คลัสเตอร์เกษตรมูลค่าสูง… อีกหนึ่งโอกาสน่าจับตาใน EEC
ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรมูลค่าสูงที่มีคุณภาพและปลอดภัย เช่น ผักและผลไม้ออร์แกนิค กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในไทยและต่างประเทศ สอดคล้องกับเทรนด์รักสุขภาพและการเพิ่มขึ้นของรายได้
ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรมูลค่าสูงที่มีคุณภาพและปลอดภัย เช่น ผักและผลไม้ออร์แกนิค กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในไทยและต่างประเทศ สอดคล้องกับ
เทรนด์รักสุขภาพและการเพิ่มขึ้นของรายได้ แต่จากข้อมูลพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ในไทย รวมทั้งใน EEC ยังคงปลูกพืชเศรษฐกิจมูลค่าต่ำ โดยจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า ราว 53% ของพื้นที่เพาะปลูกใน EEC เป็นพื้นที่ปลูกข้าวและยางพารา ในขณะที่พื้นที่ปลูกผักและผลไม้มีเพียงราว 8% เท่านั้น
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า มูลค่าผลผลิตต่อไร่ต่อปีของข้าวนาปี ยางพารา สับปะรดและทุเรียนโดยเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4,445 บาท, 12,257 บาท, 35,908 บาท และ 75,981 บาท ตามลำดับ ข้อมูลดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า การปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชมูลค่าสูงในสัดส่วนที่เหมาะสม จะช่วยยกระดับมูลค่าผลผลิตต่อไร่ใน EEC ให้สูงขึ้นได้
การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรมูลค่าสูง แนวทางนี้เน้นส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันในทุกมิติ ระหว่างภาครัฐ ผู้เล่นทั้งหมดในห่วงโซ่การผลิต สถาบันการเงิน และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ เพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ และใช้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานในต้นทุนที่ต่ำลง โดยเราพบว่า แนวทางนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาเกษตรมูลค่าสูงในหลายประเทศ เช่น การพัฒนาคลัสเตอร์มันฝรั่งในจีน ที่ช่วยให้เกษตรกรข้าวสาลีจำนวนมากหันมาปลูกมันฝรั่งซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น แนวทางนี้ยังได้รับการส่งเสริมจากองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างอเมริกา ได้ให้เงินสนับสนุนพัฒนาคลัสเตอร์เกษตรในลาตินอเมริกาไปแล้วกว่า 15,200 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเศรษฐกิจพื้นฐาน เช่น ข้าวและอ้อย ไปสู่การปลูกพืชมูลค่าสูง เช่น มะพร้าวและสับปะรด มากขึ้นตามลำดับ
อนึ่ง งานวิจัยและประสบการณ์จากหลายประเทศได้แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะร่วมหลายประการของคลัสเตอร์เกษตรมูลค่าสูงที่ประสบความสำเร็จ ประการแรก สินค้าเกษตรมูลค่าสูงส่วนใหญ่จะเน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก เพราะขนาดตลาดที่ใหญ่กว่าในประเทศจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการร่วมมือกัน
ประการที่สอง เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยมีความเป็นผู้ประกอบการ กล่าวคือ นอกจากมีทักษะในเรื่องการปลูกและแปรรูปแล้ว ยังมีทักษะในเรื่องการบริหารจัดการและการตลาดที่ดีอีกด้วย
ประการที่สาม ภาครัฐมีการลงทุนพัฒนาสายพันธุ์พืชให้ตรงกับความต้องการของตลาดและมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ระบบชลประทานในคลัสเตอร์ ประการต่อมา คือ การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรอยากเข้าร่วมในคลัสเตอร์ ผ่านการออกแบบโครงสร้างสิ่งจูงใจที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการเลือกทำเกษตรมูลค่าสูงของเกษตรกรและพฤติกรรมการเลือกลงทุนของผู้ประกอบการในพื้นที่ พร้อมทั้งมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดความไว้วางใจระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ในคลัสเตอร์ และประการสุดท้าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาคลัสเตอร์ด้วย
อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป จะนำไปสู่ปัญหาผลผลิตล้นตลาดได้ ดังนั้น การพัฒนาคลัสเตอร์เกษตรมูลค่าสูงจะต้องทำในระดับที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนั้น การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดการแปรรูปสินค้าเกษตรมูลค่าสูง การเพิ่มมูลค่าผลผลิตต่อไร่ของพืชเศรษฐกิจมูลค่าต่ำ ผ่านการยกระดับผลิตภาพและการแปรรูปยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย