สงครามวัคซีนต้านโควิด-19

ส่องสงครามวัคซีนต้านโควิด-19 ที่วันนี้วัคซีนนับเป็นความหวังของการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อประเทศที่ไม่ใช่ผู้ผลิตต้องการวัคซีนสนองความต้องการในการฉีดวัคซีน ขณะที่ประเทศที่ผลิตก็ต้องการเก็บวัคซีนไว้ใช้ในประเทศของตน

โควิด-19 ที่เริ่มระบาดตอนปลายปี 2562 ต่อต้นปี 2563 ถึงบัดนี้ระบาดไปทั่วโลก ความหวังในการยับยั้งป้องกันการระบาดขึ้นอยู่กับวัคซีนที่ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ในหลายประเทศได้ศึกษาทดลอง และได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ใช้ได้เป็นการเร่งด่วนในภาวะฉุกเฉิน

อันเนื่องจากโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ทั้งพันธุ์เก่าและที่กลายพันธุ์ การวิจัยศึกษาพัฒนาวัคซีนเพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อไม่นานนี้เอง โรงงานที่ผลิตและกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะยี่ห้อไหนไม่อาจสนองปริมาณตามความต้องการใช้วัคซีนทั่วโลก จึงเกิดการแย่งและกีดกันวัคซีนขึ้น คือประเทศที่ไม่ใช่ผู้ผลิตก็ต้องการวัคซีนสนองความต้องการในการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างความคุ้มกันหมู่ให้กับพลเมืองของตน ประเทศที่ผลิตก็ต้องการเก็บวัคซีนไว้ใช้ในประเทศของตน เกิดการแย่งกลายเป็น “สงครามวัคซีน"

  • กรณีสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร

กรณีนี้เริ่มต้นมาจากช่วงต้นเดือน ม.ค.2564 สหภาพยุโรปประสบปัญหาเรื่องความล่าช้าในกระบวนการฉีดวัคซีนให้ประชากรในชาติสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ ประเด็นข้อพิพาทแย่งวัคซีนจนเป็นสงครามวัคซีนระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักร บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ผู้ผลิตเวชภัณฑ์รายใหญ่ระดับโลกของสหราชอาณาจักร แจ้งต่อสหภาพยุโรปเมื่อปลายเดือน ม.ค.2564 ว่าจากเดิมที่แอสตร้าเซนเนก้าและสหภาพยุโรปตกลงเรื่องการจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 80 ล้านโดส ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ อาจลดลงเหลือเพียง 31 ล้านโดสเท่านั้น

ในเวลาต่อมาสหภาพยุโรปได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในสหภาพยุโรปไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก จนสื่อมวลชนเรียกว่าเป็นสงครามวัคซีนระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ถึงแม้ต่อมาทั้งสองฝ่ายมีทีท่าอ่อนลงก็ตาม

  • กรณีอินเดีย

อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนและส่งออกวัคซีนรายใหญ่ของโลก สำหรับวัคซีนต้านโควิดที่อินเดียส่งออกส่วนใหญ่เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีราคาไม่สูงที่ส่งให้ประเทศกำลังพัฒนาและเป็นผู้ป้อนวัคซีนให้กับโครงการโคแวกซ์ ที่จัดหาวัคซีนให้ประเทศยากจนที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก และเนื่องจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา อินเดียเผชิญกับการระบาดที่รุนแรง มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นหลักแสนในแต่ละวัน ทางอินเดียจึงจำเป็นต้องระงับการส่งออกวัคซีนไว้ชั่วคราว เพื่อสงวนไว้ใช้ในประเทศเพื่อรับมือกับการระบาดที่รุนแรงขึ้น 

นอกจากการระบาดในอินเดียที่รุนแรงขึ้น อินเดียยังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ สารตั้งต้น และส่วนประกอบในการผลิตวัคซีนที่ต้องนำเข้าจากสหรัฐ เพราะสหรัฐควบคุมการส่งออกวัตถุดิบดังกล่าว จนผู้บริหารหน่วยงานที่ผลิตวัคซีนของอินเดียต้องออกมาเรียกร้องให้สหรัฐปล่อยให้สามารถส่งออกวัตถุดิบดังกล่าวได้ เพื่อให้สามารถผลิตวัคซีน ในอันที่จะช่วยโลกในการยับยั้งการระบาดของโควิด-19

จากการที่อินเดียระงับการส่งออกวัคซีนไว้ชั่วคราวดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อประเทศที่ต้องพึ่งพาวัคซีนจากอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่ยากจน

