กนอ.เตรียมแผนปูพรมวัคซีน เอกชนร่วมลงขัน 5 แสนคน

กนอ.เตรียมแผนปูพรมวัคซีน  เอกชนร่วมลงขัน 5 แสนคน

พื้นที่เศรษฐกิจมีหลายความหมายและหนึ่งในพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความสำคัญลำดับต้นๆคือ“นิคมอุตสาหกรรม”เพราะเป็นโรงงานแห่งภาคเศรษฐกิจที่หากป่วยภาคการผลิตของระบบเศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบทันที ดังนั้น การฉีดวัคซีนให้กลุ่มนิคมฯจึงเป็นแผนที่ต้องให้ความสำคัญ

ข้อมูลจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 5 พ.ค.2564 ที่ผ่านมาระบุถึงแผนการฉีดวัคซีนให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย 100,000,000 โดส ความครอบคลุมของวัคซีน 70% ของประชากรไทย ภายในปี 2564 (เดือนพ.ค.-ธ.ค. 2564) ขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดหาวัคซีนแล้ว 63,000,000 โดส จึงต้องจัดหา จัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เพิ่มเติม

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมตลอดจนโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ให้เร่งวางมาตรการป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 โดยเพิ่มการเฝ้าระวังและกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของไทย

โดยนิคมอุตสาหกรรมถือได้ว่าเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นแหล่งสร้างรายได้อันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งหากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวงกว้างจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับเศรษฐกิจของไทย และกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) สินค้าต่างๆ ไปทั่วโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)กล่าวว่า จากการสำรวจ พบว่า ในขณะนี้ (7 พ.ค.2564) พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ มีผู้ติดโควิด-19 ในระลอกเดือนเม.ย. 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 298 ราย รักษาหายแล้ว 12 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต และยังเหลือผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรักษาทั้งสิ้น 286 ราย ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรในสถานประกอบการ 282 ราย และพนักงานของ กนอ. 4 ราย

162065104510

สำหรับ นิคมฯในจังหวัดที่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)เพราะมีนิคมฯ อยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ จ.ระยอง 84 ราย ชลบุรี 41 ราย และฉะเชิงเทรา 27 ราย ส่วนนิคมฯ นอก อีอีซี ที่มีการติดเชื้อรุนแรงจะอยู่ในภาคกลาง ได้แก่ จ.กรุงเทพฯ 54 ราย สมุทรปราการ 29 ราย อยุธยา 18 ราย สระบุรี 5 ราย สมุทรสาคร 4 ราย พิจิตร 2 ราย นิคมฯในภาคเหนือ ได้แก่ จ.ลำพูน 21 รายและภาคใต้ที่ จ.สงขลา 1 ราย

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ถือได้ว่ายังไม่มีการระบาดรุนแรงในนิคมฯ ยังไม่มีโรงงานที่ต้องปิดดำเนินการเพราะโควิด-19 มีเพียงปิดสายการผลิตบางส่วนที่มีคนงานติดเชื้อ ยังคงมั่นใจว่าแต่ละนิคมฯ ยังคงรับมือกับการระบาดได้

“ในขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมทั้งประเทศ จำนวน 42 แห่ง มีนิคมฯ ที่ผู้ติดโควิด-19 แล้ว 25 แห่ง และอีก 17แห่งยังไม่พยผู้ติดเชื้อ ดังนั้น กนอ. จึงต้องเร่งดำเนินมาตรการฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจนกระทบต่อภาคการผลิตของประเทศ ซึ่งทาง กนอ. ได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามมาตรการต่างๆที่ออกมาก่อนหน้านี้ เพื่อลดการติดเชื้อภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด โดยเป้าหมายสุดท้าย คือ ให้ตัวเลขการติดเชื้อเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด”

ทั้งนี้วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้หลุดพ้นจากวิกฤตโควิด -19 ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นมีบุคลากรในโรงงานและเจ้าหน้าที่ของ กนอ. ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ประมาณ 1 ล้านคนที่ในจำนวนนี้มีโรงงานที่ต้องการวัคซีนอย่างเร่งด่วนและพร้อมที่จะออกค่าใช้จ่ายในการฉีดรายละ 1,000 บาทเอง มีจำนวนบุคลากรในกลุ่มนี้ ประมาณ 5 แสนคน อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทราบว่ารัฐบาลได้มีการนำเข้าวัคซีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น กนอ.จะขออาสาทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานเพื่อให้ได้วัคซีนจากภาครัฐมาโดยเร็ว

“การได้รับวัคซีนสำหรับคนที่ทำงานในนิคมฯต่างๆ โดยเร็ว จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคการผลิต ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากอยากได้วัคซีนไปฉีดให้กับแรงงาน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะหากเกิดการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมแล้วจะเกิดผลกระทบต่อกระบวนการผลิต จนเกิดความเสียหายต่อธุรกิจอย่างรุนแรงได้ จึงพร้อมที่จะจ่ายค่าวัคซีนเอง เพื่อให้ได้รับวัคซีนเร็วที่สุด”

นอกจากนี้ กนอ.จะร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเร่งหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ในการจัดหาวัคซีนให้กับบุคลากรในทุกช่องทาง ที่สำคัญคือ ได้มีการหารือกับ ส.อ.ท.และเห็นตรงกันว่าจะร่วมกันอำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยได้เสนอให้ใช้พื้นที่ของ กนอ. ที่มีอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ซึ่งโดยศักยภาพของ กนอ.แล้วมีความพร้อมทั้งด้านพื้นที่และบุคลากร สามารถจัดสถานที่ฉีดวัคซีนให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยสามารถเตรียมการฉีดวัคซีนได้ทันที

“ขณะนี้ กนอ. ได้หารือร่วมกับ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และจังหวัด ในการจัดหาวัคซีน และการตั้งจุดฉีดวัคซีนในนิคมฯคาดว่าจะใช้เวลาเตรียมการ 1 เดือน ซึ่งในแต่ละจุดจะฉีดได้ต่ำกว่า 2 พันคนต่อวัน ซึ่งหากตั้งจุดฉีดวัคซีนนิคมละ 1 แห่ง ทั้ง 42 นิคมฯ ก็จะมียอดการฉีดวัคซันเกือบ 1 แสนคนต่อวันซึ่ง กนอ. มั่นใจว่าจะทำได้มากกว่านี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระจายการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในนิคมฯ และชุมชนโดยรอบได้มาก”