รู้จัก "วัคซีนโควิด-19" ประสิทธิภาพแต่ละวัคซีนเทียบกันไม่ได้
"วัคซีนโควิด-19" อีกหนึ่งข้อถกเถียงในสังคมว่าทำไมถึงไม่เอาชนิดนั้น ชนิดนี้เข้ามา เพราะเมื่อมีการเปรียบเทียบประสิทธิภาพ หลายๆ ตัวที่ไทยไม่ได้นำเข้าประสิทธิภาพกลับดีกว่าหรือเทียบเคียงที่นำเข้ามา
ทำไม? ประเทศไทยถึงไม่เลือก “วัคซีนโควิด-19” ชนิดอื่นๆเข้ามาฉีดให้แก่คนไทย...ดูจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของคนไทยจำนวนมาก ยิ่งมีกระแสในโลกโซเซียลมีเดีย เมื่อบางรัฐ ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการฉีดวัคซีนให้ฟรีแก่ทุกคนที่เดินทางไปยังสหรัฐฯ และผู้ที่ต้องการฉีดสามารถเลือกฉีดวัคซีน ได้อีกด้วย รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดที่ก่อให้เกิดคำถามมากมาย
- "หมอยง"ชี้ชัด "วัคซีนโควิด-19" แต่ละชนิดเปรียบเทียบกันไม่ได้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเผยแพร่สู่สาธารณะเรื่อง ประสิทธิภาพของวัคซีน ระบุว่า ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะไม่ได้ทดลอง หรือ ศึกษาพร้อมกันในสถานที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีน ขึ้นอยู่กับ ปัจจัยต่าง ๆ มากมาย เช่น
ความชุกของโรคในขณะทำการศึกษา ถ้าความชุกของโรคสูง ตัวเลขประสิทธิภาพจะต่ำกว่า ดังนั้นจะเห็นได้ว่าวัคซีน Pfizer ขณะทำการทดลองถึงประสิทธิภาพ มีอุบัติการณ์ของโรคในประชากร ต่ำกว่า วัคซีน Johnson and Johnson ในขณะที่ทำการทดลองในอเมริกา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดสูงสุดในอเมริกา จึงมองดูตัวเลขแล้ววัคซีนของ Pfizer จึง มีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนจอห์นสัน เพราะเป็นการนับจำนวนผู้ป่วยที่เกิดขึ้นในช่วงการศึกษา
ประชากรที่ใช้ในการศึกษา ถ้าใช้ประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่า การศึกษาในประชากรกลุ่มเสี่ยงต่ำกว่า เพราะวัคซีนส่วนใหญ่ จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ป้องกันความรุนแรงของโรค เช่น วัคซีน Sinovac ที่ทำการศึกษาที่บราซิล ใช้กลุ่มเสี่ยงสูง คือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ได้ประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับ วัคซีนเดียวกันที่ทำการศึกษาในประชากรทั่วไป ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ในตุรกี ได้ตัวเลขประสิทธิภาพที่สูงกว่า การศึกษาในบราซิล มาก
- ย้ำต้องศึกษาข้อมูล "วัคซีนโควิด-19"ทั้งหมด
การนับความรุนแรงของโรค ก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่ง วัคซีนของจีน Sinovac ทำการศึกษาในบราซิล ตัวเลขประสิทธิภาพ นับจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการน้อยมาก เข้าไปด้วย หรือ ระดับความรุนแรงที่เรียกว่า WHO grade 2 คือติดเชื้อมีอาการ แต่ไม่ต้องการการดูแลรักษา (no need medical attention) ซึ่งตรงข้ามกับวัคซีนอีกหลายตัว ไม่มีการกล่าวถึงความรุนแรงของโรคที่ชัดเจน
ส่วนใหญ่มักจะเป็นความรุนแรงระดับ WHO grade 3 คือป่วย เป็นแบบผู้ป่วยนอกไม่ต้องการนอนโรงพยาบาล แต่ต้องพบแพทย์ (need medical attention) ถ้ายิ่งนับความรุนแรงที่น้อยมาก ๆ จะมีตัวเลขประสิทธิภาพต่ำ และถ้านับความรุนแรงตั้งแต่เกรด 4 คือป่วยต้องเข้านอนโรงพยาบาล ประสิทธิภาพจะยิ่งสูงมาก และถ้ายิ่งความรุนแรงที่สูงไปอีก ถึงเกรด 7 Grade 7 คือเสียชีวิต ประสิทธิภาพจะใกล้ 100% ของ วัคซีนเกือบทุกชนิด
