คุณภาพชีวิต-สังคม
ส่อง 4 อันดับ'โควิด 19' สายพันธุ์ไหน ดื้อต่อวัคซีน
จากรายงานพบเชื้อโควิด สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ในกลุ่มผู้ป่วย 3 ราย อ.ตากใบ จ.นราธิวาส สร้างความกังวลต่อความความรุนแรง และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะหากเทียบกันทั้ง 4 สายพันธุ์ เกิดคำถามว่า สายพันธุ์ไหน ดื้อวัคซีนมากที่สุด
หลังจากกลุ่มนักวิจัยนักวิชาการ COVID-19 Network Investigations หรือ CONI เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ด้วยข้อมูลระดับจีโนม ได้เผยแพร่รายงานสำหรับประชาคมวิทยาศาสตร์ เรื่อง การระบาดในประเทศของเชื้อ สายตระกูล B.1.351 (20H/501Y.V2) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา จากการสืบสวนคลัสเตอร์ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยได้รับข้อมูลว่าอาจเป็นคลัสเตอร์ติดเชื้อต่อเนื่องในประเทศไทย จากผู้ลักลอบเข้าเมือง
เกิดคำถามเกี่ยวกับ ความรุนแรง การระบาด และประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน จะสามารถสู้กับโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่อย่าง "สายพันธุ์แอฟริกาใต้" ได้หรือไม่ และหากเทียบกันระหว่าง สายพันธุ์อังกฤษ ที่ระบาดในไทยระลอกใหม่นี้ กับ สายพันธุ์อินเดีย ที่พบในแคมป์ก่อสร้างหลักสี่ และสายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์ใด ที่มีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนมากที่สุด ?
- สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ใกล้ชายแดน
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 "ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร" หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “มานพ พิทักษ์ภากร” ระบุว่า มีข่าวว่า B.1.351 (South African variant) มาเยือนเมืองไทยแล้ว สายพันธุ์นี้ป้วนเปี้ยนแถวชายแดนใต้มาเป็นเดือนเนื่องจากมีการระบาดในมาเลเซีย
ขออย่าให้เข้ามาระบาดถึงใจกลางเมืองหลวงแบบ B.1.617.2 (Indian variant) นะครับ เพราะวัคซีนที่ได้ผลกับสายพันธุ์นี้มีแค่ Pfizer (และอาจรวมถึง Moderna ด้วย) ที่ 75%, J&J ที่ 64-66% และ Novavax ที่ 60.1% (สำหรับ non-HIV) ส่วน AstraZeneca เหลือแค่ 10.4% สำหรับ Sinovac ถ้าเทียบระดับ antibody ที่ขึ้นหลังฉีดแล้วคาดว่าคงแทบไม่ได้ผลเช่นกัน
อาจถึงเวลาที่ภาครัฐจะต้องเปลี่ยนนโยบาย เร่งนำเข้า Pfizer, Moderna และ J&J vaccine มาให้เพียงพอและครอบคลุมประชากรครับ ถ้าปล่อยให้ B.1.351 ระบาดนี่อาจดูไม่จืดเลย
- "สายพันธุ์แอฟริกาใต้" ยืนหนึ่ง ดื้อวัคซีน
สาเหตุหลักที่ทำให้ B.1.351 ดื้อต่อวัคซีนและ antibody มาก คือ การกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484 บน spike protein ที่เป็น E484K คือเปลี่ยนกรดอะมิโนจาก glutamate ไปเป็น lysine มีผลทำให้ antibody จับกับ spike protein ได้ยาก นอกจากนี้การกลายพันธุ์ในตำแหน่งอื่นที่สำคัญคือ N501Y ที่เหมือนกับสายพันธุ์ UK ทำให้เชื้อจับกับตัวรับบนผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น แถมยังเจอ K417N ซึ่งทำให้เชื้อจับกับเซลล์ได้ดีขึ้นด้วย
ในปัจจุบัน "สายพันธุ์แอฟริกาใต้" B.1.351 เป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีนและ antibody ที่สุด รองลงมาคือ P.1 หรือ "สายพันธุ์บราซิล" ซึ่งมี E484K เช่นกัน ส่วน "สายพันธุ์อินเดีย" ที่ก่อนหน้านี้ระบาดคือ B.1.617.1 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งเดียวกันแต่เป็น E484Q ทำให้ดื้อบ้างแต่ไม่เท่ากับ B.1.351 แต่สายพันธุ์อินเดียที่ระบาดหนักในขณะนี้ และเพิ่งพบในบ้านเราคือ B.1.617.2 ไม่พบ E484Q ซึ่งคาดว่าสายพันธุ์นี้ไม่น่าจะดื้อต่อวัคซีน
- "สายพันธุ์อังกฤษ" ระดับอนุบาล
ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า จากสายพันธุ์ ที่ทั่วโลกมีการจับตาอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ พบว่า "สายพันธุ์แอฟริกาใต้" นั้น เป็นสายพันธุ์เจ้าพ่อเบอร์ 1
ส่วน "สายพันธุ์อังกฤษ" ที่ระบาดในไทยตอนนี้นับว่า เด็กอนุบาล เพราะสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้น มีความสามารถในการแพร่กระจายโรคได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการรุนแรง และผลจากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า สายพันธุ์ดังกล่าวดื้อต่อวัคซีนแทบทุกชนิด