10 คำตอบถอดรหัส’ไวรัสกลายพันธุ์’ เช็คประสิทธิภาพ‘วัคซีน’ตัวไหนเอาไม่อยู่
“วัคซีน”ตัวไหนจัดการกับ“ไวรัสโควิดกลายพันธุ์”ไม่ได้บ้าง และการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา มีคำตอบ โดยเฉพาะเรื่อง "ประสิทธิภาพของวัคซีน"
ทุกครั้งที่พูดคุย ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นักวิทยาศาสตร์คนนี้ย้ำเสมอว่า “ไวรัสโควิดไม่มีทางหายไปจากโลกนี้ แต่จะกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ”
ล่าสุดมีข่าวที่ทำให้คนไทยเกิดความสับสน “ไวรัสโควิดสายพันธุ์ไทย” โผล่มาได้อย่างไร เรื่องนี้มีคำอธิบาย แต่ไม่น่ากลัวเท่าไวรัสสายพันธุ์อินเดีย (B.1617.2)ที่เริ่มแพร่ระบาดที่แคมป์คนงาน ซึ่งนักไวรัสวิทยากำลังถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อดูว่า ระบาดไปไกลแค่ไหน
และที่น่ากลัวกว่านั้น คือ สายพันธุ์อาฟริกาใต้ (B.1351) เป็นสายพันธุ์ที่หนีวัคซีนได้ แล้ววัคซีนแบบไหนจะมีประสิทธิภาพจัดการได้ และในอนาคตอาจมีโควิดสายพันธุ์ไทย ก็เป็นได้
แล้วยังเรื่องวัคซีนซิโนแวค ที่มีทั้งข้อดีและข้อด้อย มีงานวิจัยชิ้นเล็กๆ ที่พบว่า วัคซีนตัวนี้จัดการกับโควิดสายพันธุ์อาฟริกาใต้ได้ยากยิ่ง แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์อังกฤษ (ฺB.1.1.7)ก็ยังพอได้อยู่ ดังนั้นวัคซีนเข็มที่ 3 ของซิโนแวคสำหรับไวรัสกลายพันธุ์ ไม่ใช่เรื่องเกินจริง
อีกครั้งกับ 10 คำถามที่ชวนนักไวรัสวิทยาช่วยตอบ
1. ก่อนอื่นขอถามที่มาที่ไปข่าวโควิดสายพันธุ์ไทยสักนิด ?
มาจากผู้ช่วยนักบินชาวอียิปต์ที่บินมาเมืองไทย แล้วถูกกักตัว เอาเชื้อไปถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งเป็นปกติที่เราทำอยู่ เพื่อดูว่า มีใครเอาไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่นเข้ามาในไทยบ้าง ถอดรหัสพันธุกรรมแล้ว ไม่ได้กลายพันธุ์ ทางทีมกรมควบคุมโรคก็นำข้อมูลไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลที่แบ่งปันกันทั้งโลก ตอนนั้นในอังกฤษเจอเคสในผู้ป่วยกว่าร้อยคน พวกเขาจึงตรวจสอบรหัสพันธุกรรมที่กระจายในประชากร
จึงเอาไวรัสตัวนี้ไปสืบค้นในฐานข้อมูล เจอว่าประเทศไทยเคยถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิดของชาวอียิปต์เก็บไว้ เขาก็เลยเชื่อว่า ไวรัสโควิดตัวนี้อยู่ในประเทศไทย โดยยังไม่รู้ว่าเป็นคนไทยหรือต่างชาติ เพราะนักวิจัยอังกฤษพูดไม่หมด ทำให้คนแปลความว่า เป็นไวรัสสายพันธุ์ไทย สาเหตุที่ระบาดเพราะคนไทยเดินทางไปอังกฤษ ซึ่งไม่มีข้อมูลตรงนั้นเลย ไวรัสตัวนี้ไม่ได้อยู่ในไทยแล้ว ชาวอียิปต์คนนั้นรักษาหายแล้ว ไม่มีโอกาสกระจายเชื้อต่อ จริงๆ แล้วต้องบอกว่าเป็นไวรัสที่อยู่ในคลัสเตอร์ไทย อันนี้เป็นนิยามที่ถูกต้อง การอ้างแบบนั้นเป็นความหมายที่ผิด คนอังกฤษไม่สมควรพูด
2. ตอนนี้มีไวรัสโควิดสายพันธุ์ไทยไหม
จริงๆ แล้วมีในแคมป์คนงาน ถ้าเอามาถอดรหัสพันธุกรรมมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ต่างจากสายพันธุ์อังกฤษเดิมหรือสายพันธุ์อินเดียเดิม ก็สามารถเรียก สายพันธุ์ไทยได้ โดยนิยามเป็นไวรัสที่อยู่ในคลัสเตอร์ประเทศไทย เพราะมันไม่ต่างกันมาก ก็เลยไม่เรียกว่าสายพันธุ์ใหม่ แต่เรียกสายพันธุ์อินเดีย หรือสายพันธุ์อังกฤษ ที่อยู่ในประเทศไทย
ตราบใดที่ยังมีไวรัสอยู่ในประเทศไทย ในอนาคตโอกาสที่จะมีไวรัสสายพันธุ์ไทยก็เกิดขึ้นได้ ตอนนี้เคสผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์อินเดียในไทยมีน้อยกว่าอินเดีย ในอินเดียติดเชื้อเป็นแสนๆ เจอการกลายพันธุ์ไม่กี่ตัว ในอังกฤษเจอไวรัสสายพันธุ์อังกฤษตัวเดียว ในประเทศไทยโอกาสการกลายพันธุ์ของไวรัสยังมีน้อย แต่ไม่ใช่ไม่เกิด เราห้ามไวรัสไม่ได้
3.ไวรัสโควิดสายพันธุ์ไหนต้องระวังมากเป็นพิเศษ
มีสามตัวคือ 1.สายพันธุ์อังกฤษ จากคลัสเตอร์ทองหล่อ แพร่ระบาดไปทั่วเจอทุกวัน 2. สายพันธุ์อินเดีย B.1.617 ระบาดที่แคมป์คนงาน แล้วแพร่กระจายออกด้านนอก ยังถอดรหัสพันธุกรรมไม่ครบ เพื่อจะได้รู้แน่ๆ ว่า สายพันธุ์อินเดียแพร่กระจายออกไปนอกแคมป์ไกลแค่ไหน
เพราะสายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้ดีกว่าสายพันธุ์อังกฤษ อีกเดือนสองเดือน(มิถุนายน-กรกฎาคม 64) เราจะเห็นสายพันธุ์อินเดียมากขึ้นในประเทศไทย ถ้าเมื่อใดอยู่นอกแคมป์คนงาน แล้วควบคุมไม่อยู่ ผสมกับสายพันธุ์อังกฤษไปตามที่ต่างๆ วิธีการตรวจแบบ swab ก็แยกไม่ออกว่า อันไหนสายพันธุ์อังกฤษ หรืออันไหนสายพันธุ์อินเดีย
4.แล้วต้องตรวจอย่างไร
ส่งไปแล็บที่ถอดรหัสพันธุกรรม ในประเทศไทยมีไม่กี่แห่ง จึงได้ข้อมูลช้ากว่าในอังกฤษ ที่นั่นมีหลายแล็บ ทำแข่งกัน รู้ผลค่อนข้างไว ปลายเดือนมิถุนายน เราจะรู้สายพันธุ์อินเดียที่แพร่ระบาดในเดือนพฤษภาคมเป็นอย่างไร
สายพันธุ์อินเดียมีความสามารถในการก่อโรค ไม่ต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ แพร่เชื้อไวทั้งสองสายพันธุ์ โควิดสายพันธุ์ที่จ.สมุทรสาคร มีผู้ป่วยไม่เยอะเหมือนสองสายพันธุ์นี้ แม้จะป้องกันด้วยหน้ากากอนามัย ก็ยังแพร่กระจายได้เร็วและง่าย ถ้าคนไทยไม่ใส่หน้ากากอนามัยคงติดวันละหมื่นกว่า
5.การกลายพันธ์แบบไหนน่ากลัวที่สุด
เมื่อใดที่สายพันธุ์อินเดียหรือสายพันธุ์อังกฤษแพร่เร็วจากติดเชื้อวันละสองสามพัน เป็นวันละห้าพัน ถ้าเป็นแบบนี้อาจมีสายพันธุ์ไทยเกิดขึ้นจริงๆ คือเ ป็นไวรัสตัวเดิม แต่มีคุณสมบัติต่างอย่างชัดเจนจากไวรัสที่เห็นในวันนี้ อาจมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นจริงๆ ตอนนี้ยังไม่เกิดการกลายพันธุ์(ปลายเดือนพฤษภาคม 64)
หรือเมื่อใดที่คนไทยฉีดวัคซีน 5-10 % ของจำนวนประชากร แล้วเจอว่า ยังป่วยเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น ทั้งๆ ที่มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน อาจอนุมานได้ว่า มีการกลายพันธุ์บางอย่างในไวรัสที่อยู่ในประเทศไทย มันเปลี่ยนแปลงตัวเองจนหนีวัคซีนได้
6. ปัญหาสายพันธุ์อินเดียคือเรื่องใด
สายพันธุ์อินเดียแพร่กระจายเร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษอย่างน้อย 20 % ถ้าเป็นข้อมูลทางอังกฤษประมาณ 30-40 % ประชากรที่ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียเยอะขึ้นคือ กลุ่มเด็กและเยาวชน 4-20 ปี ส่วนคนสูงวัยในอังกฤษได้รับวัคซีนแล้ว ติดไวรัสสายพันธุ์อินเดียไม่เยอะ
ไวรัสสายพันธุ์อังกฤษและอินเดียจะระบาดในกลุ่มเด็กเยอะขึ้น ถ้าในเมืองไทยมีสายพันธุ์อินเดียเยอะๆ เด็กๆ จะป่วยเยอะขึ้น และเมื่อใดโรงเรียนเปิด แล้วสายพันธุ์อินเดียแพร่กระจาย เราจะเจอเคสในเด็กสูงขึ้น เพราะวัคซีนสำหรับเด็กยังไม่มา
ส่วนสายพันธุ์ที่ 3 อาฟริกาใต้เจอที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส หนีภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นอย่างมีนัยยะ ถ้าสายพันธุ์นี้ติดเข้าไปในร่างกายเรา แล้วภูมิคุ้มกันไม่ดี ถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ก่อให้เกิดการติดเชื้อและอาการของโรคได้ ขณะที่สายพันธุ์อินเดียและอังกฤษ หนีภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดีนัก แต่สายพันธุ์อาฟริกาใต้ ถ้าภูมิคุ้มกันไม่ดีมีโอกาสติดเชื้อได้
7. ถ้าอย่างนั้น"วัคซีนตัวไหนมีประสิทธิภาพ"จัดการกับไวรัสโควิดสายพันธุ์อาฟริกาใต้ไม่ได้บ้าง
ผลที่เก็บทดลองในแล็บ ถ้าเป็นวัคซีนซิโนแวคสร้างภูมิคุ้มกันได้แค่ 20 % สำหรับสายพันธุ์อาฟริกาใต้ สายพันธุ์นี้หนีภูมิคุ้มกันได้ แต่แพร่กระจายช้ากว่าสายพันธุ์อินเดียและอังกฤษ แพร่จากคนหนึ่งไปสู่อีกคน เราเคยทดลองเอาน้ำเหลืองจากคนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคสองเข็มมาตรวจ แต่ยังไม่รับรองว่ามีประสิทธิผล 20 % จริงๆ หรือเปล่า
วัคซีนซิโนแวคทำจากเชื้อตายของไวรัสตัวนี้ ถ้าเพาะเลี้ยงในเซลล์นานๆ ผมก็ไม่แน่ใจว่า1.ไวรัสอาจจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง มีสภาพไม่เหมือนไวรัสในธรรมชาติ ก็อาจเป็นไปได้2. วัคซีนตัวนี้ใช้ไวรัสมาทำให้ตายโดยใช้สารเคมี ซึ่งสารเคมีแบบนี้มีคนเคยชี้ประเด็นว่า มันทำให้โครงสร้างของโปรตีนสไปค์(โปรตีนแหนม)ของไวรัสเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีเป็นงานวิจัยที่ทางจีนตีพิมพ์ผลงานออกมา แต่เราไม่ได้ดูต่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ดี ทำให้ภูมิคุ้มของซิโนแวคไม่ดีหรือเปล่า
ส่วนวัคซีนซิโนแวคกับสายพันธุ์อังกฤษ ทดลองแล้วว่า ใช้ได้ดีระดับหนึ่งไม่ต้องกังวลประมาณ 80 % ส่วนผลของวัคซีนตัวนี้กับสายพันธุ์อินเดียคงต้องรอ กำลังทำอยู่ เรารู้ว่าสายพันธุ์นี้กำลังแพร่อยู่ในแคมป์คนงานและนอกแคมป์ ส่วนคลัสเตอร์อื่นๆ ไม่ว่าจ.เพชรบุรีหรือในเรือนจำ ยังไม่รู้ว่าสายพันธุ์อินเดียหรือไม่
การทดลองกับสายพันธุ์อาฟริกาใต้ เชื้อที่นำมาจากนราธิวาส เดินทางมากรุงเทพฯ ตัวอย่างที่เก็บมามีน้อยและอาจมีเชื้อที่เสื่อมสภาพ การถอดรหัสพันธุกรรมทำได้ยาก ทำให้กังวลว่าถ้าปล่อยให้สายพันธุ์อาฟริกาใต้ระบาดหนักในเมืองกรุงจะเป็นปัญหา ต้องจำกัดการระบาดไว้ที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาสได้ ซึ่งเรื่องนี้ฝากความหวังไว้กับกรมควบคุมโรค
ในอังกฤษมีรายงานว่า ถ้าฉีดแอสตร้าเซนเนก้าสองเข็มแล้ว ป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดียค่อนข้างดีมีประสิทธิภาพ 86.8 % ส่วนไวรัสสายพันธุ์อินเดียการป้องกันประสิทธิภาพ 80% น่าจะใช้งานได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มคนสูงวัย ทำให้ป่วยน้อยมาก
ถ้าถามว่า แอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพจัดการกับสายพันธุ์อินเดียและอังกฤษอยู่ไหม น่าจะใช้ได้ แต่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเคยทดสอบสายพันธุ์อาฟริกาใต้ที่ประเทศนั้นผลออกมาไม่ค่อยดีประมาณ 10 % ซึ่งแสดงว่าป้องกันไม่ได้ ผมเองก็สงสัยว่า ตัวเลขเหล่านี้เอามาอ้างอิงได้จริงไหม
ถ้าสายพันธุ์อาฟริกาใต้สามารถหนีภูมิคุ้มกันของแอสตร้าเซนเนก้าได้จริง จะต้องเห็นคนติดเชื้อสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้น แต่ที่ผ่านมาเจอน้อยกว่า 1 % ข้อมูลนี้ทำให้รู้ว่า ถึงแม้สายพันธุ์นี้จะหนีภูมิคุ้มกัน ได้ ก็ไม่น่ากังวลถ้าควบคุมการระบาดของสายพันธุ์นี้ได้เหมือนที่อาฟริกาใต้
8. วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ผลิตในปักกิ่งกับอู่ฮั่นต่างกันอย่างไร
ซิโนฟาร์มที่ผลิตในเมืองปักกิ่งคุณภาพประมาณ 70 % เทียบเท่าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แต่ซิโนฟาร์มที่มาจากอู่ฮั่นคล้ายกับวัคซีนซิโนแวค ผลใกล้เคียงกัน จีนไม่ได้ใช้วัคซีนซิโนฟาร์มที่มาจากอู่ฮั่นแล้ว
ถ้าสายพันธุ์ที่นำมาใช้ไม่ใช่สายพันธุ์จากปักกิ่ง ความคาดหวังอาจสูงเกินไป ซิโนฟาร์มเป็นบริษัทขนาดเล็กกว่าซิโนแวค ปริมาณโด้สจะผลิตได้น้อยกว่า จีนจะใช้ซิโนฟาร์มที่มาจากปักกิ่ง ตอนนี้ไฟเซอร์กับโมเดอร์นา เป็นวัคซีนที่ได้มาตรฐานที่สุดไม่ว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์ไหนก็เอาอยู่หมด เพราะมีภูมิคุ้มกันสูง
9.การใช้วัคซีนเข็มที่ 3 ของซิโนแวค มีความเป็นได้มากน้อยเพียงใด
เป็นไปได้ครับ คิดว่าอาจจะต้องจำเป็นต้องใช้ด้วย เพราะวัคซีนซิโนแวคกระตุ้นภูมิคุ้มกันไม่ได้สูงมาก
สมมติว่า ขณะที่ผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์น่า 2 เข็ม จะมีระดับภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 1,000-2,000 ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มจะได้ประมาณ 200 ซึ่งสูงกว่าวัคซีนซิโนแวคเยอะ
และปกติภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม เราจะต้องใช้ระดับภูมิคุ้มกันไม่ต่ำกว่า 100 ตัวเลขนี้แสดงว่า วัคซีนทุกตัวยังใช้ได้ดีอยู่
แต่ถ้าไวรัสที่เริ่มมีการกลายพันธุ์ไปอย่างสายพันธุ์อังกฤษ หรืออินเดีย ภูมิคุ้มกันขั้นต่ำจะไม่ใช่ 100 แต่จะสูงกว่านั้น เช่น อาจจะเป็นระดับ 200 หรือ 300 ได้
ถ้าเป็นไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้อาจสูงได้มากถึง 1,000 ดังนั้นภูมิคุ้มกันจากวัคซีนซิโนแวค ซึ่งมีไม่มาก จึงจะเป็นปัญหาเมื่อเราติดไวรัสกลายพันธุ์ เพราะภูมิคุ้มกันที่มีจะสู้ไม่ไหว
ประเด็นคือ การฉีดวัคซีนไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะมีภูมิคุ้มกันเท่ากัน บางคนแข็งแรงก็ภูมิคุ้มกันดี บางคนฉีดวัคซีนซิโนแวคภูมิคุ้มกันขึ้นถึง 1,000 ก็มี
แต่ข้อมูลที่เรามีพบว่า คนที่มีระดับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนซิโนแวคเกิน 400 มีแค่ 20 % โดยเฉลี่ยคนทั่วไปฉีดวัคซีนซิโนแวคมีระดับภูมิคุ้มกันประมาณ 200 ซึ่งคนเหล่านี้มีโอกาสติดเชื้อและป่วยได้
เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ของซิโนแวค จะกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันจากระดับ 200 เป็น 1,000 ได้ ไวรัสกลายพันธุ์อันไหนมาก็เอาอยู่
10.ในฐานะนักไวรัสวิทยา ห่วงเรื่องใดมากที่สุด
ห่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อินเดีย เพราะบ้านเราถอดรหัสพันธุกรรมได้ช้า เนื่องจากมีห้องแล็บด้านนี้น้อย การแบ่งปันเชื้อสำหรับถอดรหัสพันธุกรรม เราทำน้อยไป เพราะข้อกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ทำให้เสียเวลา
ถ้าต่อไปคนติดเชื้อเยอะขึ้น และเสียชีวิตสูง อาจเป็นเพราะสายพันธุ์อินเดียและอังกฤษ ถ้าเราติดตามการกระจายของเชื้อได้ไว จะทำให้เราเข้าใจและป้องกัน เพื่อไปสู่นโยบายการใช้วัคซีนได้ดีขึ้น