สายพันธุ์ของไวรัส การศึกษาของ Pfizer และ Moderna ทำก่อน Johnson and Johnson การทำทีหลังจะเจอสายพันธุ์ของไวรัสที่กลายพันธุ์ หลบหลีกวัคซีน ทำให้ภาพรวมของวัคซีนที่ทำก่อนมีประสิทธิภาพดีและไม่ทราบประสิทธิภาพต่อไวรัสที่กลายพันธุ์ วัคซีนของJohnson and Johnsonเห็นได้ชัดเจน
การกลายพันธุ์ของไวรัสมีส่วนที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง การทำการศึกษาคนละเวลาจึงเป็นการยากที่จะมาเปรียบเทียบตัวเลขกัน ถึงแม้ว่าจะทำในประเทศเดียวกัน เพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ในการหลบหลีกประสิทธิภาพของ วัคซีน อยู่แล้ว วัคซีนของอินเดียทำการศึกษาที่หลังสุด และศึกษาในสายพันธุ์อินเดีย ก็ไม่สามารถที่จะไปเปรียบเทียบกับวัคซีนที่ทำการศึกษาในอเมริกาใด้
ข้อมูลล่าสุดก็เห็นได้ชัดว่าวัคซีน Pfizer และมีประสิทธิภาพลดลง ประมาณ 20% ต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และถ้ามาเจอสายพันธุ์อินเดีย ก็อย่างที่มีข่าวฉีดวัคซีน pfizer มาแล้ว 2 เข็ม ก็มาติดเชื้อในอินเดีย เสียชีวิตในเวลาต่อมา
ดังนั้น ในทางปฏิบัติ ในการดูวัคซีน เราจะต้องศึกษาข้อมูลทั้งหมด แต่บางครั้งก็ไม่ได้ข้อมูลทั้งหมดจึงไม่อยากเห็นการใช้ตัวเลขที่ทำการศึกษาต่างระยะเวลากัน ต่างสถานที่กัน มาเปรียบเทียบกัน ว่าวัคซีนใครดีกว่าใครอย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการวัดระดับภูมิต้านทาน วัคซีนในกลุ่ม mRNA จะมีภูมิต้านทานสูงกว่าวัคซีนอื่นทั้งหมด สำหรับประเทศไทยต้องการวัคซีนทุกตัว ที่สามารถจะนำเข้ามาได้ และให้มีการใช้อย่างเร็วที่สุด
- ประสิทธิภาพวัคซีน “วัคซีนไฟเซอร์” ต่อสายพันธุ์ใหม่
“วัคซีนไฟเซอร์” (Pfizer) เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตวัคซีน โดย mRNA เป็นสารพันธุกรรมของไวรัสทำหน้าที่คล้ายแม่พิมพ์ เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไป จะทำให้ร่างกายมนุษย์สร้างโปรตีนที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา
มีความแตกต่างจากวัคซีนประเภทเวกเตอร์ไวรัส (Viral Vector) เช่น วัคซีน AstraZeneca ตรงที่วัคซีนเหล่านี้ตัดต่อสารพันธุกรรมให้ไวรัสอะดิโนก่อนเพื่อเป็นพาหะนำเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย ในขณะที่วัคซีน Pfizer ฉีดสารพันธุกรรมเข้าไปโดยตรง แต่เป็นเพียงชิ้นส่วนของไวรัสที่หุ้มด้วยอนุภาคนาโนที่เป็นไขมัน ( Lipid Nonaparticle) ไม่ใช่ไวรัสที่มีชีวิต
ประสิทธิภาพของ "วัคซีนไฟเซอร์" ตามที่ตีพิมพ์ออกมาล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 95% โดยให้วัคชีน 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนต้องเก็บที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส
- ผลข้างเคียงจาก “วัคซีนไฟเซอร์”
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ ได้เผยแพร่เกี่ยวกับผลข้างเคียงทั่วไปที่เกิดขึ้นกับชาวอเมริกันหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ และของบริษัทโมเดอร์นา โดยได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในเดือนแรกระหว่างวันที่ 14 ธ.ค. 2563-13 ม.ค. 2564 ซึ่งมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วมากกว่า 13.7 ล้านโดส
ระบบรายงานผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากวัคซีน (VAERS) ของ CDC ระบุว่า ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ที่พบหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้แก่ อาการปวดศีรษะ, อ่อนเพลีย, วิงเวียน ตามมาด้วยอาการหนาวสั่นและคลื่นไส้ นอกจากนี้ ผู้ฉีดวัคซีนยังรายงานถึง อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, มีไข้, ปวดตามข้อ และปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน
สำหรับวัคซีนของไฟเซอร์นั้น พบผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 มากกว่าจากการฉีดโดสแรก และ CDC ระบุว่า อัตราของการมีไข้และหนาวสั่นนั้นพบหลังจากฉีดวัคซีนโดสที่ 2 มากกว่าโดสแรกถึง 4 เท่า
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2564 มีรายงานผลการติดตามการฉีดวัคซีนเบื้องต้นพบว่า 86.1% ตั้งครรภ์จนคลอดเป็นทารก (ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนในไตรมาสที่ 3) ในจำนวนนี้คลอดก่อนกำหนด 9.4% ส่วนอัตราการแท้งไม่แตกต่างจากช่วงก่อนที่จะมีการระบาด คณะกรรมการที่รับผิดชอบด้านวัคซีนจึงแนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนเหมือนคนทั่วไป
- การนำ “วัคซีนไฟเซอร์” มาใช้ในไทย
ขณะนี้ “วัคซีนไฟเซอร์” ยังไม่ได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่าที่ผ่านมาไฟเซอร์ได้เข้ามานำเสนอข้อมูลผลการวิจัยในระยะต่างๆ รวมถึงผลการใช้จริงในต่างประเทศให้แก่ "สถาบันวัคซีนแห่งชาติ"และกรมควบคุมโรคเป็นระยะไม่เคยมีการปฏิเสธการเข้าพบ ซึ่งเดิมวัคซีนของไฟเซอร์ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส และเก็บใน2-8องศาฯได้เพียง 5 วัน ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกกับประเทศไทยในการจัดเก็บและขนส่ง เนื่องจากมีสถานที่จัดเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาฯจำนวนน้อย การจะนำวัคซีนมาใช้ในวงกว้างเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ต่อมามีผล การศึกษาเพิ่มเติมของบริษัทแสดงให้เห็นว่าการจัดเก็บและการขนส่งวัคซีนทำได้สะดวกขึ้นและมีข้อมูลสนับสนุนว่าวัคซีนสามารถใช้ได้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปรวมทั้งเงื่อนไขที่บริษัทสามารถส่งวัคซีนให้ใช้ได้ภายในปี 2564 จึงมีการเจรจาต่อเนื่อง เพื่อจองซื้อ "วัคซีนไฟเซอร์" โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมประชากรในกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา
"การจองซื้อวัคซีนไฟเซอร์ของประเทศไทย เพื่อนำมาใช้ปิดช่องว่างฉีดให้กับเด็กกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีแนวโน้มระบาดเป็นกลุ่ม เนื่องจากขณะนี้เป็นวัคซีนตัวเดียวที่มีผลการศึกษาในกลุ่มอายุดังกล่าว ขณะที่ตัวอื่นมีข้อจำกัดให้ใช้ในอายุ 18 ปีขึ้นไป จึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศทำให้มีการจองซื้อ และหากได้จำนวนมากก็จะฉีดให้กลุ่มประชากรอื่นด้วย"นพ.นครกล่าว