  • กรณีฝรั่งเศสและสหรัฐ

ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส นายเอ็มมานูเอล มาครง เรียกร้องให้สหรัฐยกเลิกข้อจำกัด การส่งออกวัคซีนและส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตวัคซีน และให้ปล่อยวัคซีนส่วนเกินที่ตุนไว้ออกมาบ้าง โดยทางสหรัฐได้ให้คำมั่นว่าจะบริจาควัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ตุนไว้ 60 ล้านโดสในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า สหราชอาณาจักรได้กำหนดมาตรการในการควบคุมการส่งออกวัคซีน แม้ทางการสหราชอาณาจักรจะปฏิเสธ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการส่งออกวัคซีนจากสหราชอาณาจักรเลย

สหรัฐใช้กฎหมายที่ใช้ในยามสงครามควบคุมวัคซีนและส่วนประกอบ

กรณีการควบคุมการส่งออกวัคซีนและส่วนประกอบของสหรัฐนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกแต่อย่างใด แต่สหรัฐอาศัยอำนาจในภาวะสงครามตามกฎหมาย Defense Production Act 1950 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารบังคับเอกชนให้ปฏิบัติตามสัญญาในการจัดหาหรือส่งมอบผลิตภัณฑ์ตามที่กำหนดให้รัฐก่อนคู่สัญญาอื่น แม้จะไม่ประกาศควบคุมการส่งออก แต่เมื่อต้องจัดหาวัคซีนและส่วนผสมให้รัฐก่อนก็ส่งออกไม่ได้อยู่ดี

กรณีของประเทศไทยสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรกส่งมาถึงไทยแล้วเมื่อเดือน ก.พ.2564 ขณะเดียวกันมหามิตรจีนก็ได้ทยอยส่งวัคซีนซิโนแวค ที่จีนผลิตเองมาหลายล็อตแล้ว นอกจากนี้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ในประเทศไทย ก็ผ่านขั้นตอนได้รับอนุมัติจากหน่วยงานในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข และผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพจากห้องปฏิบัติการของแอสตร้าเซนเนก้าในยุโรปและสหรัฐเรียบร้อยแล้ว 

แอสตร้าเซนเนก้าจะส่งมอบวัคซีนที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ล็อตแรกให้ไทยในเดือน พ.ค.นี้ และรัฐบาลยังได้เจรจาขอซื้อวัคซีนจากรัสเซียและผู้ผลิตบางรายในสหรัฐให้พอเพียงสำหรับฉีดให้ประชาชนให้ครบเกณฑ์ที่จะเกิดภูมิต้านทานหมู่ทั้งประเทศ จึงสรุปได้ว่าไทยไม่มีปัญหาสงครามวัคซีนกับประเทศใด

  • ไทยเผชิญสงครามก่อการร้ายวัคซีน

แม้ไทยไม่มีปัญหาสงครามวัคซีนกับประเทศใด แต่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสงครามก่อการร้ายทำลายความเชื่อมั่นวัคซีนโดยคนไทยบางกลุ่ม ด้วยการปล่อยข่าวปลอม ด้อยค่าวัคซีนซิโนแวคจากจีน ปล่อยข่าวให้ร้ายสยามไบโอไซเอนซ์ต่างๆ นานา ปล่อยข่าวลือสร้างข่าวปลอม ผลร้ายของการฉีดวัคซีนว่ามีผลข้างเคียงเกินความจริง ส่งข่าวปลอมว่ามีคนตายจากการฉีดวัคซีน ซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้เกิดความลังเลในหมู่ประชาชนในการฉีดวัคซีน

ข้อสรุป ในยามที่วัคซีนยังมีการผลิตได้ไม่พอเพียงแต่มีความจำเป็นต้องใช้ จะเห็นได้ว่าทุกประเทศต่างก็ใช้มาตรการเพื่อประโยชน์ของประเทศตนก่อน ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ก่อตั้งสยามไบโอไซเอนซ์ขึ้น แม้ในชั้นนี้จะดำเนินการเพียงรับจ้างผลิตวัคซีนให้แอสตร้าเซนเนก้า แต่ก็จะได้รับประสบการณ์ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแม้จะเป็นขั้นพื้นฐาน ซึ่งสามารถต่อยอดต่อไปได้ เป็นการเพิ่มความมั่นคงด้านเวชภัณฑ์สาธารณสุข ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

ต่อไปในอนาคต สยามไบโอไซเอนซ์คงจะเป็นโรงงานผลิตวัคซีนที่ไทยศึกษาพัฒนาขึ้นเอง หรือวัคซีนที่มีสิทธิบัตรของต่างประเทศหากข้อเรียกร้องในการผ่อนคลายข้อกำหนดในการผลิตวัคซีนที่มีสิทธิบัตรประสบความสำเร็จ และหากจำเป็นก็สามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิบัตรผลิตก็ได้