'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' นำเข้า 'Sinopharm' 1 ล้านโดส มิ.ย.

'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' นำเข้า 'Sinopharm' 1 ล้านโดส มิ.ย.

"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" กระทรวงสาธารณสุข และ อย.ผสานความร่วมมือนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" ที่ WHO และ อย.ให้การรับรอง 1 ล้านโดส มิ.ย.นี้ จัดสรรหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจจะจัดซื้อพร้อมประกันวัคซีน กำหนดราคาขายราคาเดียวกันทั่วประเทศ

วันนี้ (28 พฤษภาคม 2564) 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวบูรณาการความร่วมมือนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" (Sinopharm) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และพลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้อง CAT Auditorium อาคารสโมสร ชั้น 2 อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 และขึ้นตรงกับท่านนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ เพื่อให้การควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยก่อนหน้านี้ 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลประเทศไทยในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุดซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

สำหรับความร่วมมือการนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก 'ซิโนฟาร์ม' ระหว่าง 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือเพื่อให้การกระจายวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างทั่วถึง โดย ณ ขณะนี้วัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' ซึ่งเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การรับรองแล้ว

และบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้ยื่นเอกสารครบถ้วนและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติ ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะสามารถดำเนินการนำเข้าและบริหารจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มโดยหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการกระจายวัคซีนให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจจะจัดซื้อพร้อมประกันวัคซีน ซึ่งจะมีการกำหนดราคาขายราคาเดียวกันทั่วประเทศต่อไป

วัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' (Sinopharm) มีชื่อทางการว่า “BBIBP-CorV” เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เช่นเดียวกับ ซิโนแวค และ โควาซิน เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สามารถฉีดได้ตั้งแต่กลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุโดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำกัดเรื่องอายุ ‘ซิโนฟาร์ม’ ถูกนำมาใช้กว่า 65 ล้านโดส ในประเทศจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน ฮังการี และเป็นวัคซีนชนิดแรกที่พัฒนาโดยประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตก ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจาก WHO เป็นรายที่ 6

โดย “ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส” ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพ 79% สำหรับกลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จัดเก็บง่าย ไม่ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมากเหมือนวัคซีนอื่น นอกจากนี้ ยังมีแถบตรวจสอบบนขวดซึ่งเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิความร้อน จึงสังเกตได้ง่ายว่าวัคซีนปลอดภัยและใช้งานได้หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนของภารกิจการจัดหาวัคซีนทางเลือกในสถานการณ์การแพร่ระบาดฉุกเฉินนี้ อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไม่ได้มีการเพิ่มอำนาจจนเกินกว่ากฎหมายเดิมแต่อย่างใด และการผลิตนำเข้ารวมทั้งการให้อนุญาตเรื่องเวชภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินนี้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือ ผู้ยากไร้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ

โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และเมื่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอ ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็จะค่อยๆ ลดบทบาทในการจัดสรรปริมาณวัคซีนตัวเลือกนี้ลง เช่นเดียวกับ ยา และเวชภัณฑ์อื่นๆที่สามารถผลิตได้ในประเทศเช่นกัน

อนึ่ง สำหรับความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับกระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการนำเข้าวัคซีนทางเลือก 'ซิโนฟาร์ม' เป็นการทำงานคู่ขนานกันเพื่อช่วยเหลือให้การกระจายวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง สร้างมาตรฐานความปลอดภัย และเพิ่มขีดความสามารถที่จะช่วยเหลือให้ประชาชนทุกระดับได้กลับไปดำเนินชีวิตวิถีใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

วันเดียวกัน นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า อย.ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนของซิโนฟาร์ม นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด เป็นวัคซีนโควิด-19 รายการที่ 5 ของไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการขึ้นทะเบียนแบบใช้ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งวัคซีนซิโนฟาร์มผลิตขึ้นโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (Beijing Institute of Biological Product Co.LTD) เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต “ชนิดเชื้อตาย” โดยการฉีดจะกำหนดให้ใช้ 2 เข็มในระยะห่างกัน 21-28 วัน โดยวัคซีนนี้ได้รับการรับรองให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลก (WHO EUL) แล้ว

สำหรับการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในไทยนั้น มุ่งเน้นเพื่อให้ได้วัคซีนที่ปลอดภัย มีคุณภาพ และมีประสิทธิผลให้คนไทยได้ใช้ ซึ่งการขึ้นทะเบียนจะเป็นแบบใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยขั้นตอนในการนำเข้า ผู้นำเข้าต้องยื่นคำขอใบอนุญาตสถานประกอบการด้านยา เพื่อเป็นผู้รับอนุญาตนำเข้า พร้อมยื่นคำขอหนังสือรับรองมาตรฐานสถานที่ผลิตยา ซึ่งเป็นหนังสือรับรองมาตรฐานสถานที่ผลิตยาในต่างประเทศ (PIC/s หรือเทียบเท่า)

ทั้งนี้ อย.จะตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารเพื่อนำมาประเมินด้านคุณภาพ ด้านความปลอดภัย ด้านประสิทธิผล และแผนการจัดการความเสี่ยงของวัคซีน เมื่อเอกสารครบถ้วนจะนำสู่ขั้นตอนกระบวนการพิจารณาโดยมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภายในและภายนอก เพื่ออนุมัติทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ให้สามารถใช้ในภาวะฉุกเฉิน และ อย. ขอยืนยันไม่ปิดกั้นภาคเอกชนในการยื่นขอขึ้นทะเบียนแต่อย่างใด

เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมกรณีที่ปรากฎตามข่าวว่ามีบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด จะนำเสนอวัคซีนซิโนฟาร์ม 20 ล้านโดส ให้แก่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นั้น อย. ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า บริษัทเอกชนที่ปรากฏตามข่าวไม่ได้เป็นผู้รับอนุญาตนำเข้ายา และไม่เคยมายื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับ อย. ซึ่งตามหลักการที่จะนำวัคซีนเข้ามาในประเทศไทยต้องเป็นผู้ที่รับอนุญาตนำเข้า และต้องมาขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับ อย. ก่อน จึงจะนำเข้าวัคซีนมาในประเทศไทยได้ กรณีวัคซีนซิโนฟาร์ม ณ  ขณะนี้ทาง อย. ได้อนุมัติทะเบียนให้กับบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์มอย่างถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ส่องวัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' ที่ 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' เตรียมนำเข้าไทยเร็ว ๆ นี้