สธ.เผย 'วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า' ล็อตแรกส่งมอบตามสัญญา มิ.ย.
สธ.แจงเหตุรพ.บางแห่งเลื่อนฉีด "วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า" เข็ม 2 ย้ำแผนฉีดหลักทั่วประเทศมิ.ย.-ก.ย.เป็นการฉีดเข็มที่ 1 ทั้งหมด ระบุข้อมูลวิชาการสนับสนุน เผย "วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า" ส่งมอบตามสัญญาล็อตแรกในมิ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีรพ.บางแห่งสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียว่ารพ.ขอเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ออกไปก่อนว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีการเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องมีการปรับแผนกระจายวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ฉีดแก่ประชาชนมากขึ้นและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดนตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564เป็นต้นไป จะเป็นการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 หลังจากนั้นเข็มที่ 2 ก็จะเป็นเดือน ต.ค. 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 สามารถห่างกันได้ 16 สัปดาห์ จากเดิม10-12 สัปดาห์ มีข้อมูลวิชาการรองรับ ว่า ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงและขึ้นได้เร็ว จึงได้มีการเลื่อนการฉีดเข็มที่ 2 ของคนที่รับเข็มที่ 1 แล้วออกไป
"บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเข้าใจในแผนการกระจายจัดการวัคซีนของไทย และหารือกันแล้วว่าต้องจัดส่งให้ได้ตามแผน จึงไม่มีปัญหาอะไร โดยที่คุยไว้จะต้องส่งมาเดือน มิ.ย.2564 ซึ่งล็อตที่ผลิตมาก่อน ก็อยากจะขอเข้ามาก่อน แต่เขาก็มีกระบวนการของเขา คาดว่ามิ.ย.ก็จะได้ตามแผน แต่ปัจจุบันไทยก็มีวัคซีนซิโนแวคอยู่ ขณะนี้ตรวจสอบล็อตการผลิตอยู่ประมาณ 2.5 ล้านโดส และเดือน มิ.ย.จะสั่งอีก 3 ล้านโดสเป็นอย่างน้อย"นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ศบค.จะมีการประชุมหารือก่อนแถลง เบื้องต้นการจัดสรรวัคซีนจะคำนึงถึง 4 ปัจจัย คือ 1.จำนวนวัคซีนที่มีเข้ามาในแต่ละช่วงเวลา 2.จำนวนประชากรของจังหวัดนั้นๆ 3. สถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน และ4.กลุ่มเป้าหมาย เช่น ครู แรงงาน ซึ่งการจัดสรรต้องคำนึงถึงสถานการณ์การระบาดเพื่อควบคุมโรค ทั้งนี้แผนการฉีดวัคซีนปูพรมทั่วประเทศจะเริ่มในเดือนมิถุนายนเป็นหลัก ที่มีวัคซีนของแอสตราเซเนก้าเข้ามาตามสัญญาการส่งมอบ ส่วนที่มีการฉีดในเดือนมีนาคม เมษายน และ พฤษภาคม เป็นวัคซีนเสริมจากแผนหลัก คือ วัคซีนซิโนแวค ที่เข้ามามีรวม 6 ล้านโดส และ ตรวจสอบล็อตการผลิตแล้ว 4 ล้านโดสกระจายฉีดไปแล้ว
"ไม่อยากให้ประชาชนกังวลเรื่องของวัคซีนตอบสนองกับเชื้อไวรัสโควิดที่มีการสายพันธุ์ เพราะประสิทธิภาพของวัคซีนยังให้ผลดีทั้งลดอัตราการเสียชีวิต และความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตาม มาตรการอนามัยส่วนบุคคล ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างยังป้องกันได้ทุกสายพันธุ์"นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ส่วนสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในอ.ตากใบ จ.นราธิวาส หลังจากพบคนป่วยติดเชื้อและสุ่มตรวจพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 คน นั้น ไม่จำเป็นต้องมีการสุ่มตรวจเชื้อเพิ่มว่าการติดเชื้อเป็นสายพันธุ์ไหนอีก เพียงแต่ต้องมองไปข้างหน้า เน้นการตรวจหาเชื้อในชุมชนโดยรอบพื้นที่ ค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อว่ามีหรือไม่ ทั้งนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อที่พบในพื้นที่อ.ตากใบ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง