เคลียร์ ชัด ‘เรามีเรา’ ไม่ใช่ ‘เยียวยาโควิด’ แต่คืออะไร?

เคลียร์ ชัด ‘เรามีเรา’ ไม่ใช่ ‘เยียวยาโควิด’ แต่คืออะไร?

สรุปมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และ โครงการ "เรามีเรา" เพื่อช่วยเหลือผู้พิการที่ติด"โควิด-19"

ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาอย่างไม่เป็นทางการว่า คณะรัฐมนตรีออกมาตรการ “เรามีเรา” เพื่อช่วยเยียวยาโควิดแก่กลุ่มคนเปราะบาง แต่ล่าสุด ทางครม. ย้ำชัดแล้วว่า  เรามีเรา” ไม่ใช่มาตรการเยียวยา “โควิด-19” แต่เป็นมาตรการช่วยเหลือกลุ่มพิการในทางปฏิบัติที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ใช่การแจกเงินใดๆ ทั้งสิ้น 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด 19 รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจพร้อมให้ความช่วยเหลือ ดูแล ผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม โดยทุกหน่วยงานทยอยออกมาตรการเพื่อดูแลประชาชนในส่วนการรับผิดชอบแล้ว และจะมีการออกมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

  • รัฐช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง อะไรบ้าง? 

รองโฆษกฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยก่อนหน้านี้มีการออกมาตรการผ่านโครงการเราชนะ ด้วยการแจกเงิน 7,000 บาท สำหรับกลุ่มเปราะบางขาดคุณสมบัติที่ไม่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเราชนะ นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ให้ข้อมูลเมื่อเดือนมกราคม2564 ว่ากระทรวง พม. ได้เตรียมมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ ได้แก่

1) ประเมินครอบครัวเพื่อช่วยเหลือสวัสดิการตามภารกิจกระทรวง พม. อาทิ เงินสงเคราะห์ เงินทุนประกอบอาชีพ เป็นต้น

2) เสริมพลัง สร้างความเข้าใจ และแนะนำทางเลือกของครอบครัวสำหรับการมีรายได้ และอาชีพ

3) ติดตามการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

  • เรามีเราคืออะไร?

นอกจากนี้ รองโฆษกฯ ยังกล่าวว่า ทางครม. จัดตั้ง “ทีมเรามีเรา” คณะทำงานช่วยเหลือ "ผู้พิการ" ที่ติดเชื้อโควิด-19  เป็นการเฉพาะ ทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด

โดยมีการทำงานคือ

1.มอนิเตอร์ติดตามว่ามีคนพิการที่โพสต์/โทรขอความช่วยเหลือหรือไม่  

2.คัดกรอง ประสานเครือข่ายเพื่อให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลทั้งโรงพยาบาลหรือ รพ.สนาม

3.ประเมิน และติดตามผลการช่วยเหลือ

โดยผู้พิการสามารถโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือมายังสายด่วน 1300 ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศและสายด่วน 1479 ตั้งแต่ขณะนี้เป็นต้นไป

ที่มา : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก