มุมมืดของจีน คิดใหม่ให้มีลูกได้ 3 คน
ส่องเหตุผล ทำไมรัฐบาลจีนถึงยอมเปลี่ยนนโยบายจากการยอมให้ครอบครัวจีนมีลูกได้ 2 คน เป็นให้มีลูกได้ 3 คน แล้วนโยบายนี้ส่งผลต่อการตัดสินใจมีลูกของคนจีนมากน้อยแค่ไหน อย่างไร?
จีนทำอะไรมักเป็นข่าวใหญ่มาก เนื่องจากการเป็นมหาอำนาจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในช่วงนี้หนึ่งในข่าวใหญ่ได้แก่ รัฐบาลจีนเปลี่ยนนโยบายจากการยอมให้ครอบครัวจีนมีลูกได้ 2 คน เป็นให้มีลูกได้ 3 คน
นโยบายใหม่นำไปสู่การย้อนกลับไปดูนโยบายประชากรของจีน ซึ่งเปลี่ยนหลายครั้งตั้งแต่ยุคประธานเหมา เจอตุง ซึ่งสนับสนุนให้ชาวจีนมีลูกมากๆ โดยเชื่อว่าประชากรจำนวนมากเอื้อให้ประเทศมีอำนาจ ต่อมารัฐบาลเปลี่ยนใจและเริ่มดำเนินนโยบายหักมุมเมื่อปี 2521 กล่าวคือให้ครอบครัวจีนมีลูกได้เพียง 1 คน นโยบายนี้ดำเนินมาจนถึงปี 2559 จึงเปลี่ยนเป็นให้มีลูกได้ 2 คน
แนวคิดเบื้องต้นและผลของนโยบายได้รับการวิเคราะห์และถกเถียงกันอย่างเข้มข้น แต่ไม่เกิดข้อสรุปที่จะนำมาเป็นบทเรียนได้แบบไม่มีข้อโต้แย้ง
คงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ที่มาของแนวคิดพื้นฐานที่นำไปสู่นโยบายด้านการชะลอการเพิ่มจำนวนประชากร มาจากนักวิชาการด้านประชากรและทรัพยากร ซึ่งด้านแรกเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ส่วนด้านหลังลดลงอย่างต่อเนื่อง การศึกษาความเสียสมดุลของ 2 ด้านนี้นำไปสู่การพิมพ์หนังสือชื่อ “ระเบิดประชากร” (The Population Bomb) เมื่อปี 2511
แม้จะถูกวิพากษ์ว่าเป็นกระต่ายตื่นตูม แต่มุมมองของหนังสือถูกนำไปใช้ในนโยบายพื้นฐานด้านการพัฒนาอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม จีนเป็นประเทศเดียวที่ใช้มาตรการแบบเข้มข้นจนถึงขั้นบังคับประชาชนไม่ให้มีลูกเกินครอบครัวละ 1 คน ในขณะที่ประเทศอื่นใช้การให้การศึกษาและแรงจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจเอง
การบังคับนั้นก่อให้เกิดผลกระทบทางลบมหาศาลที่มีการวิพากษ์ต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการบังคับสอดใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดและทำหมันให้สตรีวัยมีบุตร หรือการเลือกเพศของลูกที่นำไปสู่ความไม่สมดุลสูงเกินปกติระหว่างเพศชายกับเพศหญิง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการหาคู่ครองไม่ได้และผลเสียหายทางสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็สรุปไม่ได้แน่นอนว่า นโยบายได้ผลตามเป้าหมายหรือไม่ ทั้งที่ประชาชนต้องยอมจำนนต่อรัฐและขาดอิสรภาพแบบแทบสัมบูรณ์
การวิจัยหนึ่งสรุปว่า นโยบายไม่ได้ผลเนื่องจากประชาชนจำนวนมากเริ่มมองเห็นความสำคัญของการมีลูกน้อยลงแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลจะบังคับหรือไม่ผลจะออกมาในแนวเดียวกัน ประเด็นนี้มีการนำเรื่องเมืองไทยซึ่งใช้การให้ศึกษาแก่ประชาชนเป็นหลักไปเปรียบเทียบด้วย
ในปัจจุบัน คงเป็นที่ทราบกันแล้วว่าประชากรของบางประเทศเริ่มลดลงพร้อมๆ กับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงวัย เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีอายุยืนยาวขึ้น แนวโน้มนี้ก่อให้เกิดความวิตกว่าในวันหนึ่งข้างหน้าจะขาดประชาชนวัยทำงานจนสังคมเดินต่อไปไม่ได้ หลายประเทศจึงเริ่มดำเนินนโยบายจูงใจให้ประชาชนมีลูกเพิ่มขึ้น จำนวนประชากรจีนยังไม่ลด แต่รัฐบาลจีนมองว่าถ้าไม่เปลี่ยนนโยบายตั้งแต่วันนี้เป็นไปได้ว่าจะเกิดปัญหาในเวลาอันสั้น
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสงสัยว่าเพราะอะไรรัฐบาลจีนจึงไม่ปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะมีลูกกี่คน หากยังบังคับว่ามีได้ไม่เกินครอบครัวละ 3 คน นโยบายแนวนี้คงมีฐานอยู่ที่การคิดแบบคอมมิวนิสต์ นั่นคือรัฐบาลควบคุมทุกอย่างแม้กระทั่งการมีลูกของประชาชน
อนึ่ง ในขณะที่หลายประเทศกระตุ้นให้ประชาชนมีลูกเพิ่มขึ้นนี้ มีหลายสิบประเทศที่ประชากรยังเพิ่มขึ้นในอัตราสูงและประชากรโลกโดยรวมยังเพิ่มขึ้น สภาวการณ์นี้จึงน่าจะมองได้ว่าการมีประชากรสูงวัยทำให้ชาวโลกยุติการให้ความใส่ใจแก่เรื่องความไร้สมดุลระหว่างจำนวนคนบนผิวโลกและทรัพยากรอีกต่อไป พร้อมกันนั้นก็ไม่ใส่ใจในปัจจัยพื้นฐานของการรบราฆ่าฟันกันอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน
นั่นคือการแย่งชิงทรัพยากรกัน จากในระดับชุมชนไปจนถึงในระดับโลก การแย่งชิงกันนี้ทำให้ต้องมีทหารซึ่งเป็นคนวัยทำงานทั้งสิ้น ทหารไม่สามารถทำงานและบริการผู้สูงวัยได้เพราะต้องไปฝึกและประจำการอยู่ในค่าย หรือไปรบซึ่งอาจต้องตาย ผลสุดท้ายใครจะมาทำงาน หรือบริการผู้สูงวัย...คงไม่ได้คิดกันใช่ไหม?