากจะมาการตรวจหาเชื้อแล้ว จะต้องตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสด้วย ซึ่งการพบสายพันธุ์
บราซิลมีรายงานพบเฉพาะในผู้ที่เข้าอยู่ในสถานที่กักกันเท่านั้น ซึ่งได้รับการดูแลอย่างดี ยังไม่พบในชุมชน